แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย : เราจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าใดเมื่อติดใต้ซากปรักหักพัง

 

Abdulalim Muaini holds onto a rope as rescuers try to pull him out from under the rubble, in the aftermath of a deadly earthquake in Hatay, Turkey, February 8, 2023.

UMIT BEKTAS / REUTERS
อับดุลลาลิม มูไอนี ได้รับความช่วยเหลือจากซากอาคารแห่งหนึ่งในตุรกี

เวลาใกล้หมดลงทุกขณะหรับผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคารที่พังถล่มลงมา หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีและซีเรียเมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่กู้ภัยของทั้งสองประเทศ และจากทั่วโลกที่เดินทางไปช่วยปฏิบัติการกู้ภัยกำลังทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อเร่งค้นหาผู้ที่ยังรอดชีวิตอยู่ใต้ซากปรักหักพังต่าง ๆ

แต่คนเราจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าใด เมื่อต้องติดอยู่ใต้อาคารบ้านเรือนที่พังถล่มลงมาเช่นนี้

บรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกกับบีบีซีว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ตำแหน่งที่ผู้รอดชีวิตอยู่ การเข้าถึงน้ำและอากาศ สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ และความแข็งแกร่งของร่างกายผู้ประสบภัย

การช่วยชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังเกิดภัยพิบัติ แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือออกจากซากปรักหักพังได้สำเร็จแม้เวลาผ่านไปหลายวัน

องค์การสหประชาชาติแนะนำให้ยุติปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยหลังเกิดภัยพิบัติไปแล้ว 5-7 วัน โดยการตัดสินใจจะมีขึ้นในกรณีที่ไม่มีผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้ว 1-2 วัน

มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยเหล่านี้รอดชีวิต

ความรู้และการเตรียมตัว

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพยากรณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อใด หรืออาคารจะพังถล่มลงมาในนาทีไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตำแหน่งที่คุณใช้หลบภัยคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้มีชีวิตรอด

ตำแหน่งที่เหมาะสมในการหลบภัยจะเป็นที่คุ้มกันคุณจากซากปรักหักพังต่าง ๆ และช่วยสร้างช่องว่างให้อากาศเข้าถึงได้

View of a partially collapsed building following a major earthquake in the Elbistan district of Kahramanmaras, Turkey, 08 February 2023.

EPA

นายมูรัต ฮารุน ออนโกเรน ผู้ประสานงานสมาคมค้นหาและกู้ภัยตุรกี (Turkish Search & Rescue Association หรือ AKUT) ซึ่งเป็นหน่วยงานป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนใหญ่ที่สุดของตุรกี ระบุว่า “การฝึกซ้อม ‘หมอบ ป้อง เกาะ’ จะสร้างช่องที่จะช่วยให้มีชีวิตรอด และช่องอากาศ”

กรณีที่อยู่ภายในตัวอาคารขณะเกิดแผ่นดินไหว ควร “หมอบ” ลงกับพื้น แล้ว ใช้มือ “ป้อง” ศีรษะและคอ เพื่อป้องกันสิ่งของหรือเศษวัสดุที่อาจตกใส่ หรือหาที่กำบังแข็งแรง เช่น โต๊ะ ยึด “เกาะ” ไว้ให้แน่นจนกว่าแรงสั่นสะเทือนจะหยุดลงแล้วจึงออกไปยังสถานที่ปลอดภัย

นายออนโกเรนบอกว่า “การศึกษา ฝึกซ้อม และความรู้เกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินต่าง ๆ (ก่อนเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว) เป็นสิ่งสำคัญ แต่ผู้คนมักไม่ค่อยสนใจ”

“นี่คือเครื่องชี้วัดว่าคุณจะมีชีวิตรอดใต้ซากปรักหักพังได้นานแค่ไหน” เขากล่าว

ดร. เจตรี เรกมี เจ้าหน้าที่เทคนิคจากฝ่ายภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลกก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมตัว

เธออธิบายว่า “การเข้ากำบังตัวในที่ปลอดเช่น เช่น โต๊ะที่มั่นคงจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต แม้จะมีความไม่แน่นอนเพราะเหตุฉุกเฉินแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน แต่การค้นหาและกู้ภัยในขั้นต้นขึ้นอยู่กับศักยภาพการเตรียมความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น”

การเข้าถึงอากาศและน้ำ

การได้รับอากาศและน้ำเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคารมีชีวิตรอด แต่นี่ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บด้วย เพราะการสูญเสียเลือดปริมาณมาก ทำให้โอกาสรอดชีวิตมีไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากผู้รอดชีวิตไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และมีอาการหายใจเพียงพอ สิ่งต่อไปคือการป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ

ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เอ็ดเวิร์ด มูน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอภิบาลผู้ป่วยอาการวิกฤตจากมหาวิทยาลับดุ๊กในสหรัฐฯ ระบุว่า “การขาดน้ำและออกซิเจนส่งผลอย่างยิ่งต่อการรอดชีวิต”

เขาอธิบายว่า “ผู้ใหญ่ทุกคนสูญเสียน้ำในร่างกายวันละ 1.2 ลิตร”

ศ.มูน ชี้ว่านี่เป็นผลมาจากการขับปัสสาวะ การหายใจออก ไอน้ำ และเหงื่อจากร่างกาย แต่หากมีอาการป่วยหนักก็จะสูญเสียน้ำในร่างกายได้ถึง 8 ลิตร หรือมากกว่านั้น

มีการประเมินว่า คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ได้ดื่มน้ำราว 3-7 วัน

A woman looks on as emergency personnel and locals search for survivors at the site of a collapsed building in the aftermath of a major earthquake in the Elbistan district of Kahramanmaras, Turkey, 08 February 2023.

EPA
เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกหลายหมื่นชีวิตติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง

ระดับการบาดเจ็บ

หากคนเราได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรืออาการบาดเจ็บรุนแรงอื่น ๆ และมีช่องอากาศให้หายใจอย่างจำกัด ก็มีโอกาสน้อยที่จะรอดชีวิตไปจนถึงวันถัดมาจากการเกิดภัยพิบัติ

ดร.เรกมี ระบุว่า ความสามารถประเมินระดับการบาดเจ็บของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

เธออธิบายว่า “คนที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ศีรษะ หรือหน้าอกอาจไม่รอดชีวิตหากไม่ได้ถูกนำส่งแผนกฉุกเฉิน” เพราะ การเสียเลือด กระดูกหัก หรือการบาดเจ็บที่ช่องท้องทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การรักษาจากแพทย์ภายหลังได้รับการช่วยเหลือจากซากปรักหักพังก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ดร.เรกมี กล่าวว่า “แม้จะได้รับการช่วยเหลือออกจากซากอาคารแล้ว แต่บุคคลนั้นก็อาจเสียชีวิตจาก “กลุ่มอาการอวัยวะถูกกดทับ” (crush syndrome) ที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อได้รับความเสียจากแรงกดทับของปรักหักพังแล้วผลิตสารพิษขึ้น และเมื่อบุคคลนั้นถูกนำตัวออกมาได้ สารพิษก็จะแพร่ไปทั่ว และก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย

สภาพอากาศและอุณหภูมิ

สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ก็มีผลต่อระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ประสบภัยด้วย

ศ.มูน ระบุว่า สภาพอากาศในฤดูหนาวที่ตุรกีทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก

เขาอธิบายว่า “ผู้ใหญ่ส่วนมากสามารถทนกับอุณหภูมิต่ำสุดที่ 21 องศาเซลเซียสได้ โดยที่ร่างกายไม่สูญเสียความสามารถในการกักเก็บความร้อน แต่เมื่ออากาศหนาวเย็นลง ความสามารถนี้จะเปลี่ยนแปลงไป”

ศ.มูน บอกว่า ความเร็วในการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ (hypothermia) ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมว่าผู้รอดชีวิตอยู่ในที่กำบังจากสภาพอากาศหนาวได้มากเพียงใด แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่โชคดีนัก และมีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว

แต่สถานการณ์จะกลับกันในฤดูร้อน เพราะการติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังที่มีลักษณะปิดนั้นอาจทำให้ผู้ประสบภัยมีอาการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะลดโอกาสการมีชีวิตรอด

Rescuers work at the site of a collapsed building, in the aftermath of a deadly earthquake in Hatay, Turkey, February 8, 2023. REUTERS/Umit Bektas

Reuters

ความเข้มแข็งทางจิตใจ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การมีความคิดและจิตใจที่มุ่งมั่นจะมีชีวิตรอดนั้นเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรามีชีวิตต่อไปได้

นายออนโกเรน จากสมาคมค้นหาและกู้ภัยตุรกีกล่าวว่า “ความกลัวเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของคนเรา แต่เราไม่ควรตื่นตระหนก เราต้องทำใจให้เข้มแข็งเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป”

นี่ต้องใช้ความมุ่งมั่นและจิตใจที่แน่วแน่

เขาชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงความรู้สึกตื่นกลัว และตั้งสติควบคุมตัวเองให้ได้ โดยยกตัวอย่างว่า “โอเค ฉันอยู่ตรงนี้แล้ว ฉันต้องหาทางเอาชีวิตรอด” ความคิดแบบนี้จะเป็นแรงผลักดัน และจะทำให้เราไม่เอาแต่ร้องตะโกนอย่างตื่นตระหนก หรือเคลื่อนไหวดิ้นรนมากเกินไป เพราะคุณจำเป็นต้องเก็บพลังงานไว้

การรอดชีวิตที่น่าทึ่ง

ในปี 1995 หลังเกิดแผ่นดินไหวในเกาหลีใต้ ชายคนหนึ่งได้รับการช่วยชีวิตออกจากซากอาคารถล่มหลังเกิดเหตุ 10 วัน มีรายงานว่าเขาประทังชีวิตด้วยการดื่มน้ำฝน และกินกล่องกระดาษ รวมทั้งเล่นของเล่นเด็กเพื่อให้ความคิดตื่นตัว

ในเดือน พ.ค. 2013 หญิงคนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือออกจากซากโรงงานถล่มในบังกลาเทศ หลังเกิดเหตุ 17 วัน

เธอเล่าว่า “ฉันได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่กู้ภัยอยู่นานหลายวัน ฉันพยายามใช้ท่อนไม้เคาะเพื่อเรียกความสนใจ แต่ไม่มีใครได้ยินฉันเลย”

“ฉันกินอาหารแห้งอยู่นาน 15 วัน ช่วง 2 วันสุดท้ายฉันไม่มีอะไรเหลือนอกจากน้ำดื่ม” เธอเล่า

หลังเกิดแผ่นดินไหวในเฮติเมื่อปี 2010 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 220,000 มีชายคนหนึ่งรอดชีวิตหลังเกิดเหตุ 12 วัน เขาติดอยู่ใต้ร้านค้าแห่งหนึ่ง ส่วนชายอีกคนรอดชีวิตหลังเกิดแผ่นดินไหว 27 วัน

ในเดือน ต.ค. 2005 หรือ 2 เดือนหลังเกิดแผ่นดินไหวในดินแดนแคชเมียร์ฝั่งปากีสถาน มีหญิงวัย 40 ปีคนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือออกจากห้องครัวที่พังถล่มในบ้านของเธอ

ตอนได้รับการช่วยเหลือออกมา หญิงผู้นี้มีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งและอ่อนแรงจนแทบเดินไม่ได้ เธอให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ในตอนนั้นลูกพี่ลูกน้องของเธอพูดว่า “ตอนแรกเราคิดว่าเธอตายแล้ว แต่เธอลืมตาขึ้นในขณะที่เรากำลังดึงร่างเธอออกมา”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว