รถไฟฟ้าสายสีเขียว : กทม. ชี้แจงเหตุผลยังไม่ชำระหนี้ หลังบีทีเอสปล่อยคลิป “ติดหนี้ต้องจ่าย”

กรุงเทพมหานครยืนยัน ไม่มีเจตนาไม่ชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หลังบีทีเอส ปล่อยคลิปทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท ย้ำ “ติดหนี้ต้องจ่าย” โดย กทม. อธิบายว่า หนี้เหล่านี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร

วันนี้ (22 พ.ย.) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงสรุปเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการชำระหนี้สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 โดยยืนยันว่า กทม. “ไม่ได้มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้”

การตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงมีขึ้น หลังนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อ “ทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท” โดยมีข้อความว่า

“คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน… ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน”

“ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา… อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน ติดหนี้ต้องจ่าย”

ภายในคลิปยังมีการให้สัมภาษณ์ของนายคีรี กาญจนพาสน์​ ประธานกรรมการบีทีเอสฯ ว่า “เอกชนผู้ลงทุน จ่ายทุกวัน พนักงานก็ต้องจ่าย ค่าไฟต้องจ่าย ผู้ที่มีอำนาจ บริหารประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกทม. หรือ การเมืองของประเทศ ต้องเข้ามาดูได้แล้ว ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านใดที่อยู่ในอำนาจควรคิดได้แล้วว่า ดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ยังไงก็ต้องจ่ายผม มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย”

อย่างไรก็ดี นายคีรี ยืนกรานว่า บีทีเอสจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนด้วยการหยุดรถอย่างแน่นอน

คำชี้แจงจาก กทม.

นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. ให้เหตุผลว่า กทม. สนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือน เม.ย. 2562 จนกระทั่งมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ และได้มีการเจรจาให้เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 2562

ด้านมูลค่าหนี้ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ย เนื่องจาก กทม. ไม่มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ และสัญญาที่ กทม. ทำกับกรุงเทพธนาคม (KT) ไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จึงเห็นควรว่า กรุงเทพธนาคารต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เข้าตรวจสอบและคิดคำนวณค่าจ้างใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

หมายความว่า ยอดหนี้จะเปลี่ยนจากที่เอกชนฟ้องร้อง โดยเมื่อดำเนินการครบถ้วน และมีมติยุติการต่อสัมปทานจาก ครม. แล้ว ก็สามารถชำระหนี้ได้

“กระดุมเม็ดแรก กลัดยังไม่ถูก เลยเกิดปัญหาขึ้น” รอง ผู้ว่าฯ กทม.

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กทม.

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังตั้งข้อสังเกตว่า “บันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์” เนื่องจากลงนามมอบหมายในวันที่ 28 ก.ค. 2559 โดยที่ยังไม่ได้มีการทำโครงการเสนออนุมัติงบประมาณจากสภา กทม.

“กระดุมเม็ดแรก กลัดยังไม่ถูก เลยเกิดปัญหาขึ้น” นายวิศณุ กล่าว

“กทม. อยากจะจ่ายนะ ถ้าตรงมาตรงไป เราไม่มีเจตนาไปชะลออะไรเลย แต่บันทึกมอบหมายยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะหนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา มันเลยยังคาราคาซังอยู่”

ปี 2561 – สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าที่ประชุมสภา กทม. ครั้งที่ 1 เพื่อขอจัดสรรงบประมาณโครงการติดตั้งระบบเดินรถและบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี (2561-2575) วงเงินรวม 31,988,490,000  บาท (เป็นเงินงบประมาณ กทม. 12,000,000,000 บาท และเงินนอกงบประมาณ 19,988,498,000 บาท)

ปี 2561 – ตั้งงบประมาณจำนวน 1,000,000,000 บาท เสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานครได้มีการพิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2561 แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกรับการพิจารณาและบรรจุอยู่ในร่างงบประมาณดังกล่าว

11 เม.ย.62 – คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ หัวหน้า คสช. จำต้องใช้อำนาจพิเศษเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว ปรากฏในคำชี้แจงภายหลังของ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ว่า ครม. มีมติในปี 2561 เห็นชอบให้โอนส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้าง ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้จัดการแทน พร้อมกับรับภาระหนี้สิ้นต่าง ๆ จาก รฟม.

พล.อ. ประยุทธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวมีสัญญาดำเนินงานแตกต่างกันในแต่ละช่วง อาจทำให้มีปัญหาการบูรณาการ การบริหารโครงการและสัญญาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ ถ้าต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในการแก้ปัญหา อาจทำให้โครงการนี้ล่าช้าอีก 2-3 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้เกิดปัญหาการเดินรถที่ไม่มีความต่อเนื่องจึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งดังกล่าว โดยให้กระทรวงมหาดไทย ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีองค์ประกอบเดียวกับคณะกรรมการของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ผลประโยชน์ และค่าโดยสารให้เป็นธรรม

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ปี 2564 – สำนักการจราจรและขนส่ง ได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าที่ประชุมสภา กทม. โดยเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 จำนวนเงิน 9,246,748,339 บาท โดยได้จัดทำเป็นร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เสนอสภากรุงเทพมหานคร

21 เม.ย. 2564 – ที่ประชุมสภากรุงเทพฯ ได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ และมีมติไม่เห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 และสภา กทม. มีข้อเสนอให้ กทม. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล หรือให้ใช้วิธีให้เอกชนรับภาระและให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปสัมปทานเดินรถ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอควรส่งโครงการดังกล่าวคืนให้ รฟม.

ชัชชาติ เคยชี้ สรุปเรื่องหนี้ได้ใน 1 เดือน

หลังรับตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ได้เพียง 1 วัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ได้พูดคุยกับผู้บริหาร กรุงเทพธนาคม เพื่อขอดูสัมปทานการจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว โดยระบุว่าภายใน 1 เดือน จะได้ความชัดเจนถึงข้อสรุป

นายชัชชาติ กล่าวว่า การหารือกับกรุงเทพธนาคมทำให้ได้เห็นสัญญาการเดินรถส่วนต่อขยายที่จะสิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิน จึงต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบว่าภาระหนี้สินเกิดจากอะไร และสัญญาได้รับการอนุมัติจากสภากรุงเทพมหานครหรือไม่ โดยระบุว่าไม่ต้องการให้เอาภาระหนี้สินมาเป็นปัจจัยในการผูกมัดการแก้ปัญหาสัมปทานของสายสีเขียว แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

ส่วนการขยายสัญญาสัมปทานที่จะหมดในปี 2572 นายชัชชาติ กล่าวว่ายังไม่ได้มีการหารือ เพราะยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร และสภา กทม. เข้ามาพูดคุยกันข้อมูลและทบทวนการต่ออายุสัญญา โดยให้สภา กทม. พิจารณาเนื้อหาอย่างละเอียดตามแนวทางปฏิบัติ เพราะสัญญาเดิมที่ค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรีขณะนี้เกิดขึ้นจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้มาตรา 44

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว