ศาลอาญาระหว่างประเทศ : ICC ออกหมายจับปูตินข้อหาอาชญากรรมสงครามในยูเครน

Reuters

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ICC กล่าวหาว่าเขามีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรสงคราม ซึ่งรวมถึงการขนย้ายเด็กอย่างผิดกฎหมายจากยูเครนไปยังรัสเซีย

ICC ระบุว่าอาชญากรรมเกิดขึ้นในยูเครนตั้งแต่ 24 ก.พ. 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียเปิดการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบ

มอสโกปฏิเสธข้อกล่าวหาอาชญากรสงครามระหว่างการรุกราน

เมื่อ ก.ย. ปีที่แล้ว ประธานสหภาพยุโรป เรียกร้องให้มีการไต่สวนระหว่างประเทศเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานของสหภาพยุโรป ซึ่งมีการหมุนเวียนกันในหมู่ประเทศสมาชิก ได้เรียกร้องเรื่องนี้ หลังจากที่มีการค้นพบหลุมฝังศพหลายร้อยแห่งในเมืองอิซูม ซึ่งทหารยูเครนเพิ่งยึดกลับคืนมาได้จากรัสเซียเมื่อไม่นานนี้

มีรายงานว่า ศพจำนวนมากเป็นพลเรือนรวมถึงผู้หญิงและเด็ก

“เราเรียกร้องให้มีการลงโทษอาชญากรสงครามทุกคน” นายแยน ลิพาฟสกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ยูเครนระบุว่า เชื่อว่า ได้มีการก่อการอาชญากรรมสงครามในเมืองอิซูม ซึ่งมีการขุดพบศพแล้ว 59 ศพ และคาดว่า จะพบศพจำนวนมากขึ้นจากหลุมศพในป่าที่อยู่รอบนอกของเมือง

อาชญากรรมสงครามคืออะไร

อาชญากรรมสงครามคือการกระทำที่ละเมิดกฎกติกาสงคราม เช่น การจงใจโจมตีพลเรือน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีชีวิตรอดเช่น โรงพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีการห้ามใช้อาวุธบางชนิด เนื่องจากมีอานุภาพที่สามารถสร้างอันตรายให้แก่ผู้ที่อยู่ในรัศมีอย่างไม่เลือกหน้า เช่น ทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคล ตลอดจนอาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพ

ผู้ป่วยและได้รับบาดเจ็บจะต้องได้รับการรักษาพยาบาล ซึ่งรวมถึง ทหารบาดเจ็บ ที่มีสิทธิในฐานะเชลยสงคราม

จะทำอย่างไรกับกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม

ทุกประเทศมีหน้าที่ในการตรวจสอบกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม

บางประเทศให้ความสนใจตรวจสอบกรณีเช่นนี้มากกว่าประเทศอื่น

ในสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงได้เสนอให้ความช่วยเหลือในการรวบรวมหลักฐานที่อาจเข่าข่ายก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

จะเอาผิดผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมสงครามได้อย่างไร

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตั้งศาลพิเศษขึ้นไต่สวนคดีอาชญากรรมสงครามหลายครั้ง ในจำนวนนี้รวมถึง ศาลพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของยูโกสลาเวีย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นเอาผิดต่อผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงเชื้อสายฮูตูได้สังหารผู้คนไปราว 800,000 คน ภายในระยเวลา 100 วัน ในปี 1994 โดยมุ่งเป้าไปที่ชาวทุตซี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ รวมถึงศัตรูทางการเมืองโดยไม่สนใจว่าคนเหล่านั้นจะมีชาติพันธุ์อะไร

ปัจจุบัน ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) มีบทบาทในการพิทักษ์กฎกติกาสงคราม

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

มีหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐ แต่ไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีต่อบุคคล ยูเครนเริ่มกระบวนการฟ้องร้องต่อรัสเซียที่เข้ารุกรานประเทศต่อศาลแห่งนี้

หาก ICJ ตัดสินว่ารัสเซียมีความผิด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council หรือ UNSC) ก็จะมีหน้าที่บังคับใช้บทลงโทษต่อรัสเซีย

แต่รัสเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของ UNSC ก็อาจใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต (veto) ข้อเสนอให้ลงโทษได้

ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ICC มีหน้าที่สอบสวนและดำเนินคดีต่ออาชญากรสงคราม ซึ่งถูกนำตัวขึ้นศาลในฐานะบุคคล ไม่ใช่ในฐานะประเทศ

ศาลที่เมืองนูเรมเบิร์กในเยอรมนี มีขึ้นเพื่อพิจารณาคดีต่อเหล่าผู้นำคนสำคัญของนาซีที่ถูกจับกุมได้ในปี 1945

ศาลแห่งนี้ได้กำหนดบรรทัดฐานว่าประเทศต่าง ๆ สามารถตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีระหว่างประเทศได้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว