ลิตเติ้ลอินเดีย : พาหุรัดที่ไม่ได้มีแค่ผ้า สนทนาชาวไทยเชื้อสายอินเดียเจนฯ 3

  • เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย
สุรัตน์ โหราชัยกุล บอกว่า เทพเจ้าในอินเดียมีราว 33 ล้านองค์

ที่มาของภาพ, SOPA Images/LightRocket/Getty Images

พาหุรัดกำลังจะกลายเป็นพื้นที่ที่โอบล้อมไปด้วยแสงไฟในช่วงสุดสัปดาห์นี้ อันถือเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในฐานะ “ลิตเติ้ลอินเดีย” (The Little India)

ในระหว่างวันที่ 21-23 ต.ค. กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี/ดีปาวลี (Diwali/Deepavali) หรือที่รู้จักในชื่อ “เทศกาลแห่งแสงสว่าง” ให้แก่ชาวอินเดียโพ้นทะเล

กทม. คาดหวังว่า พาหุรัด-คลองโอ่งอ่าง-สะพานเหล็ก จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ อยู่ในโรดแมปของนักท่องเที่ยว เหมือนที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดการเดินทางไปเยือนไชน่าทาวน์ที่ ถ.เยาวราช

ก่อนจะถึงวันนั้น บีบีซีไทยลงพื้นที่สำรวจย่าน “อินเดียน้อย” ฟังเรื่องเล่าของชาวพาหุรัด

ทัวร์พาหุรัดกับไกด์ชาวไทยเชื้อสายอินเดียเจนฯ 3

“หลายคนคิดว่าพาหุรัดขายผ้าอย่างเดียว ไม่ใช่เลยครับ พาหุรัดมีวัฒนธรรมเยอะมาก การมีวัฒนธรรมคือมีอาหาร เสื้อผ้า ศาสนา ผู้คน มีหลายอย่างอยู่ในจุดเดียว มาเที่ยวพาหุรัดจะได้ทุกรสชาติ” นิกร ซัจเดว กรรมการบริหารสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย เกริ่นนำ ก่อนรับบทไกด์นำบีบีซีไทยทัวร์ย่านพาหุรัดที่เขาเรียกมันว่า “ลิตเติ้ลอินเดีย”

ผ้าม้วน ผ้าเมตร วางจำหน่ายเป็นการทั่วไปในย่านพาหุรัด ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดค้าส่งและค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

ชายเชื้อสายอินเดียรุ่นที่ 3 ผู้ประกาศว่าตัวและหัวใจเป็นคนไทย 100% ชวนตั้งต้นจากประตูด้านหลังวัดซิกข์ เดินลัดเลาะไปตามตรอกข้างห้างอินเดีย เอ็มโพเรียม ที่ถูกเรียกว่า “ตรอกเอทีเอ็ม” อันเป็นชื่อเดิมของห้างแห่งนี้ สองข้างทางมีร้านขายผ้า เสื้อผ้า และชุดสำเร็จรูปที่รับมาจากอินเดียเรียงราย เห็นสาว ๆ ที่ดูอย่างไรก็ไม่ใช่ชาวอินเดียกำลังลองชุดส่าหรี พันผ้า และโพสต์ท่าให้เพื่อนถ่ายรูป

ถ้าหญิงรายใดต้องการเพิ่มศิลปะบนเรือนร่าง ก็มีสมุนไพรเฮนน่าและอุปกรณ์เพนท์ครบชุดวางจำหน่ายอยู่ที่ร้านขายเครื่องประทินโฉม ส่วนร้านขายของเสริมหล่อของบรรดาสุภาพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันบำรุงผมหรือหนวด ก็หาซื้อได้โดยง่ายที่นี่

นอกจากนี้ยังมีร้านขายถั่วและธัญพืชนานาชนิด ร้านขายเครื่องเทศและวัตถุดิบในการปรุงอาหารอินเดีย ร้านผลไม้ ร้านขนมหวาน เห็นหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่สวมผ้าโพกศีรษะกำลังล้อมวงกินของหวาน-จิบน้ำชา-สนทนาอย่างออกรสด้วยภาษาปัญจาบี หลังเสร็จสิ้นการเจริญธรรมที่วัดในเช้าวันอาทิตย์

ใกล้กันมีร้านขายอาหารฮาราลให้บริการชาวมุสลิมอินเดีย

เดินต่อไปอีกนิด เจอศาลเจ้าพาหุรัดตั้งอยู่กลางตรอกอย่างเงียบ ๆ

หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีศาลเจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีนตั้งอยู่กลางพาหุรัด

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

สาวเท้าต่อไปอีกไม่กี่ก้าว กลิ่นกำยานและควันธูปก็ลอยมาแตะจมูก บอกใบ้ว่าร้านขายเครื่องหอม ทั้งกำยาน น้ำมันหอม ธูปเทียนหอม ตะเกียงดินเผา อยู่เบื้องหน้า ใกล้กันมีร้านขายเครื่องบูชาและเทวรูป มีชาวฮินดูกำลังจับจ่าย-เตรียมของรับเทศกาลดิวาลีที่กำลังจะมาถึง

ในตรอกนี้ยังมีร้านขายหมากหวาน โดยมีแม่ค้านั่งซอยหมาก ห่อแบบสด ๆ ก่อนส่งให้ลูกค้ากินทีละคำ สนนราคาอยู่ที่คำละ 10 บาท

“ต้องเคี้ยวนานนะหนู หวาน ๆ เพราะมีมะพร้าว ถ้าหมากไทยกินแล้วเผ็ด อันนี้เคี้ยวไปเรื่อย ๆ ปากหอมด้วย ช่วยระบบย่อยด้วย” ลูกค้าประจำที่นั่งอยู่ข้างโต๊ะหมากแนะนำ

paan

ที่มาของภาพ, SOPA Images/LightRocket/Getty Images

ซาโมซ่ารูปทรงคล้ายกะหรี่ปั๊บ ไส้ในเป็นมันฝรั่งผสมเครื่องเทศ ถั่ว ผัก และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ก่อนนำไปชุบแป้งทอด

ที่มาของภาพ, SOPA Images/LightRocket/Getty Images

ก่อนสุดตรอก-ทะลุไปออก ถ.จักรเพชร ราเชนท์ เจ้าของร้าน “ซาโมซ่า คอนเนอร์” กำลังหย่อนแป้งรูปสามเหลี่ยม-ไส้แน่นลงกะทะอย่างบรรจง โดยมีลูกค้าต่อแถวรอซื้อจนล้นไปบนบาทวิถี

ในวันเสาร์-อาทิตย์อย่างนี้ ราเชนทร์ต้องเตรียมแป้ง-เตรียมเครื่องมาห่อแป้งซาโมซ่าถึง 800 ลูก เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

“ถ้ามาพาหุรัด ต้องมาทานซาโมซ่าครับ เจ้านี้เก่าแก่ที่สุด ผมกินมาตั้งแต่เด็ก ๆ อร่อยจริง ๆ ขายมา 60 ปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นพ่อ สมัยก่อนลูกละบาท เดี๋ยวนี้ลูกละ 15 บาทแล้ว” นิกรเล่า

จากนั้นเขาพาข้ามถนน เดินลัดเลาะเข้าอีกตรอก จนทะลุไปออกถนนคนเดินเลียบคลอง

“Welcome to (ยินดีต้อนรับสู่) คลองโอ่งอ่าง สดใส น้ำสะอาด บรรยากาศเหมือนอยู่เมืองนอก มีทั้งร้านอาหารไทย อินเดีย” นิกร ไกด์กิตติมศักดิ์นำชม 1 ใน 4 พื้นที่จัดงาน

  • คลองโอ่งอ่าง : พื้นที่จัดกิจกรรมบันเทิงและการแสดง มีดีเจเปิดเพลงอินเดีย, มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองของอินเดีย, โชว์แสงสีเสียงสไตล์บอลลีวูด และจำหน่ายอาหารอินเดียทุกภาค
  • ห้างอินเดีย เอ็มโพเรียม : พื้นที่จัดแสดงด้านการท่องเที่ยว และโชว์เคสให้คนไทยไปท่องเที่ยวอินเดีย
  • หน้าห้างไชน่าเวิลด์ : พื้นที่ทางศาสนาและวัฒนธรรม เปิดให้สักกาะบูชาพระพิฆเนศ และพระแม่ลักษมี เพื่อเสริมดวงชะตา โชคลาภ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต
  • วัดซิกข์ : พื้นที่ทางศาสนาและวัฒนธรรม และยก “โรงแบ่งปัน” มาแจกจ่ายอาหารให้ประชาชน
เวทีหลักของงานดิวาลีตั้งอยู่ที่ถนนเลียบคลองโอ่งอ่าง ในภาพมี นิกร ซัจเดว (คนที่สองจากขวามือ) ร่วมแถลงข่าวกับรองผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้จัดงาน

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

หัวหน้าผู้จัดงานเทศกาลดิวาลี บอกว่า กทม. ต้องการจัดงานปีใหม่ให้ชาวไทยเชื้อสายอินเดียซึ่งมีอยู่ราว 4.64 แสนคน พร้อมเชิญชวนคนไทยมาร่วมฉลองปีใหม่อินเดียที่พาหุรัด อีกทั้งยังคาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียให้แก่ประเทศได้ในช่วงดิวาลีของทุกปี

แม้ยอมรับว่าชาวอินเดียอพยพรุ่นแรกเหลืออยู่น้อยมากที่ ถ.พาหุรัด หลายครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากและทำธุรกิจโรงแรมที่ ถ.สุขุมวิท ขณะที่บางส่วนไปทำธุรกิจยานยนต์อยู่ที่ ถ.พระราม 9 แต่นิกรบอกว่าชาวอินเดียโพ้นทะเลหลายครอบครัวก็ยังค้าขายอยู่ที่พาหุรัด

“การพัฒนาย่านพาหุรัดให้เป็นลิตเติ้ลอินเดียไม่ใช่เพื่อชาวอินเดีย แต่เพื่อชาวชุมชนที่อยู่เขตพระนคร เพราะหลัง 5 โมงเย็น บรรยากาศเงียบเหงา ซบเซามาก กทม. จึงต้องการชุบชีวิตชีวาของย่านนี้” นิกรกล่าว

ชมวิถีแห่งซิกข์ที่คุรุดวารา

โดมรูปดอกบัวสีทองที่อยู่ด้านบนตัวอาคารสีขาวสูง 7 ชั้น แลเห็นได้จากระยะไกล เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนผู้นับถือศาสนาซิกข์ในไทย

บรรพบุรุษของ ปินเดอร์ปาลซิงห์ มาดาน ประธานสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา คือชาวซิกข์รุ่นแรกที่เข้ามาค้าขายในสยามราวปี 2403 (ค.ศ. 1860) โดยปู่ทวดของเขาหนีภัยสงครามมาจากแคว้นปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย และมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2425 (ค.ศ. 1882) ในช่วงเปิดประเทศ-ปฏิรูปสยามให้ทันสมัย

“รัชกาลที่ 5 พระราชทานถิ่นฐานให้สังคมของพวกเราได้มาเริ่มตั้งรากฐานที่นี่ (พาหุรัด) ตั้งวัด และทำมาหากิน ประวัติศาสตร์ของพวกเราจึงเริ่มต้นที่นี่” ปินเดอร์กล่าว

การสวดเจริญธรรมในเช้าวันอาทิตย์ เป็นหนึ่งในวิถีซิกข์

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

วงจรชีวิตของชาวซิกข์ทุกคนสัมพันธ์กับวัดตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภาที่ตั้งอยู่บน ถ.จักรเพชร เป็นศูนย์กลางทางสังคมของชาวซิกข์ ซึ่งปินเดอร์คาดการณ์ว่ามีเกือบ 1 แสนคนในไทย โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ

เมื่อเด็กเกิด ครอบครัวและญาติมิตรต้องมาทำพิธีเจริญธรรม สวดมนต์ขอพร และทำพิธีตั้งชื่อบุตรซึ่งมาจากพระมหาคัมภีร์ >> เข้าพิธีรับน้ำอมฤต >> เมื่อเด็กโตก็มีพิธีการโพกศีรษะสำหรับเด็กชาย >> เมื่อมีครอบครัวก็จัดพิธีสมรสต่อหน้าพระพักตร์ของพระศาสดา >> เมื่อถึงปลายทางของชีวิตก็ทำพิธีศพ และมาสวดภาวนาครั้งสุดท้ายที่วัด

“ดังนั้นวงจรชีวิตของชาวซิกข์ทั้งหมดเริ่มต้นที่วัดนี้และจบที่วัดนี้” ปินเดอร์บอก

ไม่เฉพาะชาวซิกข์ที่ต้องมาประกอบพิธีกรรมสำคัญและเจริญธรรมทุกวันอาทิตย์ แต่ศาสนสถานแห่งนี้ยังมีโอกาสต้อนรับศาสนิกชนอื่น ด้วยเพราะการตั้ง “ครัวทาน” หรือโรงครัวสาธารณะที่เปิดให้คนทั่วไปรับประทานอาหารร่วมกันโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ วรรณะ ศาสนา และเพศ เป็นส่วนหนึ่งของการถือปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาซิกข์ที่ให้ช่วยเหลือแบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์-เพื่อตอบแทนสังคม จึงไม่แปลกหากจะปรากฏภาพนักท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเกอร์รับถาดอาหารจาก “โรงแบ่งปัน” มานั่งทานอย่างสงบเสงี่ยมบนพื้น ข้าง ๆ ศาสนาจารย์ สังคีตจารย์ และซิกข์ศาสนิกชน

เมื่อเข้ามาในบริเวณวัด ชาย/หญิงผู้นับถือศาสนิกอื่นจะได้รับแจกผ้าโพก/ผ้าคลุมคีรษะ โดยชายต่างศาสนาคนนี้แวะมารับประทานอาหารจาก "โรงแบ่งปัน"

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

วัดซิกข์แห่งแรกของไทยที่มีอายุ 90 ปี ยังดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติผู้สนใจในวิถีแห่งซิกข์ให้แวะมาเยือนเพื่อสัมผัสอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และร่วมงานเฉลิมฉลองในวันสำคัญทางศาสนาด้วย

เปิดตำนานร้านอาหารอินเดีย

ห่างไปเพียง 60 เมตรจากวัดซิกข์ คือที่ตั้งร้านอาหารอินเดียแห่งแรกของไทย รอยัล อินเดีย (Royal India) แม้หลบอยู่ในตรอกแคบ ๆ แต่ 7 โต๊ะนั่งทานที่ร้านแทบไม่เคยว่างเว้นจากลูกค้าโดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

พื้นที่หน้าร้านเป็นครัวเปิด เผยให้เห็นเชฟ 2 คนกำลังต้ม ผัด แกง ทอดอย่างขะมักเขม่น โดยมีกลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพรหอมอบอวลเป็นระยะ

ใกล้กันมีตู้โชว์ขนมหลากสีสัน สะกดสายตา-เย้ายวนใจคนรักของหวานให้ต้องลิ้มลอง

ในช่วงดิวาลี สมคิดบอกว่าต้องปิดครัวอาหาร 3 วัน เพื่อทำขนมหวานอย่างเดียว เพราะออเดอร์ขนมเพิ่มเป็นวันละหลายพันกิโลฯ จากปกติอยู่ที่หลักร้อยกิโลฯ โดยเฉพาะขนมลาดู ขนมโมทกะ ที่ชาวไทยเชื้อสายอินเดียนำไปถวายพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมี

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

ปู่ของ สมคิด สิริกุมารกุล เป็นอีกชีวิตที่หนีสงครามแบ่งแยกดินแดนระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน มาจากลาฮอร์ เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ โดยล่องเรือจากอินเดีย ผ่านแหลมปีนังของมาเลเซีย ก่อนตัดสินใจขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของสยาม เดินต่อมายังกรุงเทพฯ ในปี 2490 (ค.ศ. 1947) และลงหลักปักฐานที่ย่านบ้านหม้อ

“ตอนนั้นคุณปู่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีช่องทางทำกิน ก็เลยไปทำกับข้าวและขนมหวานดูแลคนที่มาวัดซิกข์ หลายคนชมว่าอร่อย ทำไมไม่เปิดร้านอาหารละ คุณปู่ก็เลยทดลองทำขาย เริ่มจากใส่กล่องไปส่งให้ลูกค้าตามบ้าน ก่อนขายหาบเร่อยู่หน้าวัดซิกข์ และมีหน้าร้านของตัวเองในที่สุด” สมคิดย้อนประวัติร้านอาหารของตระกูลที่สืบทอดกิจการมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว

กุลฟี, กุหลาบจามุน และราสมาลัย คือของหวาน 3 เมนู ฝีมือ ปู่โมคัมจัน ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า “สุดยอด” และสร้างรายได้อย่างงดงามให้แก่ครอบครัวในช่วงตั้งตัว

ปี 2503 (ค.ศ. 1960) คุณปู่ก่อตั้งร้านขายอาหารคาว-หวาน ใช้ชื่อร้านว่า โมคัมจัน แอนด์ ซัน (Mokamchand and Son) ตั้งอยู่ที่อาคารพาณิชย์ริม ถ.จักรเพชร จากนั้นสืบทอดกิจการต่อมาถึงรุ่นลูก ทว่าย้ายทำเลเข้ามาอยู่ในตรอกใกล้ ๆ กัน แต่ยังได้รับการบอกต่อแบบปากต่อปากว่า “อาหารชั้นหนึ่ง” จึงเลือกใช้คำว่า รอยัล อินเดีย เป็นชื่อร้าน ปัจจุบันร้านอาหารแห่งนี้ตกทอดมาถึงรุ่นหลาน โดยมีสมคิดและน้อง ๆ ช่วยกันดูแล-ขยายกิจการ จนได้ “ขึ้นห้าง” เปิดร้านบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำอีก 3 สาขา

ถึงวันนี้ชื่อ รอยัล อินเดีย ยังเป็นหนึ่งในร้านอาหารแนะนำของนิตยสารท่องเที่ยว โลนลี แพลนเน็ต (Lonely Planet) ต่อเนื่องมาหลายสิบปี จึงมีลูกค้าแวะมาลิ้มลองรสชาติอินเดียแท้ ๆ ไม่ฟิวชันอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น นักท่องเที่ยว ชาวอินเดียที่อยู่ในไทย หรือคนไทยที่ตามรอยภาพยนตร์คังคุไบมาชิมอาหารแดนภารตะ

สมคิดเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านรอยัล อินเดีย

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

อย่างไรก็ตามสมคิดยอมรับว่าปัจจุบันมีคู่แข่งมากขึ้น เฉพาะย่านพาหุรัดก็มีนับสิบร้าน อีกทั้งรสนิยมและรสชาติอาหารก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงต้องส่งเชฟของทางร้านไปอัพเดทเทรนด์ที่อินเดีย สลับกับเชิญเชฟชาวอินเดียมาให้คำแนะนำเป็นครั้งคราว

ที่น่าสนใจคือ พ่อครัวหลัก และ แม่เขียง ของ รอยัล อินเดีย เป็นสามี-ภรรยาชาวอุบลราชธานีและร้อยเอ็ดที่ประจำการอยู่ที่ร้านตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และมาถึงรุ่นหลาน

“ผมเรียนรู้สูตรจากคุณปู่ ก็ฝึกทำ ตอนแรกไม่รู้หรอกว่ารสชาติมันต้องเป็นยังไง ก็อาศัยถามลูกค้าเอาว่าแบบนี้ได้ไหม พอเขาบอกได้ ดี เราก็จำไว้” เชฟบุญทัน วัย 68 ปี กล่าวและว่า ถ้าเป็นคนไทย ก็ต้องลดเครื่องเทศลงหน่อย แต่ถ้าเป็นคนอินเดีย ก็จัดไปได้เต็มที่เลย

ขณะเดียวกันร้านอาหารอินเดียที่มีอายุ 6 ทศวรรษ ยังมีเคล็ด(ไม่)ลับที่ทำให้ยืนอยู่ได้ท่ามกลางภาวะแข่งขันสูง

“คุณปู่กับคุณพ่อสอนผมว่าถ้านักท่องเที่ยวมา เขาต้องได้ทานอาหารเหมือนเวลาทานข้าวอยู่ที่บ้าน รสชาติอาหารที่เราทำ จะเหมือน homely food คุณสามารถทานได้ทุกวัน ไม่รู้สึกว่าหนักมาก นี่เป็นจุดเด่นของร้านเรา” สมคิด หนึ่งในหุ้นส่วนร้านรอยัล อินเดีย เผย

indian food

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

ดิวาลี จุดเปลี่ยนภาพลักษณ์ไทยในสายตานักท่องเที่ยว ?

ด้วยเพราะอาหารมีส่วนสำคัญในการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง อาหารจึงเป็นทั้ง แรงดูด และ แรงผลัก ให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทาง

ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นหลัก เนื่องจากตลาดจีนยังไม่กลับมา ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้มีแนวโน้มเห็นนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทย 8-9 แสนคน ซึ่งยอดสะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 5.6 แสนคน เป็นรองแค่มาเลเซียเท่านั้น

ปรีชา จำปี หรือ “วิคกี้” กรรมการผู้จัดการ เดสติเนชั่น สยาม (Destination Siam) เล็งเห็นว่า อินเดียเป็น “ตลาดที่มีศักยภาพสูง” สะท้อนผ่านค่าใช้จ่ายต่อหัวราว 50,000 บาท/ทริป และเป็น “ตลาดแห่งอนาคต” เนื่องจากมีประชากรเด็กมากที่สุดถึง 600 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้พร้อมออกท่องเที่ยวในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ขณะที่ตลาดปัจจุบันของไทย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว

แต่ถึงกระนั้น ปรีชา ผู้เป็นนายทะเบียนสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า (Association of Thai Travel Agents – ATTA) วิจารณ์ว่า “ไทยยังไม่มีความพร้อมในการจับตลาดอินเดีย” เพราะไม่เข้าใจบริบท

ในฐานะคนเชื้อสายอินเดียรุ่นที่ 3 ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากว่า 15 ปี ปรีชาชี้ว่าอาหารคือปัญหาใหญ่ของนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย

“นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นเขากินได้ทุกอย่างที่เราเสริฟ ร้านอาหารไหนก็เข้าได้ แต่คนอินเดียมีข้อจำกัดในการกิน มีคนอินเดียเกือบ 400 ล้านคนประกาศตัวเป็น pure vegetarian (มังสวิรัติบริสุทธิ์) แต่ตอนนี้เราเอาคนกินเจอินเดียไปเที่ยวเชียงใหม่ กาญจนบุรี เขาใหญ่ เขาไม่รู้จะกินยังไง อาหารเช้าโรงแรมก็กินได้ไม่กี่อย่าง นั่นคือปัญหา” ปรีชากล่าว

เด็กหญิงเข้าร่วมเทศกาลในรัฐปัญจาบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

จากปัจจัยเรื่องอาหาร พัฒนาสู่อีกปัญหาว่าด้วยการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากแดนภารตะในพื้นที่เดิม ๆ เพียง 3-4 แห่งที่มีร้านอาหารอินเดียคือ อ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต, เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และย่านสุขุมวิทและประตูน้ำ กรุงเทพฯ

“ปัญหาของการกระจุกตัว ทำให้เราไม่ได้คุณภาพของนักท่องเที่ยว เพราะเรากำลังเอาลูกค้า 3 ดาว 4 ดาว 7 ดาวมาไว้ที่ที่เดียวกัน คนที่จ่ายแพงกับคนที่จ่ายถูกได้มาเที่ยวที่เดียวกัน แน่นอนว่าเขาย่อมไม่แฮปปี้ ถ้าเราสามารถกระจายออกไปได้ แยกกลุ่มครอบครัวไปเที่ยวที่นี่ กลุ่มฮันนีมูนไปที่นั่น กลุ่มชายล้วนไปเที่ยวที่โน่น ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวกระจายตัว ปริมาณก็จะเพิ่ม คุณภาพก็จะเพิ่ม” ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวให้ความเห็น

เดสติเนชั่น สยาม มีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เพราะให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่กลุ่มท่องเที่ยวทั่วไป, กลุ่มประชุมสัมมนา, กลุ่มถ่ายทำภาพยนตร์และโฆษณา และกลุ่มแต่งงาน

ปรีชาย้ำความจำเป็นในการทำการตลาดเจาะนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม และโปรโมทจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ประเทศไทย

วิคกี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมจัดงานเทศกาลดิวาลี เชื่อว่า งานนี้จะช่วยฉายภาพใหม่ของไทยให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก และมีโอกาสนำเข้านักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ หลังคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวทั้งสิงคโปร์, มาเลเซีย, สหรัฐฯ และอังกฤษ ร่วมจุดประทีปเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่อินเดียอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี

“ผมไม่รู้ว่าจะสำเร็จไหม แต่มันเป็นจุดที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ประเทศไทยให้คนอินเดียทั่วโลกได้รู้ว่าเราก็มีจัดเทศกาลอย่างนี้นะ ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้นตอน ปีต่อไปก็จัดให้ใหญ่ขึ้น จนไปถึงจุดที่ดิวาลีเป็นพีคซีซัน (peak season) เหมือนช่วงคริตส์มาสและปีใหม่”

หากความหวังของปรีชาเป็นจริง ต่อไปพีคซีซันของไทยอาจมีถึง 3 ช่วงเวลา นั่นคือ ช่วงตรุษจีน (ก.พ.-มี.ค.) ช่วงดิวาลี (ต.ค.-พ.ย.) และช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ (ธ.ค.-ม.ค.)

ลิตเติ้ลอินเดีย แลนด์มาร์ค-พื้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ผศ. สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามแผนส่งเสริมย่านพาหุรัดให้เป็นลิตเติ้ลอินเดียอย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่เห็นข้อมูลแบบเจาะลึกจาก กทม. มากนัก แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งจะไปอิงกับภาพใหญ่เรื่องการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ

เขาแนะนำรัฐให้ “เข้าไปอย่างระมัดระวัง เข้าไปมีบทบาทเสริม” ภายใต้ 3 องค์ประกอบ

  • ต้องไม่สร้างบนฐานของความแปลกปลอม ต้องมีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่บ่งบอกชัดเจนว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความเป็นมาและลักษณะอย่างไร
  • ต้องให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม
  • ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคที่เอื้อให้คนดั้งเดิมอยู่ต่อไปได้ พร้อมทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามา
สุรัตน์ โหราชัยกุล

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

ในสายตาของอาจารย์สุรัตน์ พาหุรัดสะท้อนอัตลักษณ์อินเดียได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีคนไทยเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว ผู้อพยพส่วนใหญ่อยู่ในวรรณะแพศย์ จึงเข้ามาทำการค้าขาย สมัยหนึ่งเป็นการขายของเพื่อให้ผู้โดยสารชาวอินเดียนำไปขายต่อที่บ้านเกิด ต่อมาบริบทเปลี่ยนไป อินเดียผลิตสินค้าได้เอง มีของทันสมัยเยอะมาก ร้านค้าเหล่านั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์

“ถ้าเรามีกิจการที่เกี่ยวกับอินเดีย ก็จะมีแรงงานที่ทำงานอยู่ในนั้นซึ่งต้องบริโภคอาหารที่ถูกปากเขา กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแบบองค์รวม”

ขณะเดียวกันเราเห็นวัดซิกข์ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของชาวซิกข์ในไทย นอกจากนี้ยังมีวัดเทพมณเฑียรของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อยู่ไม่ไกลที่เสาชิงช้า และมีชาวเนปาลด้วยในระยะหลัง สะท้อนภาพพหุสังคมที่มีความหลากหลาย

“ตรงนี้ผมคิดว่าจะเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญอันหนึ่งที่บ่งบอกว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่มีองค์ประกอบของชนกลุ่มน้อยด้วย ซึ่งชนกลุ่มน้อยก็มีหลายชาติพันธุ์”

“สำหรับผมมันมีความเป็นอินเดียที่ไม่ใช่อินเดียอย่างเดียว แต่เป็นอินเดียที่โอบรับผู้อื่น ต้อนรับผู้อื่น… นึกถึงพาหุรัดทีไร ก็นึกถึงความหลากหลายที่ทำให้ชีวิตไม่น่าเบื่อ” ผศ. สุรัตน์กล่าว

ในขณะที่ “อินเดียน้อย” ของไทยอยู่ระหว่างก่อร่างอย่างเป็นทางการ อะไรคือโอกาส-อุปสรรค หากเปรียบเทียบกับลิตเติ้ลอินเดียในต่างแดน

นักรัฐศาสตร์ ผู้เคยไปเยือนลิตเติ้ลอินเดียของสิงคโปร์มา 2 ครั้ง ให้เครดิตสิงคโปร์เรื่องการสร้างพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวของคนกลุ่มที่มีสำคัญในการร่วมสร้างชาติ

“เวลาเราเห็นภาพลี กวนยู (นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ที่ปกครองประเทศยาวนาน 31 ปี) รอบข้างเต็มไปด้วยคนสิงคโปร์เชื้อสายทมิฬ ตรงนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการสร้างชาติไม่ได้เริ่มต้นจากคนกลุ่มเดียว แต่เกิดขึ้นโดยหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของประวัติศาสตร์และพหุนิยมที่เข้ามา”

little india

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

สิ่งที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเวลาไปเดินทอดน่องที่ลิตเติ้ลอินเดีย ถ.เซรางูน ประเทศสิงคโปร์ คืออาหาร-วัฒนธรรม-ผู้คนจากทางตอนใต้ของอินเดีย ต่างจาก ถ.พาหุรัด ที่บรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายอินเดียอพยพมาจากตอนเหนือของอินเดีย หลายคนมีบ้านเกิดอยู่ในพื้นที่ที่กลายเป็นปากีสถานในปัจจุบัน

“หลายคนอพยพมาจากพื้นที่นั้นก่อนมีการแบ่งแยก และมีกรณีที่อพยพมาช่วงการแบ่งแยกด้วย มีชีวิตที่ค่อนข้างลำบากมาก เป็นโศกนาฏกรรมที่ค่อนข้างเลวร้าย แต่มาสร้างตัวตนสร้างอัตลักษณ์ใหม่ได้” ผอ.ศูนย์อินเดียศึกษาจากรั้วจามจุรี ระบุ

เขาจึงคาดหวังจะเห็นลิตเติ้ลอินเดียเมืองไทยมีมากกว่าการปิดถนนให้คนเดิน ควรชี้ให้เห็นว่ามาประเทศไทยไม่ได้เพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่มาเพื่อเรียนรู้ว่าที่นี่ก็น้อมรับความหลากหลาย

“เราควรเริ่มโปรเจกต์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดีไหม มาระดมสมองกันไหม บุคคลสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์หลายคนก็เคยเดินทางมาไทย หนึ่งในนั้นคือ รพินทรนาถ ฐากูร ชาวเอเชียคนแรกที่รับรางวัลโนเบล หลังจากนั้นเป็นที่มาของ สวามี สัตยานันทปุรี และ สุภาส จันทร โบส (ผู้นำขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย) ช่วงนั้นบรรยายกาศไม่ค่อยดี เพราะในฝั่งหนึ่งญี่ปุ่นต้องการสู้กับอังกฤษด้วย มีการเรียกร้องเอกราช แต่สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่เราเพิกเฉยไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีหลวงจิตรวาทการ มีจดหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ดังนั้นเราจะสามารถทำอะไรที่รวบรวมสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ไหม” ผอ.ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ ทดลองคิดเสียงดัง

ผศ. สุรัตน์ให้ความเห็นต่อไปว่า ในการนำเสนอประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอาจออกมาในรูปแบบ “รูปที่คนอินเดียมีตามบ้าน” เช่น พ่อแม่แต่งงานกันที่ไทย สมัยนั้นใช้ห้องภาพของร้านคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วถ่ายรูปแบบนั้นแบบนี้ หรือให้ศิลปินในไทยที่มีความสามารถร่วมบันทึกความทรงจำ ทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า กทม. ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแบบไหนอย่างไร

เมื่อให้ประเมินทัศนคติของคนไทยที่มีต่อความเป็นอินเดีย ผอ.ศูนย์อินเดียศึกษาฯ ที่เปิดศูนย์มาครบทศวรรษพอดี ยอมรับว่า มีทั้งคนที่รู้เรื่องราวของอินเดียเยอะมาก รู้ว่าคำศัพท์ภาษาไทยมีรากเหง้ามาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นส่วนใหญ่ รู้ว่าศาสนาพุทธที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ ก็ถือกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย มีคนชอบอ่านรามายณะและมหาภารตะ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนที่ไม่รู้เลย ไม่สนใจ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไว้หนวดไว้เครา และบางคนมีอคติด้วย เช่น “เจองู เจอแขก ให้ตีแขกก่อน” ซึ่งส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทัศนคติเชิงลบมาจากไหน

“อย่างผมเอง ก็มีหลายคนถามว่า เอ๊ะ ทำไมถึงกินหมูได้ เขาก็มี stereotypes (มองแบบเหมารวม) ว่าแขกคือแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ มันมีความหลากหลายมาก” นักวิชาการ ผู้มีเชื้อสายอินเดียรุ่นที่ 3 เล่าประสบการณ์ตรง

แนวคิดของ กทม. ในการพัฒนาย่านพาหุรัดให้เป็นลิตเติ้ลอินเดีย ทำให้ ผศ. สุรัตน์ “มีรอยยิ้มขึ้นมาทันที” และเชื่อว่า หากมีพิพิธภัณฑ์เป็นแลนด์มาร์คจะช่วยให้อคติบางอย่างหายไป และเกิดความเข้าใจอัตลักษณ์อินเดียมากขึ้น

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว