การออกแบบสถาปัตยกรรมช่วยชีวิตคนคิดสั้นที่สะพานโกลเดนเกตได้อย่างไร

 

Kevin Hines posing with the Golden Gate Bridge in the background

Kevin Hines
เควิน ไฮนส์ เป็นผู้รอดชีวิตจากคิดสั้นกระโดดสะพานโกลเดนเกต ตอนนี้เขารณรงค์ให้สะพานแห่งนี้มีระบบยับยั้งการฆ่าตัวตาย

สะพานโกลเดนเกต (Golden Gate Bridge) ในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ คือหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างอันโด่งดังที่สุดในโลก ทว่านับแต่เปิดใช้งานในปี 1937 สะพานยาว 2.7 กิโลเมตรแห่งนี้ยังกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากใช้กระโดดปลิดชีพตัวเองด้วย

ADVERTISMENT

ชื่อเสียงเชิงลบดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อมีการติดตั้งตาข่ายนิรภัยไว้ด้านใต้สะพาน ซึ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่สะพานแห่งนี้บอกว่า การออกแบบทางสถาปัตยกรรมใหม่นี้จะเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายที่นี่

“สะพานนี้จะกลายเป็นประทีปนำทางสำคัญที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตายทั่วโลก” เควิน ไฮนส์ บอกกับบีบีซี

ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะพูดว่า ชายวัย 41 ปีผู้นี้ได้อุทิศชีวิตที่สองของเขาให้แก่สะพานโกลเดนเกต

ADVERTISMENT

เมื่อปี 2000 ตอนอายุได้ 19 ปี ไฮนส์รอดชีวิตจากการพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากสะพานโกลเดนเกตที่ความสูง 75 เมตรลงสู่ผืนน้ำอันหนาวเหน็บของมหาสมุทรแปซิฟิก

ข้อมูลจาก Golden Gate Bridge Highway and Transportation District หน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่บริเวณสะพานโกลเดนเกตระบุว่า นับแต่สร้างแล้วเสร็จเมื่อ 85 ปีก่อน มีคนใช้สะพานแห่งนี้เป็นสถานที่ปลิดชีพตัวเองไปกว่า 1,800 คน

ADVERTISMENT

หลังจากไฮนส์ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บสาหัสที่เกิดจากความพยายามฆ่าตัวตายครั้งนั้น เขาก็อุทิศตนเป็นนักรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตาย อีกทั้งร่วมมีส่วนผลักดันให้มีการติดตั้งตาข่ายนิรภัยที่สะพานแห่งนี้

ความล่าช้าคร่าชีวิต?

แผนการการติดตั้งตาข่ายนิรภัยที่สะพานโกลเดนเกตได้รับการอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2008 ทว่าการก่อสร้างเพิ่งจะได้เริ่มขึ้นในอีก 10 ปีต่อมา และการทำงานก็เผชิญกับความล่าช้าจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะโครงการนี้จะใช้งบประมาณราว 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การประเมินล่าสุดพบว่าค่าใช้จ่ายจริงได้พุ่งทะลุหลัก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลพวงมาจากการระบาดของโควิด-19 และปัญหาด้านการบริหารจัดการ

Artistic impression of the Golden Gate suicide barrier

Getty Images
การติดตั้งตาข่ายนิรภัยจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2023

คาดว่าการติดตั้งตาข่ายนิรภัยจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2023

เควิน ไฮนส์ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง “น่าเศร้า” แต่เขาอยากมุ่งความสนใจไปยังเรื่องที่ว่า โครงการซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Suicide Deterrent System (ระบบยับยั้งการฆ่าตัวตาย) นี้กำลังจะกลายเป็นความจริง หลังจากมีการถกเถียงถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950

“น่าเศร้าที่มันใช้เวลานานมาก แต่ผมก็ดีใจที่มันกำลังจะแล้วเสร็จ ผมอยากมองไปยังผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้นเมื่อมันเสร็จสมบูรณ์มากกว่า” ไฮนส์ กล่าว

ที่ผ่านมา การยับยั้งการฆ่าตัวตายที่สะพานโกลเดนเกตส่วนใหญ่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย และกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ

Successful police intervention in 1941

Getty Images
นับแต่เปิดใช้งานในปี 1937 ก็มีคนพยายามฆ่าตัวตายที่สะพานโกลเดนเกตเรื่อยมา

เควิน บริกส์ ตำรวจสายตรวจทางหลวงแคลิฟอร์เนียที่ปลดเกษียณแล้ว คือหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง และเคยช่วยผู้คนกว่า 200 คนไม่ให้กระโดดสะพานโกลเดนเกต เขาเชื่อว่าตาข่ายนิรภัยนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้งานด้านป้องการกันฆ่าตัวตายที่นี่

เขาบอกกับบีบีซีว่า “มันน่าหงุดหงิดมากที่ได้เห็นความล่าช้าของโครงการนี้”

“แต่ละปีมีคนกว่า 20 คนที่กระโจนสู่ความตายจากสะพานแห่งนี้ แต่หวังว่าตัวเลขนี้จะกลายเป็นศูนย์จากการติดตั้งตาข่ายนิรภัย” เขากล่าว

ตัวเลขน่าเศร้า

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สายตรวจ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัคร เช่น Bridgewatch Angels มักออกตรวจตราที่สะพานโกลเดนเกตในช่วงวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ (14 ก.พ.) หรือวันคริสต์มาสอีฟ (24 ธ.ค.) ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนเลือกจะจบชีวิตตัวเอง โดยในปี 2021 พวกเขาสามารถโน้มน้าวใจไม่ให้คนกระโดดสะพานได้ถึง 198 ราย

ทางการระบุว่า ในปีดังกล่าวมีคนกระโดดสะพานสำเร็จ 25 คน แต่พบศพเพียง 21 ราย เนื่องจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก

คาดกันว่า 98% ของผู้กระโดดจากสะพานโกลเดนเกตจะไม่รอดชีวิต

เชื่อว่าสะพานโกลเดนเกตเป็นสถานที่ที่คนใช้จบชีพตัวเองกว่า 1,800 คน

Getty Images
เชื่อว่าสะพานโกลเดนเกตเป็นสถานที่ที่คนใช้จบชีพตัวเองกว่า 1,800 คน

ปัจจุบันสะพานแห่งนี้มีเพียงรั้วเตี้ย ๆ ที่กั้นไม่ให้คนพลัดตกจากทางเดินบนสะพาน แม้ตาข่ายนิรภัยซึ่งทำจากเหล็กและติดตั้งอยู่เบื้องล่างทางเดิน 6 เมตรจะไม่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการกระโดดลงจากสะพาน แต่ก็ป้องกันไม่ให้คนตกลงสู่ทะเล

เพชฌฆาตคร่าชีวิตคนทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกประเมินว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 700,000 คนทั่วโลก โดยเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที

สำหรับประเทศไทย อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2563 สูงขึ้นทุกปี โดยตัวเลขล่าสุดพบว่ามีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,800 คนต่อปี

ตัวเลขจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยมีความพยายามฆ่าตัวตายราว 53,000 คนต่อปี และคนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จมีแนวโน้มที่จะพยายามกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำอีก

สถิติจากกรมสุขภาพจิตบ่งชี้ถึงปัญหาการฆ่าตัวตายในไทยช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 ว่ากลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนวัยทำงานถึง 4 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ระบุว่าเฉพาะปี 2564 มีกลุ่มวัยเรียน อายุ 15-24 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 439 คน

ตาข่ายนิรภัยจะใช้ได้ผลหรือไม่

ฝ่ายสนับสนุนโครงการติดตั้งตาข่ายนิรภัยนี้ชี้ว่า สิ่งปลูกสร้างชื่อดังทั่วโลก เช่น หอไอเฟล ต่างมีการติดตั้งเครื่องกั้นเพื่อป้องกันคนกระโดดฆ่าตัวตาย จึงทำให้มีรายงานผู้พยายามฆ่าตัวตายและผู้ได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าที่สะพานโกลเดนเกต

Dayna Whitmer holds a portrait of her son under one of the Golden Gate Bridge safety nets

Getty Images
เดย์นา ไวต์เมอร์ สูญเสียลูกชายจากการกระโดดสะพานโกลเดนเกตในปี 2017 และร่วมรณรงค์ให้มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยที่นี่

พอล มูลเลอร์ หัวหน้า Bridge Rail Fund องค์การนอกภาครัฐที่วิ่งเต้นให้มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยที่สะพานโกลเดนเกตเปิดเผยกับบีบีซีว่า โครงการติดตั้งตาข่ายนิรภัยที่สะพานโกลเดนเกตใช้แนวคิดการออกแบบเดียวกับระบบที่ติดตั้งในกรุงเบิร์น ของสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1998 ซึ่งช่วยลดตัวเลขการฆ่าตัวตายลงได้อย่างมาก

แต่ฝ่ายวิจารณ์หลายคนเชื่อว่า ตาข่ายนิรภัยจะทำให้คนที่คิดฆ่าตัวตายมองหาสถานที่อื่นก่อเหตุแทน โดยอ้างอิงผลการศึกษาที่สะพานแห่งหนึ่งในนครโทรอนโต ของแคนาดา ที่หลังจากการติดตั้งเครื่องกั้นทำให้ตัวเลขคนฆ่าตัวตายที่มี 9 รายต่อปีลดลงเกือบเป็นศูนย์ แต่ตัวเลขการฆ่าตัวตายลักษณะเดียวกันกลับไปเพิ่มขึ้นที่สะพานแห่งอื่นแทน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 1978 ของ ดร.ริชาร์ด เซเดน จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ศึกษากลุ่มคนที่ได้รับการช่วยเหลือไม่ให้กระโดดจากสะพานโกลเดนเกตระหว่างปี 1937-1971 พบว่าคนเหล่านี้จำนวน 515 คน มีผู้ที่กลับไปฆ่าตัวตายซ้ำจนสำเร็จเพียง 25 คน

A man looks at the view from the Golden Gate Bridge

Getty Images
ปัจจุบันมีเพียงรั้วเตี้ย ๆ ที่กั้นไม่ให้คนพลัดตกจากทางเดินของสะพาน

ข้อมูลจากสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์แห่งมารินเคาน์ตีที่ชันสูตรศพผู้เสียชีวิตที่สะพานโกลเดนเกตบ่งชี้ว่า 60% ของคนที่กระโดดสะพานแห่งนี้มีอายุต่ำกว่า 45 ปี

ดร.ชาร์ลอตต์ โธเดลเลียส นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส ในสวีเดน ได้ศึกษาถึงอิทธิพลทางจิตวิทยาของเครื่องกั้นต่อความพยายามฆ่าตัวตาย

เธอพบว่า อุปกรณ์นี้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการยับยั้งคนหนุ่มสาวที่พยายามฆ่าตัวตายที่สะพาน ถนน และสถานีรถไฟ

“ฉันได้สังเกตว่าคนหนุ่มสาวก่อเหตุฆ่าตัวตายด้วยวิธีที่ต่างจากผู้ใหญ่ พวกเขาทำไปด้วยความคิดชั่ววูบ ทั้งที่จริงพวกเขาอาจไม่ต้องการจะตาย และต้องการให้มีอะไรมาหยุดพวกเขา”

เสียงในหัว

ข้อมูลดังกล่าวดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเควิน ไฮนส์ ในวันที่ 25 ก.ย. ปี 2000 ซึ่งเขานั่งรถประจำทางจากย่านใจกลางเมืองซานฟรานซิสโกไปยังสะพานโกลเดนเกต

Kevin Briggs

Ascend Books
เควิน บริกส์ อดีตตำรวจสายตรวจเคยช่วยผู้คนกว่า 200 คนไม่ให้กระโดดสะพานโกลเดน เขาเชื่อว่าตาข่ายนิรภัยนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้งานด้านป้องการกันฆ่าตัวตายที่นี่

ตอนนั้นโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วที่เขาเป็นอยู่ได้กำเริบอย่างหนัก ทำให้เขาได้ยินเสียงในหัวที่ “บอกให้เขาไปตาย”

“ถ้าตอนนั้นมีคนถามผมว่าผมโอเคไหม หรืออะไรทำนองนั้น ผมคงจะเล่าเรื่องทุกอย่างให้เขาฟังและขอให้เขาช่วยผม” ไฮนส์กล่าว

แต่ตอนนั้นคนที่เข้าไปพูดกับเขาเพียงคนเดียวคือนักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งที่ขอให้ชายหนุ่มวัย 19 ปีถ่ายรูปให้เธอ หลังจากนั้น ไฮนส์ได้กระโดดข้ามรั้วเตี้ย ๆ ลงสู่ท้องทะเลเบื้องล่าง

เช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตที่มีอยู่ไม่กี่คน ไฮนส์บอกว่าในห้วงเวลา 4 วินาทีที่ร่างกำลังดิ่งลงสู่พื้นน้ำ เขารู้สึกเสียใจขึ้นมาในทันทีกับการคิดสั้นของตัวเอง

“ตาข่ายคงจะช่วยหยุดยั้งไม่ให้ผมตกลงสู่ทะเล แต่ผมก็คิดว่าผมอาจไม่คิดกระโดดตั้งแต่แรกถ้ามีตาข่ายนิรภัยติดตั้งอยู่”

“ผมคิดว่าเมื่อคนรู้ว่าพวกเขาไม่สามารถตายได้จากการกระโดดสะพานโกลเดนเกต พวกเขาก็คงเลิกพยายามฆ่าตัวตาย”

ไฮนส์ยังคงคิดจะกลับไปที่สะพานโกลเดนเกตอีกครั้ง อันที่จริงเขาเคยย้อนกลับไปที่นี่แล้วหลายครั้ง ครั้งแรกคือวาระครบรอบ 1 ปีที่เขากระโดดและรอดชีวิตมาได้ แต่เขาหวังว่าในการกลับไปคราวหน้า สะพานแห่งนี้จะดูแตกต่างไปจากเดิม

“ผมไม่มีปัญหากับสะพานโกลเดนเกต” ไฮนส์บอก “มันคืองานศิลปะอาร์ตเดโคชิ้นเอกที่ไม่ปลอดภัย”

“แต่เรากำลังทำให้มันปลอดภัย และนั่นคือสิ่งวิเศษที่สุด”

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว