LNG: ทำไมก๊าซธรรมชาติเหลวจึงมีความสำคัญมากในโลกปัจจุบัน ผลิตจากที่ไหนบ้าง

 

LNG ship at terminal

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัสเซียได้ลดปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรป ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ

หลายประเทศกำลังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas–LNG) ในการอุดช่องว่างนี้ แต่ขณะนี้กำลังมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวทางเรือเข้ามาจำนวนมากจนทำให้ต้องรอคิวยาวตามท่าเรือต่าง ๆ

LNG คืออะไร

ก๊าซธรรมชาติเหลวคือมีเทน หรือ มีเทนผสมกับอีเทน ที่ได้รับการกำจัดสิ่งปลอมปนต่าง ๆ ออกไป และทำให้เย็นลงถึงระดับอุณหภูมิประมาณ -160 องศาเซลเซียส

การทำเช่นนี้ทำให้ก๊าซเปลี่ยนเป็นของเหลว ซึ่งลดการใช้พื้นที่ลง 600 เท่า

จากนั้นก็มีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวทางเรือเหมือนกับน้ำมันดิบ

เมื่อไปถึงปลายทาง ก็จะมีการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลับไปเป็นก๊าซและนำไปใช้ในการทำความร้อน ทำอาหาร และให้พลังงาน เหมือนกับก๊าซธรรมชาติอื่น ๆ

กราฟิก

คาโรล นักห์เลอ นักวิเคราะห์ของคริสตอล เอเนอร์จี (Crystol Energy) กล่าวว่า “ก่อนที่จะมี LNG การขนส่งก๊าซทำได้เพียงผ่านทางท่อเท่านั้น ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการขายก๊าซ”

“สามารถขนส่ง LNG ข้ามมหาสมุทรได้ ดังนั้นจึงสามารถส่งมันไปยังจุดหมายปลายทางจำนวนมากขึ้นได้”

ประเทศไหนที่ส่ง LNG บ้าง

ผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดในโลกคือ ออสเตรเลีย กาตาร์ และสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ได้เพิ่มการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวให้ยุโรปมากเป็นกว่าสองเท่าตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 สหรัฐฯ ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวให้ยุโรป 46 ล้านตัน ขณะที่ในปี 2021 ส่งออกเพียง 22 ล้านตัน ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป

ขณะที่ออสเตรเลียส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวเกือบทั้งหมดให้กับลูกค้าในทวีปเอเชีย

กาตาร์ก็ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวบางส่วนให้แก่เอเชียเช่นกัน และยังส่งออกให้กับประเทศในทวีปยุโรปด้วยอย่างสหราชอาณาจักร, เบลเยียม และอิตาลี

กราฟิก /idt2/e68ececf-b2ca-4620-a5f7-e46cf16ef11b

กาตาร์ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวมายังยุโรป 13 ล้านตันระหว่างเดือน ม.ค. ถึง ต.ค. 2022 แต่กาตาร์ขายผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดของตัวเองผ่านสัญญาระยะยาว จึงเป็นเรื่องยากในการสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มเติมจากกาตาร์หากไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าไว้เป็นเวลานาน

หลายประเทศอย่างแอลจีเรีย ก็ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวมายังยุโรปเช่นกัน เช่นเดียวกับรัสเซีย ซึ่งตัดลดการส่งก๊าซผ่านท่อลง

LNG ช่วยให้ยุโรปอบอุ่นและมีไฟใช้

คราวรัสเซียบุกยูเครนในเดือน ก.พ. 2022 ชาติยุโรปประณามรัสเซีย

รัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการตัดลดการส่งก๊าซธรรมชาติมายังยุโรปลงราว 80%

ราคาก๊าซระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว ทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น

ด้วยความกลัวว่า จะไม่มีพลังงานใช้ สหภาพยุโรปจึงได้ลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้น

คนงานที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของก๊าซพรอมทางตะวันตกของรัสเซีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า ปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติเหลวคิดเป็น 40% ของก๊าซที่ประเทศในสหภาพยุโรปใช้อยู่ทั้งหมด

ก๊าซธรรมชาติเหลวยังคิดเป็นครึ่งหนึ่งของก๊าซที่สหราชอาณาจักรนำเข้าด้วย ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ

ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้ามาเพิ่มขึ้น ช่วยทำให้ราคาก๊าซไม่ปรับตัวสูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้ชี้ว่า การผลิตและการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวได้ปล่อยคาร์บอนมากกว่าการขนส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อราว 10 เท่า

ทำไมยุโรปไม่สามารถนำเข้า LNG มากขึ้นได้

เคต โดเรียน จากสถานบันพลังงาน (Energy Institute) กล่าวว่า “LNG ของสหรัฐฯ ช่วยให้ยุโรปรอดพ้นจากจุดคับขัน”

“แต่ตอนนี้ตลาดอิ่มตัวแล้ว เพราะยุโรปได้บรรลุขีดสุดของปริมาณ LNG ที่สามารถรองรับได้แล้ว”

ประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจำเป็นต้องมีโรงงานในการขนถ่ายและแปลงก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลับอยู่ในรูปของก๊าซ

ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, อิตาลี และสเปน ได้สร้างโรงงานเหล่านี้แล้ว แต่หลายประเทศอย่าง เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้นำเข้าก๊าซรายใหญ่ที่สุดของยุโรป ยังไม่ได้สร้าง

การขาดแคลนสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลวในยุโรปทำให้เกิดความชะงักงันในการจัดส่ง

ยุโรปขาดแคลนโรงงานในการเก็บรักษาและแปรสภาพ LNG ให้กลับไปเป็นก๊าซ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในช่วงสิ้นเดือน ต.ค. มีรายงานหลายแหล่งว่า มีเรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลว 51 ลำ ในน่านน้ำยุโรป หลายลำที่ต้องรอคิวเข้าท่าเรือต่าง ๆ

หลายประเทศอย่างเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ได้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการจ้างสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ เพื่อเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวให้เป็นก๊าซ

แม้พยายามทำเช่นนี้แล้ว ก็ยังไม่สามารถแปรรูปก๊าซธรรมชาติเหลวที่ส่งมาถึงได้ทั้งหมด

“สถานีลอยน้ำเหล่านี้มีขนาดเล็ก ไม่สามารถแปรรูป LNG ปริมาณมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว” นักห์เลอ กล่าว “ด้วยเหตุนี้ เรือต่าง ๆ จึงต้องรอคิว”

ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำไมยุโรปไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติเหลวทั้งหมดที่ส่งมาถึงได้

“หลายประเทศไม่สามารถรองรับ LNG ได้เพิ่มเติมแล้ว เพราะสถานที่เก็บรักษาส่วนใหญ่เต็มหมดแล้ว” โดเรียน กล่าว

เธอบอกว่า ที่ผ่านมา หลายชาติในยุโรปได้สะสมก๊าซไว้สำหรับให้ความร้อนในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นลง แต่สภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ยังค่อนข้างอบอุ่น

ประเทศในยุโรปกำลังวางแผนที่จะสร้างสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้นอีก 17 แห่ง ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 40%

อย่างไรก็ตาม สถานีส่วนใหญ่จะใช้งานได้ในปี 2026


…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว