อิแทวอน : เกาหลีใต้ทำให้คนหนุ่มสาวหมดศรัทธาได้อย่างไร

โจนาธาน เฮด

บีบีซีนิวส์ กรุงโซล

นัม อิน-ซอค เป็นหนึ่งในผู้เห็นเหตุการณ์เมื่อ 29 ต.ค.

ที่มาของภาพ, DANNY BULL/BBC

มันเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ไม่มีนัยสำคัญ ลักษณะทางเดินเป็นเนินลาดชันขึ้นไปรา

มันแคบเกินกว่าที่แสงแดดยามเช้าจะสาดส่องมาถึง ซอยที่ไม่มีแม้กระทั่งชื่อ

หากไม่มีเทปสีส้มเส้นเดียวปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ และตำรวจสองนายยืนเฝ้าอยู่ คุณอาจเดินผ่านมันไปโดยไม่เหลียวหลังกลับมามอง

ด้านที่เป็นเนินสูง ติดกับกำแพงของโรงแรมแฮมิลตันสูง 10 ชั้น ส่วนอีกด้าน มีร้านค้าเล็ก ๆ เรียงราย ป้ายสีเขียวระบุว่า “มิลาโน คอลเลคชัน” ร้านขายสินค้าแฟชั่นของ นัม อิน-ซอค วัย 81 ปี ซึ่งเปิดกิจการมา 11 ปีแล้ว

เขาเป็นหนึ่งในผู้เห็นเหตุการณ์อันน่าสะพรึงในคืนวันที่ 29 ต.ค. เมื่อซอยเล็ก ๆ นี้กลายเป็นกับดักมรณะ

“ตอน 19.00 น. ผมคิดว่าฝูงชนแออัดเกินไปแล้ว จึงเริ่มกังวลใจ เพราะคนขยับเดินไปไหนแทบไม่ได้ และทางเข้าร้านของผมก็ถูกปิดกั้นโดยสมบูรณ์”

“ผู้คนยืนเข้าแถวรอเข้าร้านอาหาร และในเวลาเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนมากพยายามเดินขึ้นมาจากถนนสายหลัก”

“เวลาประมาณ 21.50 น. ตอนผมเปิดประตูร้าน วัยรุ่นหญิงสองคนล้มลง พวกเธอไม่ได้สวมรองเท้าและเนื้อตัวก็เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกและรอยฟกช้ำ ผมกอดพวกเธอเอาไว้เพื่อปลอบประโลมให้สงบลง”

“ผมได้ยินคนข้างนอกกรีดร้องและตะโกนว่า “ช่วยฉันด้วย ๆ” เลยคิดว่าอาจมีคนทะเลาะกัน พอวิ่งออกไปดู ก็เห็นคนล้มกองทับกัน”

“ผู้คนพากันร้องขอความช่วยเหลือ ผมพยายามดึงร่างพวกเขาออกมา แต่ผมกลับทำไม่ได้ คนหนุ่มสาวเหล่านั้นหายใจไม่ออก และอยู่ในสภาพอิดโรยมาก”

ภาพที่นายนัมเห็นในคืนนั้นหลอกหลอนเขา เขาอยู่ข้างนอกพยายามช่วยเหลือเหยื่อจนถึงเวลา 04.00 น.

หลังเหตุการณ์สงบลง ชายวัย 81 ปีช่วยทำความสะอาด ทว่ามีหลายสิ่งหลงเหลืออยู่ตามท้องถนน เช่น รองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า ตำรวจเอ่ยปากขอให้เขาช่วยเก็บสิ่งของเหล่านั้น

“ผมก็ช่วย จะหลับตาลงได้ยังไงละ ผมทำไม่ได้” นายนัมเล่า

ตรอกแคบ ๆ นี้เต็มไปด้วยผู้คนที่พยายามหาทางออกในทิศทางที่แตกต่างกัน

ที่มาของภาพ, JIRO AKIBA/BBC

จุดสุดยอดของเหตุเบียดเสียดกันตายเกิดขึ้นหลังเวลา 22.00 น. เล็กน้อย เมื่อวิดีโอจับภาพตำรวจเพียงนายเดียวพยายามสกัดกั้นฝูงชนที่อยู่ด้านบนเข้าพื้นที่เกิดเหตุ พวกเขาหารู้ไม่ว่ามีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นในด้านล่าง

“ได้โปรดถอยไป คนกำลังจะตายนะ” เขาตะโกนด้วยน้ำเสียงเป็นทุกข์อย่างชัดเจน

ผู้ช่วยสายตรวจ คิม แบค-เกียม ปฏิบัติหน้าที่ในคืนนั้น และได้รับเสียงชื่นชมเกี่ยวกับความพยายามของเขา แล้วนายตำรวจนายนี้ไปถึงที่เกิดเหตุได้อย่างไร

สถานีตำรวจอิแทวอนอยู่ห่างจากซอยที่เกิดเหตุไม่กี่ร้อยเมตร แต่เขายังอยู่ประจำการที่สถานี จนกระทั่งเกิดเหตุรุนแรงขึ้น

ตอนถูกเรียกตัวออกไป สิ่งที่คิมได้รับแจ้งคือให้ไปสอบสวนสิ่งผิดปกติใกล้กับซอยดังกล่าวซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเหตุวิวาท เขาไม่รู้อะไรเลยจนกระทั่งไปถึงจุดเกิดเหตุ จึงพบว่าผู้คนกำลังจะตาย

ในเวลานั้น ตำรวจได้รับสายด่วนจากพลเมืองดีที่โทรแจ้งเหตุฉุกเฉินแล้ว 11 ครั้ง สายแรกโทรเข้าไปเมื่อเวลา 18.34 น. เพื่อแจ้งถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุร้ายจากการมีฝูงชนมารวมตัวกันมากเกินไป

สิ่งที่สาธารณชนรับรู้คือ กองกำลังตำรวจที่มีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัดเจนแห่งหนึ่งของเอเชียไม่ได้ทำอะไรเพื่อป้องกันไม่เกิดโศกนาฎกรรมครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานของรัฐบาลเกาหลีใต้ถูกสั่นคลอน

ในแต่ละวัน มีผู้คนไปร่วมวางดอกไม้สีขาวเพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่ผู้สูญเสียมากขึ้น ๆ

หญิงรายหนึ่งกรีดร้องและตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนประชาชนคนอื่น ๆ ต้องช่วยกันตัวเธอออกมา แล้วอธิบายว่าไม่ใช่ความผิดของตำรวจนายนี้ในฐานะปัจเจก

ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล สั่งตั้งทีมสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด ท่ามกลางความคลางแคลงใจของชาวเกาหลีใต้ว่าทางการจะลงลึกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้จริงหรือไม่

วางดอกไม้

ที่มาของภาพ, Reuters

เกาหลีใต้ผ่านโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อปี 2014 จากเหตุการณ์เรือโดยสาร “เซวอล” บรรทุกผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยม 325 คน อับปางลง ทำให้เด็ก 250 คนเสียชีวิตพร้อมครู 11 คน และผู้โดยสารอื่นอีก 43 คน

ต่อมา พบว่าเรือข้ามฟากได้รับการดัดแปลงอย่างผิดกฎหมาย บรรทุกน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตกัปตันเรือในข้อหาฆาตกรรมและอื่น ๆ และยังพิพากษาจำคุกลูกเรือรายอื่น ๆ โดยมีโทษลดหลั่นกันไป

การสอบสวนเป็นเรื่องการเมืองอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย (ในขณะนั้น) ไม่ได้ร่วมด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอรับรู้ถึงความล้มเหลวในการตอบสนองต่อภัยพิบัติที่ล่าช้าและไม่เพียงพอ

ขณะที่ผลการสอบสอบสวนที่แยกจากกัน 3 ครั้ง ไม่อาจไขความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดภัยพิบัติได้

“ไม่มีอะไรที่ได้รับการเปิดเผยอย่างถูกต้องเลยในช่วงเวลา 8 ปีนับจากเราเสียลูก ๆ ไป” จาง ดอง-วอน พ่อของ เยจิน ผู้รอดชีวิตจากเหตุเรือเฟอร์รีจม แต่ต้องเสียเพื่อนสนิทไป 6 คน กล่าว

“กังวลว่าความจริงจะถูกปกปิดอีกครั้งในครั้งนี้ เรารู้สึกเหมือนถูกซ้ำเติมบาดแผล ทำไมคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเห็นโลกมาได้ไม่เท่าไหร่ ถึงต้องมาตาย”

“โศกนาฏกรรมแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ผมหวังว่าครั้งนี้ความจริงจะปรากฏ และผมสามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุขในประเทศที่ปลอดภัยจริง ๆ”

ปัจจุบัน นายจางเป็นหัวหน้ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “4/16 Sewol Families for Truth and A Safer Society” กลุ่มรณรงค์เพื่อความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อภัยพิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองที่สูญเสียบุตรหลายไปในในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น

จาง ดอง-วอน พ่อของผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รีจมเมื่อปี 2014

ที่มาของภาพ, DANNY BULL/BBC

อารมณ์ของผู้คนที่รู้สึกว่าคนรุ่นเยาว์-ผู้ไร้เดียงสากว่าถูกทรยศโดยคนรุ่นเก่าอีกครั้งกำลังแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง

“คนรุ่นเก่าส่งคนหนุ่มสาวไปสู่ความตายอีกครั้ง” ผู้ใช้งานติ๊กตอกรายหนึ่งระบุและว่า “ทำไมเราปล่อยให้อดีตกัดกินอนาคตของเรา” “เราจะหยุดวงจรนี้ได้ยังไง”

ขณะที่อีกรายเขียนในยูทิวบ์ว่า “ในฐานะพลเมืองเกาหลีในวัย 20 ฉันรู้สึกว่าประเทศของฉันไม่ได้ปกป้องฉันจริง ๆ ฉันรู้สึกหดหู่ใจมาก”

“ฉันอยู่ในเกาหลีใต้ ประเทศพัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 จริงหรือ เราควรวางใจให้คนหนุ่มสาวอยู่ในประเทศนี้ต่อไปไหม”

“พวกนักการเมืองคิดว่าพวกเขาแค่ต้องการครองอำนาจไว้กับตัว โดยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทัศนคติแบบนี้ทำให้ฉันรู้สึกแย่”

ความเชื่อที่ว่าความปลอดภัยในเกาหลีใต้ต้องแลก-สละให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติใหญ่ ๆ มักมีการแสดงออกและให้คำมั่นสัญญาว่าทัศนคติในความปลอดภัยของทางการจะเปลี่ยนไป

ในวันครบรอบ 8 ปีโศกนาฏกรรมเรือข้ามฟากเซวอลล่ม ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ให้คำมั่นผ่านเฟซบุ๊กของเธอว่า “ฉันเชื่อว่าการทำให้เกาหลีใต้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เป็นวิธีที่จริงใจที่สุดในการแสดงความเสียใจต่อเหยื่อ”

เมื่อความเดือดดาลของสาธารณชนก่อตัวขึ้น ประธานาธิบดียุนจะพบว่ารัฐบาลของเธอกำลังถูกทดสอบและท้าทายต่อคำสัญญานั้น

………………..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว