โจ ไบเดน : ผู้นำสหรัฐฯ กำลังเล่นเกมหลังบ้านจีน หรือไม่

  • โจนาธาน เฮด
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำประเทศไทย

อิทธิพลด้านนโยบายต่างประเทศของจีน มีความชัดเจนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งถือได้ว่าเป็น “สนามหลังบ้าน” ในเชิงยุทธศาสตร์ของจีน

แต่ยิ่งอำนาจของจีนขยายตัวมากเท่าใด ความวิตกกังวลของสหรัฐฯ ก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และในเวลานี้ สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามเข้าหาภูมิภาคนี้อีกครั้ง

ตอนนี้ นายไบเดนกำลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในกัมพูชา และถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง นับแต่ปี 2017 ส่วนเมื่อปีที่แล้ว ไบเดนเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์

หลังเสร็จสิ้นการประชุมในกัมพูชา เขาจะเดินทางต่อไปอินโดนีเซีย ผู้เล่นสำคัญอีกประเทศในภูมิภาค เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 โดยมีกำหนดจะหารือแบบทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก่อนการประชุมด้วย

แต่สนามการทูตนี้ ถือว่าเปลี่ยนไปมาก และเป็นความท้าทายของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในอดีต

อาเซียน ซึ่งเคยเป็นแพลตฟอร์มทางการทูตที่สำคัญในเอเชีย-แปซิฟิก ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งสันติภาพและเป็นกลาง โดย 10 ชาติสมาชิก พยายามหาฉันทามติ และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่าย แม้ว่าบางประเทศจะเข้าหาชาติมหาอำนาจด้วยวิธีที่แตกต่างก็ตาม ขณะที่สำนักเลขาธิการอาเซียนเอง ถูกมองว่ามีขนาดเล็ก และมีอิทธิพลไม่มากพอที่จะบังคับให้ชาติสมาชิกปฏิบัติตามมติ

สถานะของอาเซียนเช่นนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ ในสมัยที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกที่กำหนดเรื่องการค้าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเข้ามาของจีนในตลาดสากล และอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้น นับแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ ถอยห่างออกไปจากภูมิภาคนี้ ไปมุ่งเน้นที่ตะวันออกกลางมากขึ้น

ไบเดนไปเยือนจีนหลายครั้ง ก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดี

ที่มาของภาพ, EPA

ในช่วงที่สหรัฐฯ ลดบทบาท จีนได้ดำเนินนโยบายทางการทูตเชิงรุกในภูมิภาค ตามหลักการ “ซ่อนเขี้ยวเล็บ ดึงเวลา” ของอดีตประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ของจีน แต่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความแข็งแกร่งของจีน ไม่ถูกกลบซ่อนอีกต่อไป

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนพัฒนาฐานทัพทางทหารตามเกาะแนวปะการังในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับเวียดนามและฟิลิปปินส์

อาเซียนเอง พยายามผลักดันให้จีนยอมรับใน “หลักการปฏิบัติ” ในพื้นที่พิพาท แทบจะไร้ความคืบหน้า โดยจีนชะลอการเจรจาในเรื่องนี้มาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปฏิเสธคำพิพากษาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในปี 2016 อีกด้วย

โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงของจีน ยังส่งผลกระทบต่อหลายชาติอาเซียนอีกด้วย และจีนก็เลี่ยงการหารือถึงการเยียวยาในเรื่องนี้มาตลอด

อาเซียนเองอยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจีนเอง เป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีแสนยานุภาพทางทหารสูง จึงไม่มีชาติสมาชิกใดกล้าเผชิญหน้าอย่างเปิดเผย

แม้แต่เวียดนาม ที่ทำสงครามกับจีนเมื่อ 43 ปีก่อน และประชาชนมีทัศนคติที่ต่อต้านจีนเพิ่มมากขึ้น แต่พรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ก็สงวนท่าทีในการรับมือกับจีน เพราะจีนและเวียดนาม มีพรมแดนติดต่อเป็นทางยาว จีนยังเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของเวียดนาม และเป็นแหล่งซัพพลายเชนสำคัญสำหรับภาคการส่งออกของเวียดนาม

ผู้นำอาเซียนเยือนสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

จีนยังบั่นทอนเอกภาพของอาเซียน ด้วยการเข้าหาเชิงรุกกับลาวและกัมพูชา ทำให้เวลานี้ สองประเทศนี้พึ่งพาจีนอย่างมาก โดยมีพฤติการณ์ที่เห็นได้ชัดเจน คือ เมื่อครั้งที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปี 2012 แล้วใช้สิทธิยับยั้งการออกแถลงการณ์เพื่อต่อต้านการกระทำของจีนในทะเลจีนใต้

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับหลายชาติอาเซียนจะเริ่มไม่สู้ดีนัก แต่ในขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ระแวดระวังกับการเข้าหาสหรัฐฯ ซึ่งไม่เหมือนในอดีต

ชาติอาเซียนเริ่มมองสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่พึ่งพาไม่ได้ ยึดติดกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมากเกินไป

สิ่งที่อาเซียนเผชิญภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ คือ

  • สหรัฐฯ เคยบีบให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอมใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่แข็งกร้าว หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 1997
  • สหรัฐฯ ห่างเหินจากภูมิภาคแทบเบ็ดเสร็จในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ช่วงที่ทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย
  • ก่อนที่สหรัฐฯ บอกว่าจะกลับมาเข้าหาภูมิภาคนี้อีกครั้ง ตามนโยบาย “เบนเข็มสู่เอเชีย” ของบารัก โอบามา
  • แต่พอมาถึงสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ เขากลับกดดันทางการค้ากับคู่ค้าในเอเชีย โดยมองว่า วิถีทางการค้าของชาติเอเชียไม่เป็นธรรม

มาวันนี้ การจับมือเป็นพันธมิตรควอด (Quad) ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ได้ทำให้อาเซียนอ่อนแอลง และตกอยู่ในสถานะที่เหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วมหาอำนาจโลก อาเซียนยังวิตกต่อท่าทีของสหรัฐฯ ที่ท้าทายจีนอย่างซึ่งหน้า เพราะอาเซียนจะได้รับผลกระทบหนัก จากความตึงเครียดของสองมหาอำนาจโลกที่เพิ่มขึ้น

แม้จะดำเนินการเข้าหาอาเซียนมายาวนาน แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับยังไม่แสดงความพร้อมที่จะทำการค้าเสรีกับภูมิภาคนี้ กลับกัน ความสัมพันธ์กับจีนได้นำไปสู่กลุ่มการค้าที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เชื่อมโยงอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

แม้แต่อินโดนีเซีย ชาติอาเซียนขนาดใหญ่ที่สุด และมีนโยบายต่างประเทศที่ตั้งคำถามกับจีนมากที่สุด แต่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ก็ปรากฏว่า อินโดนีเซียได้เข้าหาจีนเพื่อการลงทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเทคโนโลยี

ข่าวดีของสหรัฐฯ ในเวลานี้ คือ การที่อาเซียนจะยังเข้าหามหาอำนาจโลกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อคานอิทธิพลกับจีน ขณะที่จีนเองจะไม่สามารถเชื่อมสัมพันธ์ทางทหารอย่างใกล้ชิดกับชาติต่าง ๆ ได้เหมือนที่สหรัฐฯ มีกับญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

แต่ชาติอาเซียนทั้งหมดในเวลานี้ ล้วนยอมรับแล้วว่า จีนเป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค ที่จะไม่ประนีประนอมใด ๆ หากขัดผลประโยชน์กับจีน

ส่วนคำถามต่อนายไบเดน คงเป็นว่า สหรัฐฯ สายเกินไปแล้วหรือไม่ที่จะเชื่อมพันธมิตรใน “สนามหลังบ้าน” ของจีน

…………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว