ฟุตบอลโลก 2022 : กาตาร์ปฏิบัติกับแรงงานต่างชาติอย่างไร

อีกไม่นานแฟนฟุตบอลจะเดินทางไปดูการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์ โดยจะไปพักในโรงแรมและไปดูการแข่งขันที่สนามที่สร้างโดยแรงงานต่างชาติหลายหมื่นคน

อย่างไรก็ดี ทางการกาตาร์โดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกเขาปฏิบัติกับแรงงานเหล่านี้ไม่ดีจนมีคนเสียชีวิตไปหลายราย

มีแรงงานไปทำงานกี่คน

กาตาร์สร้างสนามฟุตบอลใหม่ 7 แห่งสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก รวมถึงสนามบิน, ระบบรถไฟใต้ดิน, ถนนหลายสาย, และโรงแรมใหม่ราว 100 แห่ง

Worker at Al Bayt stadium in Qatar

ที่มาของภาพ, Getty Images

มีการสร้างเมืองแห่งใหม่ขึ้นมารอบสนามฟุตบอลที่จะใช้สำหรับการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ รัฐบาลกาตาร์บอกว่าจ้างแรงงานต่างชาติ 3 หมื่นคนเพื่อสร้างสนามแข่งขัน ส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และฟิลิปปินส์

แรงงานต่างชาติเสียชีวิตไปแล้วกี่คน

ในเดือน ก.พ. 2021 นสพ.เดอะการ์เดียนระบุว่า มีแรงงาน 6,500 รายจากอินเดีย ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ และศรีลังกา เสียชีวิตไปตั้งแต่กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

ตัวเลขนี้ได้มาจากสถานทูตประเทศต่าง ๆ ในประเทศ แต่กาตาร์บอกว่านี่ทำให้คนเข้าใจผิด เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเสียชีวิตจากการทำงานที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก บางคนอาจจะเสียชีวิตจากความชราและสาเหตุทางธรรมชาติอื่น ๆ

Workers at the Al Bayt stadium in Qatar

ที่มาของภาพ, Getty Images

สหภาพแรงงานจากทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์กาตาร์ว่าปฏิบัติกับแรงงานไม่ดี ขณะที่รัฐบาลบอกว่าระหว่างปี 2014 ถึง 2020 มีแรงงานที่สร้างสนามแข่งขันฟุตบอลเสียชีวิต 37 ราย และมีแค่ 3 รายเท่านั้นที่มีสาเหตุ “เกี่ยวข้องกับงาน”

อย่างไรก็ดี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation – ILO) บอกว่าเป็นตัวเลขที่ประเมินต่ำไป กาตาร์ไม่ได้นับจำนวนผู้เสียชีวิตที่หัวใจวายหรือเพราะระบบหายใจล้มเหลวว่าเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับงาน แม้ว่าอาการเหล่านั้นมักเกิดจากฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ที่เกิดจากการถูกใช้แรงงานหนักขณะอากาศร้อน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศบอกว่า แค่ในปี 2021 ปีเดียว มีแรงงานต่างชาติ 50 รายที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากกว่า 500 ราย และมีอีก 37,600 รายที่ได้รับบาดเจ็บในระดับเบาถึงกลาง ๆ

นอกจากนี้ บีบีซีแผนกภาษาอารบิกยังรวบรวมหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลกาตาร์รายงานการเสียชีวิตในหมู่แรงงานต่างชาติน้อยกว่าที่เป็นจริง

แรงงานต่างชาติได้รับการดูแลอย่างไร

ตั้งแต่กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อปี 2010 กลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการดูแลแรงงานต่างชาติ ในปี 2016 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวหาว่าบริษัทสัญชาติกาตาร์บังคับใช้แรงงานคน และบอกว่าที่อยู่อาศัยแรงงานหลายคนอยู่ในสภาพสกปรก ถูกบังคับให้จ่ายค่าช่วยหางานก้อนใหญ่ โดนยึดทั้งค่าจ้างและหนังสือเดินทางไป

A Bangladeshi worker rest in bed in a private labour camp in Qatar

ที่มาของภาพ, AFP via Getty Images

รัฐบาลกาตาร์สัญญาว่าจะปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยของแรงงาน และตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ได้ใช้มาตรการเพื่อปกป้องพนักงานที่ต้องทำงานในสภาพอากาศร้อน โดยจำกัดชั่วโมงทำงาน และก็ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี รายงานเมื่อปี 2021 โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ชี้ว่า แรงงานต่างชาติยังโดนหักเงินเดือน “เพื่อลงโทษ โดยทำอย่างผิดกฎหมาย” และแรงงานต้องทำงานอย่างหนักหลายเดือนโดยไม่ได้รับงานค่าจ้าง

บริษัทสัญชาติกาตาร์ใช้ระบบที่เรียกว่า “kafala” โดยเป็นการออกเงินสนับสนุนให้แรงงานต่างชาติเดินทางมาแต่ไม่ยอมให้พวกเขาออกจากงาน

หลังโดนกดดันจากกลุ่มอย่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในที่สุดรัฐบาลกาตาร์ก็ยกเลิกระบบนั้น แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า บริษัทนายจ้างก็ยังกดดันไม่ให้แรงงานเปลี่ยนไปทำงานกับบริษัทอื่นอยู่ดี พวกเขาบอกว่าการปฏิรูปด้านแรงงานจะต้องไม่จบลงทันทีที่การแข่งขันฟุตบอลโลกสิ้นสุดลง

รัฐบาลกาตาร์ว่าอย่างไรเกี่ยวกับสิทธิแรงงานต่างชาติ

รัฐบาลกาตาร์ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศโดยเริ่มใช้มาตรการหลายอย่าง อาทิ โครงการปกป้องรายได้เพื่อให้มั่นใจว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างตรงเวลา

โฆษกรัฐบาลบอกกับบีบีซีว่ามาตรการปฏิรูปต่าง ๆ เริ่มได้ผล และบริษัทที่ทำผิดกฎก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ

ทีมชาติต่าง ๆ ว่าอย่างไร

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ได้เขียนจดหมายไปหาทีมชาติทั้ง 32 ทีม โดยบอกว่าตอนนี้ให้มุ่งความสนใจไปที่ฟุตบอล พวกเขาบอกว่าไม่ควรเอาเรื่องกีฬาเข้าไปเกี่ยวพันกับ “สงคราม” ทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์

อย่างไรก็ดี สมาคมฟุตบอลในยุโรป 10 แห่ง รวมถึงของอังกฤษและเวลส์ บอกว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากลและต้องคำนึงเรื่องนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

ทีมชาติออสเตรเลียได้ปล่อยวิดีโอออกมาวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติอย่างไม่ดีต่อแรงงานอพยพ ส่วนทีมเดนมาร์กจะใส่ชุดสีดำล้วนที่ปรับโทนสีลงมาเพื่อเป็นการประท้วงประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกาตาร์

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว