ทำความรู้จักเครดิตสวิส สำคัญอย่างไร ทำไมจึงสั่นสะเทือนตลาดหุ้นไทยและโลก

Reuters หุ้นเครดิตสวิสร่วงไปแล้ว 30%

ธนาคารกลางอังกฤษหารืออย่างใกล้ชิดกับทางการสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารเครดิตสวิส จากวิกฤตเงินทุนที่นักลงทุนวิตกว่า เครดิตสวิสอาจล้มเป็นธนาคารต่อไป ล่าสุด เครดิตสวิสกู้เงินกว่า 1.85 ล้านล้านบาท จากธนาคารแห่งชาติสวิสแล้ว หลังหุ้นดิ่งเหวถึง 30%

ทางการสวิตเซอร์แลนด์บอกกับบีบีซีว่า พร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือตามความจำเป็นและหากเครดิตสวิสต้องการ

วานนี้ (15 มี.ค.) หุ้นของธนาคารเครดิตสวิสดิ่งลงถึง 24% ถือว่าลดต่ำเป็นประวัติการณ์ หลังทางธนาคารยอมรับในรายงานว่า พบ “ความอ่อนแอ” ในรายงานทางการเงิน และวันนี้ (16 มี.ค.) หุ้นดิ่งลงไปแล้วถึง 30%

ความวิตกกังวลนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสั่นสะเทือน ดัชนีหลักทั้งหมดดิ่งลงอย่างรุนแรง นับแต่วานนี้ (16 มี.ค.)

ธนาคารแห่งชาติสวิส (SNB) และหน่วยงานกำกับดูแลการเงินสวิส พยายามผ่อนคลายความกังวล โดยระบุว่า พร้อมเข้าช่วยเครดิตสวิสหากจำเป็น

“ไม่มีสิ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่วิกฤตตลาดธนาคารในสหรัฐฯ จะลุกลามมาถึงสถาบันทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์” SNB และหน่วยงานกำกับดูแลการเงินสวิส ออกแถลงการณ์ร่วมกัน

สถาบันทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ต้องดำเนินตามข้อกำหนดที่เข้มงวด “เพื่อสร้างเสถียรภาพ” และได้พิจารณาว่าธนาคารเครดิตสวิสมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขของธนาคารที่ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบการเงิน

ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก หรือ “global systemically important bank” มีราว 30 ธนาคาร รวมถึงธนาคารเจพี มอร์แดน เชส ธนาคารแห่งอเมริกา และธนาคารแห่งจีน

“หากจำเป็น SNB (ธนาคารแห่งชาติสวิส) จะช่วยเหลือ (เครดิตสวิส) ด้านสภาพคล่อง”

ล่าสุด ธนาคารเดรดิตสวิสได้ประกาศกู้ยืมเงินกว่า 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.85 ล้านล้านบาท จากธนาคารแห่งชาติสวิสแล้ว หลังวันนี้ หุ้นตกลงไปถึง 30%

Reuters

Reuters

บีบีซีเข้าใจว่า ธนาคารแห่งอังกฤษได้ติดต่อหารือกับเครดิตสวิสและทางการสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ปัญหาในเครดิตสวิส ก่อให้เกิดคำถามว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ หรือเป็นเพียงกรณีพิเศษเท่านั้น” แอนดรูว์ เคนนิงแฮม จากบริษัท แคปิตัล อีโคโนมิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์อิสระในกรุงลอนดอน กล่าว

ทำความรู้จักเครดิตสวิส และที่มาวิกฤต

ธนาคารเครดิตสวิส ก่อตั้งขึ้นในปี 1856 และเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวมาหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อหาฟอกเงินและอื่น ๆ

ธนาคารเครดิตสวิสสูญเสียเงินมหาศาลในปี 2021 และอีกครั้งในปี 2022 ถือเป็นปีเลวร้ายที่สุดของทางธนาคาร นับแต่วิกฤตทางการเงินปี 2008 ทางธนาคารเตือนว่า ประเมินแล้วไม่คิดว่าจะสร้างกำไรได้จนถึงปี 2024

หุ้นของธนาคารได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สัปดาห์นี้ มูลค่าของธนาคารถูกหั่นตกเหลือ 2 ใน 3 เมื่อปีที่แล้ว หลังลูกค้าถอนเงินทุน โดยทางธนาคารสูญเงินทุนไปถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4.1 ล้านล้านบาทในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

การประกาศยอมรับของทางธนาคารถึง “สถานการณ์ภายในที่เป็นด้อย” ในรายงานทางการเงิน ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และทำให้นักลงทุนรายใหญ่ อย่างธนาคารแห่งชาติซาอุดี ประกาศจะไม่อัดฉีดเงินทุนให้เครดิตสวิสมากไปกว่านี้

ด้านเครดิตสวิสยืนกรานว่า จุดยืนทางการเงินของทางธนาคารไม่ใช่เรื่องน่ากังวล โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเครดิตสวิสระบุว่า เงินทุนสำรองของธนาคาร “ยังแข็งแกร่งมาก ๆ”

Reuters

Reuters

แต่แล้ว หุ้นของเครดิตสวิสก็ร่วงหล่นลงถึง 24% เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) ขณะที่ธนาคารแห่งอื่น ๆ รีบลดความเสี่ยงจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ด้านนายกรัฐมนตรีสเปน และฝรั่งเศส ออกมาแถลงข่าวเพื่อลดความหวั่นวิตก

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ของฝรั่งเศส ได้ระงับการทำข้อตกลงบางประกาศ หากทราบว่าเครดิตสวิสเป็นคู่ค้า

“วิกฤตธนาคารมาจากอเมริกา ตอนนี้ คนกำลังดูว่าสถานการณ์จะก่อให้เกิดปัญหาทั่วยุโรปหรือไม่” โรเบิร์ก ฮัลเวอร์ หัวหน้าด้านตลาดทุนของธนาคารบาดเดอร์ของเยอรมนี กล่าว

“ในอดีตนั้น หากธนาคารแห่งหนึ่งมีปัญหาแม้เพียงน้อยนิด นักลงทุนรายใหญ่จะบอกว่า เราจะไม่ลงทุนอีกต่อไป และจะไม่อัดฉีดเงินเข้าไปในธนาคารอีก และก็มีกรณีที่นักลงทุนหลายเจ้าบอกว่า เราอยากถอนทุนออก”

หนึ่งในปัญหาที่สะเทือนธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ คือ การถูกกดดันให้ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทางธนาคารสะสมไว้ เพื่อระดมเงินทุน

แต่มูลค่าของพันธบัตรเหล่านี้ ได้ตกลงในช่วงปีที่ผ่านมา จากการที่ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ เฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ

ธนาคารกลางหลายแห่ง รวมถึงธนาคารอังกฤษ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มูลค่าของพันธมิตรก็ลดลง

มูลค่าพันธบัตรที่ลดลง หมายความว่ามีธนาคารอีกหลายแห่งที่สุ่มเสี่ยงเจอปัญหาด้านเงินทุน อย่างไรก็ดี มูลค่าที่ปรับเปลี่ยนไป จะไม่ใช่ปัญหาตราบใดที่ไม่เจอแรงกดดัน อาทิ การถอนทุนของลูกค้า ที่กดดันให้ธนาคารต้องขายพันธบัตรที่สะสมไว้

“ความกังวลคืออาจมีธนาคารอีกหลายแห่ง ที่นั่งทับพันธบัตรที่สูญมูลค่าไปมหาศาล แต่ทางธนาคารยังไม่รู้ตัว จนกว่าจะเกิดการแห่ถอนเงิน” ซูซานนาห์ สตรีทเทอร์ หัวหน้าฝ่ายการเงินและตลาดหุนของบริษัท ฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์ กล่าว

จุดเริ่มต้นวิกฤตการเงิน ?

ปัญหาในภาคการธนาคารเริ่มจากในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ มีมูลค่าตลาดสูงถึง 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 584,000 ล้านบาท

ธนาคารแห่งนี้เชี่ยวชาญด้านการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยี แต่ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งปิดธนาคารเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10 มี.ค.) ซึ่งถือเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดของธนาคารสหรัฐฯ นับแต่ปี 2008 ต่อมา ธนาคารเอชเอสบีซี ซื้อธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ไปด้วยราคา 1 ปอนด์ หรือ ราว 48 บาท

แต่ความหวาดวิตกยังไม่หยุดเท่านั้น เพราะนักลงทุนกลัวว่าจะมีธนาคารแห่งอื่น ๆ ที่เผชิญปัญหาคล้ายกัน ทำให้การซื้อขายหุ้นธนาคารผันผวนมากมาตลอดสัปดาห์

ลอเรนซ์ ฟิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทบริษัทด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ แบล็กร็อค ระบุในจดหมายประจำปีต่อนักลงทุนว่า “ยังเร็วไปที่จะทราบความเสียหายว่ากว้างแค่ไหน… มาตรการรับมือของหน่วยงานกำกับด้านการเงินค่อนข้างเร็ว การตัดสินใจที่เด็ดขาดช่วยลดความเสี่ยงที่ปัญหาจะระบาดไปธนาคารอื่น แต่ตลาดทุนยังหวาดวิตกอยู่”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว