เหตุต่อสู้ระหว่างกองทัพซูดานกับกองกำลังกึ่งทหารที่ปะทุขึ้นในกรุงคาร์ทูม และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เมื่อ 15 เม.ย. ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 56 คน
เหตุปะทะนองเลือดครั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากการช่วงชิงอำนาจในหมู่ผู้นำทหารของซูดาน จนนำไปสู่การปะทะอย่างดุเดือดระหว่างกองทัพกับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces หรือ RSF) ซึ่งเป็นกองกำลังรบกึ่งทหารที่ไม่ได้สังกัดกองทัพซูดาน
ทหาร 2 ฝ่ายระดมยิงต่อสู้กันเพื่อชิงสถานที่สำคัญในกรุงคาร์ทูม เช่น ทำเนียบประธานาธิบดี สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ และกองบัญชาการกองทัพซูดาน ส่งผลให้พลเรือนอย่างน้อย 56 คนเสียชีวิตในเมืองหลวงและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 595 คน
กองทัพซูดานระบุว่า ได้ส่งเครื่องบินขับไล่เข้าโจมตีฐานที่มั่นของของ RSF หลายแห่ง โดยประชาชนในกรุงคาร์ทูมให้สัมภาษณ์กับบีบีซีถึงความตื่นตระหนกและหวาดกลัวเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่ามีเหตุกราดยิงที่บ้านพักหลังติดกับบ้านของเขา
บีบีซีอธิบายประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศแถบแอฟริกาเหนือแห่งนี้
ที่มาความขัดแย้ง
นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารในเดือน ต.ค. 2021 ซูดานก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสภาที่นำโดยเหล่าแม่ทัพนายพล และมีนายพล 2 คนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้
คนแรกคือ พลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน ซึ่งกุมตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ส่วนอีกคนคือ พลเอก โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักกันในนาม “เฮเมดตี” ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี และผู้บัญชาการกองกำลัง RSF
ทั้งสองมีความคิดเห็นต่างกันในทิศทางการบริหารประเทศ รวมทั้งการนำซูดานกลับคืนสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือน
หนึ่งในประเด็นสำคัญของความขัดแย้งครั้งล่าสุดคือแผนการผนวกกองกำลัง RSF ซึ่งมีกำลังพลราว 100,000 นายให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซูดาน รวมทั้งใครจะเป็นผู้นำเหล่าทัพใหม่นี้
ทำไมเหตุรุนแรงปะทุขึ้น
เหตุรุนแรงครั้งนี้สืบเนื่องจากความตึงเครียดที่ดำเนินมาหลายวันจากการระดมกำลังสมาชิก RSF ไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้กองทัพมองว่าเป็นภัยคุกคาม
แม้จะมีความหวังเรื่องการเจรจาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียด แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น
จนถึงบัดนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครคือฝ่ายเปิดฉากยิงก่อนเมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 เม.ย. และมีความกังวลว่าเหตุปะทะที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ความไร้เสถียรภาพในซูดานเลวร้ายลงอีก
ขณะที่บรรดานักการทูตนานาชาติต่างเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง
RSF คือใคร
RSF ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยมีจุดกำเนิดมาจากกลุ่มติดอาวุธ จันจาวีด (Janjaweed) ที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวจากการปราบปรามกลุ่มกบฏในแคว้นดาร์ฟูร์อย่างโหดเหี้ยม
นับแต่นั้น พลเอก ดากาโล ก็ได้สร้างกองกำลัง RSF อันทรงอิทธิพล และเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เยเมน และลิเบีย รวมทั้งเข้าควบคุมเหมืองทองคำบางแห่งในซูดาน
RSF ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการสังหารหมู่ผู้ประท้วงมากกว่า 120 คนในเดือน มิ.ย 2019
การเป็นกองกำลังนอกกองทัพที่ทรงอิทธิพลทำให้หลายฝ่ายมองว่า RSF เป็นต้นตอของความไร้เสถียรภาพในซูดาน
ทำไมทหารกุมอำนาจในซูดาน
การปะทะครั้งล่าสุดนี้นับเป็นกรณีล่าสุดที่เกิดจากความตึงเครียดจากการช่วงชิงอำนาจในซูดาน หลังจากการโค่นล้มอำนาจอดีตประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ที่กุมอำนาจปกครองประเทศมายาวนานในปี 2019
ในขณะนั้นมีการประท้วงใหญ่ตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาเชียร์ก้าวลงจากตำแหน่ง หลังจากปกครองประเทศมาเกือบ 3 ทศวรรษ ส่งผลให้กองทัพใช้โอกาสนี้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนต่างเรียกร้องการเข้าไปมีบาทในแผนการที่จะนำพาซูดานมุ่งสู่การปกครองตามวิถีประชาธิปไตย
ส่งผลให้มีการตั้งรัฐบาลผสมของทหารและพลเรือน แต่ก็ถูกโค่นล้มในการรัฐประหารอีกครั้งในเดือน ต.ค. 2021
นับตั้งแต่นั้น การแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจระหว่างพลเอก บูร์ฮาน และพลเอก ดากาโล ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเดือน ธ.ค. 2022 มีการกำหนดกรอบข้อตกลงที่จะส่งมอบอำนาจการปกครองประเทศกลับคืนสู่พลเรือน แต่การเจรจาในขั้นสุดท้ายกลับล้มเหลว
จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
หากการต่อสู้ระหว่างกองทัพซูดานกับ RSF ยังดำเนินต่อไปก็จะนำไปสู่ความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายรุนแรงขึ้น และทำให้ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในซูดานทวีความเลวร้ายลง
เหล่านักการทูตผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ซูดานกลับสู่การปกครองของพลเรือนจะพยายามหาหนทางให้นายพลทั้งสองหันหน้าเข้าเจรจากัน
แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ประชาชนซูดานคือฝ่ายที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อในประเทศ โดยพลเอก ดากาโล ประกาศว่ากองกำลัง RSF ของเขาจะเดินหน้าสู้ต่อไปจนกว่าจะยึดฐานทัพทหารได้ทั้งหมด ขณะที่กองทัพซูดานประกาศไม่เข้าร่วมการเจรจาใด ๆ “จนกว่า RSF จะสลายตัว”
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว