เลือกตั้ง 2566 : ประชาชนคาใจ กกต. เคลียร์อย่างไรกับสารพันปัญหาจัดเลือกตั้ง

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในงานคิกออฟเลือกตั้ง 2566

ในขณะที่ทุกพรรคการเมืองซึ่งเปรียบเสมือน “ผู้เล่น” ในสนามเลือกตั้ง 2566 แข่งขันกันเสนอตัว-เสนอนโยบาย โดยหวังมัดใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการทำหน้าที่

กรรมการ กกต. ทั้ง 7 คน มาจากกระบวนการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบหางชาติ (คสช.) มีหน้าที่สำคัญคือการรักษากฎ และทำให้การแข่งขันทางการเมืองเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม และเป็นธรรม

บีบีซีไทยรวบรวมสารพันปัญหา “คาใจ” ของทั้งนักการเมืองและประชาชน เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง 14 พ.ค. กกต. และผู้บริหารสำนักงาน กกต. “เคลียร์” ข้อเท็จจริง-ข้อถกเถียงรวม 9 ประเด็น เอาไว้อย่างไรบ้าง

1. พิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน 7 ล้านใบ

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งปีนี้อยู่ที่ 52,287,045 คน แต่ กกต. จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ และยังพิมพ์เพิ่มสำรองอีก 5% หรือราว 2.6 ล้านใบ นั่นเท่ากับว่ามีบัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 7.3 ล้านใบ ทำให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่า “พิมพ์บัตรเลือกตั้งสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่” พร้อมชวนประชาชนร่วมจับตาดูการตรวจนับบัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้ใช้ เพื่อป้องกันการทุจริต

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “ทำในลักษณะนี้ทุกครั้ง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ.. นี่คือเรื่องการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งมีปัญหาและอุปสรรค” พร้อมยก “เหตุผลด้านเทคนิค” มาอธิบายการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งมากถึง 57 ล้านใบ

  • 2 ล้านฉบับ – กกต. นำจ่ายบัตรเลือกตั้งเป็นเล่ม ไม่ได้เป็นฉบับ โดยเล่มสุดท้ายจะเป็นการสำรองให้กับทุกหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วย แม้บางหน่วยใช้บัตรเลือกตั้งสำรอง 1-2 ฉบับ แต่จะถือว่าเสียไปแล้วทั้งเล่ม
  • 2 ล้านฉบับ – บัตรเลือกตั้งสำหรับคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งในวันเลือกตั้งสามารถเพิ่มชื่อลงคะแนนได้ในหน่วยที่ตนปฏิบัติภารกิจ ซึ่งมีราว 10 คน/หน่วย รวม 95,000 หน่วย >> ต้องสำรอง 2 ล้านฉบับ
  • 1 ล้านฉบับ – สำรองในลักษณะเดียวกันกับการจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าใน 400 เขตเลือกตั้ง และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่อยู่ในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ เช่น ประเทศซูดาน
บัตร ลต.

ADVERTISMENT
Thai News Pix
บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ที่สำนักงาน กกต. สตช. และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เตรียมปล่อยขบวนรถขนส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตเลือกตั้งทั้วประเทศ เมื่อ 1 พ.ค.

2. นับรวมต่างด้าวในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ภายหลังประกาศ กกต. เรื่อง จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 31 ม.ค. สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า “การนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่”

เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า ได้นำจำนวนราษฎรที่กระทรวงมหาดไทยประกาศมาคำนวณเพื่อแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยรวมเอาคนต่างด้าวที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายทะเบียนราษฎร “มีสิทธิได้รับบริการ ทำงานให้บ้านเรา เสียภาษี” นำมาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ADVERTISMENT

3 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ กกต. ต้องออกประกาศฉบับใหม่วันเดียวกัน (3 มี.ค.) โดยค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งลดลงเหลือ 162,766 คน/ส.ส. 1 คน จากเดิม 165,226 คน/ส.ส. 1 คน ส่งผลให้ 4 จังหวัดมี ส.ส. ลดลง ได้แก่ ตาก, เชียงราย, เชียงใหม่ และสมุทรสาคร ส่วนอีก 4 จังหวัดมี ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุดรธานี, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช และปัตตานี

3. “สับเขตเลือกตั้ง”

เมื่อได้ยอด ส.ส. พึงจะมีของแต่ละจังหวัดแล้ว กกต. ได้ออกประกาศ เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.

ต่อมา ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 4 คนได้ยื่นฟ้อง กกต. ว่าแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายใน 3 จังหวัด รวม 4 คดี ประกอบด้วย กทม. 1 คดี (33 เขตเลือกตั้ง), สุโขทัย 2 คดี (4 เขตเลือกตั้ง) และสกลนคร 1 คดี (7 เขตเลือกตั้ง) และขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนประกาศของ กกต.

แกนนำและกองเชียร์ต่างมาให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส. กทม. ในวันสมัครรับเลือกตั้วันแรกเมื่อ 3 เม.ย.

Thai News Pix
แกนนำและกองเชียร์ต่างมาให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส. กทม. ในวันสมัครรับเลือกตั้วันแรกเมื่อ 3 เม.ย.

หนึ่งในผู้ฟ้องคดีอย่าง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า มองว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องยึดเขตเลือกตั้งเก่าและเขตปกครอง เพราะกฎหมายกำหนดว่า “ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน” แต่ กกต. กลับนำแขวงมายำรวมกัน แล้วกำหนดให้เป็นเขตเลือกตั้ง ทำให้มี 13 จาก 33 เขตเลือกตั้งของ กทม. ที่มีแต่แขวงล้วน ไม่มีเขตหลัก

สอดคล้องกับความเห็นของแกนนำภาค กทม. หลายพรรคที่บีบีซีไทยพูดคุยด้วย ซึ่งระบุว่า “การสับเขต” สร้างความสับสนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และส่งผลกระทบต่อผู้เล่นดั้งเดิมที่ทำพื้นที่มานาน ทำให้อดีต ส.ส. “อ่อนกำลังลง” และ “ไม่มีแชมป์เดิม” อีกต่อไป

ขณะที่ กกต. ยืนยันหลักการ “จัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน” โดยใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ย 10% คำนวณหา ส.ส. 1 คนต่อจำนวนราษฎร

ท้ายที่สุดข้อถกเถียงยุติลงเมื่อ 7 เม.ย. หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าประกาศ กกต. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5)

4. ใช้ “บัตรโหล” ไร้ชื่อ-โลโก้พรรค

การเลือกตั้งรอบนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้สมัคร ส.ส. แม้อยู่พรรคเดียวกัน แต่ต่างคนก็ต่างหมายเลข ซ้ำหมายเลขตัวอาจไม่เหมือนกับหมายเลขพรรค หรือเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ ด้วย ขึ้นอยู่กับผลการจับสลากหมายเลขในวันสมัครรับเลือกตั้ง

เมื่อกติกาเปลี่ยนแปลงไป-ใช้ “บัตร 2 ใบ ต่างเบอร์” ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงคาดหวังว่าบัตรเลือกตั้งจะเป็น “ตัวช่วย” ลดความสับสนให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ต่อมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยตัวอย่างบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ระบบ ซึ่งพบว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต มีเพียงเบอร์ผู้สมัคร ไม่มีโลโก้พรรค และชื่อพรรค หรือที่เรียกว่า “บัตรโหล” ทั้งนี้แสวงยืนยันว่า เป็นรูปแบบบัตรมาตรฐานที่ใช้จัดการเลือกตั้งในไทยทุกครั้งที่ผ่านมา (ยกเว้นในปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ) และเชื่อว่าการนำบัตรโหลมาใช้เลือก ส.ส.เขต ช่วย “ประหยัดงบประมาณ” และ “เป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสน” เพราะรูปแบบแจกต่างจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อ ที่มีหมายเลขผู้สมัคร, สัญลักษณ์/เครื่องหมายพรรค และชื่อพรรค

อย่างไรก็ตามหลายพรรคการเมืองวิจารณ์ว่า การใช้บัตรโหลเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการต้องจดจำทั้ง “เบอร์คน” และ “เบอร์พรรค”

ตย.บัตรเลือกตั้ง

FACEBOOK/SAWAENG BOONMEE

5. เว็บล่ม ไม่ขยายเวลาลงทะเบียน ลต. ล่วงหน้า

ในวันสุดท้ายของการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขตเลือกตั้ง (9 เม.ย.) มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนให้ทัน เนื่องจากเว็บไซต์สำหรับการลงทะเบียนเกิดเหตุขัดข้องตั้งแต่เวลาราว 21.00 น. ทั้งโหลดหน้าเว็บช้า เปิดใช้งานไม่ได้ ก่อนกลับมาใช้งานได้ในเวลาอีก 10 นาทีก่อนเที่ยง ทั้งนี้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางส่วนได้วิจารณ์ระบบและการทำงานของ กกต. ผ่านแฮชแท็ก #เลือกตั้งล่วงหน้า

วันรุ่งขึ้น (10 เม.ย.) เลขาธิการ กกต. ชี้แจงสาเหตุที่เว็บล่มว่าเป็นเพราะมีประชาชนเข้าไปลงทะเบียนจำนวนมาก ขณะที่ศักยภาพของระบบสามารถรองรับคนละลงทะเบียนได้ 4,000 คน/วินาที (ต่อมา เอกสารชี้แจงของ กกต. ระบุถึงศักยภาพไว้ที่ 5,000 คน/วินาที)

แม้เลขาธิการ กกต. เอ่ยปาก “ขอโทษประชาชน” แต่ก็ไม่ได้ขยายเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า โดยให้เหตุผลว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบสามารถบันทึกข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียน แต่แสดงผลว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จไว้ ซึ่งระบบสามารถดึงข้อมูลผู้ประสงค์ลงทะเบียนมาจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้เกือบทั้งหมด

สำนักงาน กกต. สรุปยอดผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต ในเขต และนอกราชอาณาจักร ระหว่าง 25 มี.ค.-9 เม.ย. ว่า มีทั้งหมด 2,153,450 คน

  • การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและในเขตเลือกตั้ง 2,042,381 คน ในจำนวนนี้เป็นการลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต 1,950,974 คน ส่วนที่เหลือ ลงทะเบียนที่สำนักทะเบียน
  • การลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 111,069 คน ในจำนวนนี้เป็นการ ลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต 106,004 คน ส่วนที่เหลือ ลงทะเบียนที่สำนักทะเบียน

6. กกต. บินไปดูงานต่างประเทศ

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ กกต. แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่ม สื่อกระแสหลัก-สื่อสังคมออนไลน์ได้เปิดเผยข้อมูลเรื่องกรรมการ กกต. 6 คน อยู่ระหว่างเดินสายไปดูงานต่างประเทศในเดือน เม.ย. ทำให้องค์กรอิสระแห่งนี้ถูกถล่มอย่างหนัก

ร้อนถึงสำนักงาน กกต. ต้องออกเอกสารชี้แจงเมื่อ 13 เม.ย. ว่า การเดินทางไปดูงานของ กกต. เป็นไปตามโครงการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่ง “กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือเชิญ กกต. เดินทางไปเข้าร่วมโครงการ” กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงได้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบกับงานตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้แล้ว และเดินทางในห้วงเวลาที่ไม่เป็นภาระในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศต่าง ๆ จึงกำหนดให้เดินทางในห้วง 4-24 เม.ย. แต่ละเส้นทางไม่ได้เดินทางไปพร้อมกัน และมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นเพียง 4-5 คนเท่านั้นร่วมคณะในแต่ละเส้นทาง แม้เดินทางไปต่างประเทศ ก็ยังมีการนัดประชุม กกต. ตามปกติผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และหากมีเรื่องด่วน ก็อาจนัดหมายประชุมเพิ่มเติมจากการประชุมตามปกติก็ได้

7. โลโก้พรรคซีด-ติดเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครซ้อนกัน

ด้าน “ผู้เล่น” จากพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ประธาน กกต. ตรวจสอบและแก้ไขสำเนาเอกสารประกาศรายชื่อพรรคการเมืองที่ยื่นบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.4/23) หลังพบว่า โลโก้ของพรรคที่ติดไว้บนบอร์ดรายชื่อพรรคการเมืองหน้าหน่วยเลือกตั้งในเขตบางคอแหลม กทม. หลายหน่วย มีซีดจาง จนมองแทบไม่เห็น ต่างจากโลโก้ของพรรคอื่น ๆ ที่มีความคมชัดตามปกติ

ก้าวไกล

Facebook/TonKla Chorayuth Chaturapornprasit
จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ชี้ให้ดูโลโก้พรรคต้นสังกัดที่เจือจางจนมองแทบไม่เห็นเมื่อ 25 เม.ย. ก่อนได้รับการแก้ไขในเวลาต่อมา

จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 3 (บางคอแหลม-ยานนาวา) เป็นผู้เดินทางไปสำรวจคูหาเลือกตั้ง และออกมาเปิดเผยข้อมูลนี้ผ่านบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เขาเมื่อ 25 เม.ย. โดยตั้งข้อสังเกตว่า หากสิ่งที่เกิดขึ้น มาจากความผิดพลาดในขั้นตอนการพิมพ์ สีหมึกที่ซีดจางก็ควรซีดทั้งหน้ากระดาษ เหตุใดหมึกถึงซีดเฉพาะโลโก้ของพรรคก้าวไกล

วันรุ่งขึ้น (26 เม.ย.) กกต. ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้เรียบร้อย โดยเปลี่ยนจากการปิดประกาศภาพขาว-ดำ เป็นภาพสี

สื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน ไทยโพสต์ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ สำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ในฐานะกำกับดูแลการเลือกตั้ง กทม. ว่า ในระหว่างการตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจนถึง 14 เม.ย. ทุกเขตทั่วประเทศต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งตามระเบียบต้องปิดประกาศเป็นภาพ 4 สี แต่ที่ปรากฏตามข่าว เป็นการติดชั่วคราวระหว่างการจัดทำภาพ 4 สี ซึ่งในการพิมพ์ต้องใช้ระยะเวลา 4-5 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการเว้นระยะห่างในการที่ประชาชนควรได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร สำนักงาน กกต.กทม. ประสานกับ กกต. ว่า ถ้าเป็นไปได้ให้ปรินต์ภาพสี หรือหากเครื่องมือไม่เอื้ออำนวยอาจเป็นภาพขาว-ดำ มาปิดประกาศไว้เป็นการชั่วคราวก่อน

“สาเหตุที่โลโก้จาง เพราะพื้นฐานสีโลโก้อาจค่าสีอ่อน โทนแตกต่างกัน ทำให้ปรินต์ขาว-ดำออกมาก็ออกจาง ๆ ซึ่งเป็นทุกพรรค หากโลโก้มีพื้นฐานค่าสีอ่อน อีกทั้งหากติดแล้วโดนแดด โดนลม หรือโดนฝนก็อาจทำให้ภาพซีดจางได้” ผู้กำกับการเลือกตั้ง กทม. ชี้แจง และ ขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น ย้ำว่าจะแก้ไขให้เท่าเทียม เที่ยงธรรม และเสมอภาค

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หลายคนได้โพสต์แพร่คลิปวิดีโอหน้าคูหาเลือกตั้ง โดยเผยให้เห็นการติดเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งพบว่ามีการติดเอกสารของผู้สมัครรายอื่นทับผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ทั้งที่ จ.บุรีรัมย์ และ จ.เชียงใหม่

8. ใส่ชื่อพรรคผิด-หาย ทำผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างแดนสับสน

นอกจากเรื่องวุ่น ๆ ในการจัดการเลือกตั้งภายในประเทศ ยังมีความผิดพลาดบกพร่องเกี่ยวกับเอกสารแนะนำผู้สมัครที่แจ้งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในหลายกรณี ซึ่งอาจทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสับสน เข้าใจผิด และลงคะแนนผิด อาทิ

  • ประกาศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร : ภาพผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 11 สลับกันระหว่าง เอกภาพ หงสกุล พรรคเพื่อไทย กับ ว่าที่ ร.ต. เทวิน พิมพ์พันธุ์ พรรคอนาคตไทย และอีกกรณีคือ สถานทูตฯ ได้ส่งอีเมลแจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า กกต. ได้ปรับประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี เขต 4 ให้เป็นปัจจุบัน ตามเอกสารที่แนบมา อย่างไรก็ตามผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายดังกล่าวได้รับอีเมลหลังจากใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้ว แปลว่า “อาจกาผิด ไม่ตรงกับคนที่ต้องการ”
  • ประกาศ เอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ ณ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจ ไทเป : ชื่อพรรคต้นสังกัดของ ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ผู้สมัคร ส.ส.หนองบัวลำภู เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย พิมพ์ผิดเป็น ไทยสร้างชาติ
  • ประกาศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ : ชื่อพรรคต้นสังกัดของผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 9 ซึ่งมีภาพ หมายเลข และชื่ออยู่ด้านบน แต่ชื่อพรรคดันถูกจัดหน้ามาไว้เหนือภาพผู้สมัคร ส.ส. ที่อยู่ด้านล่าง เช่นกรณี ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ที่มีชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่เหนือภาพของเขา ขณะที่ผู้สมัครด้านบนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเสรีรวมไทย ไม่ได้อยู่ช่องเดียวกับผู้สมัคร
  • ประกาศ กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น : ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 1 ทั้งจากพรรคเพื่อไทย, ไทยสร้างไทย และชาติพัฒนากล้า ไม่มีชื่อพรรคต้นสังกัดในช่องเดียวกับผู้สมัคร เนื่องจากชื่อพรรคถูกจัดหน้าแล้วดันไปไว้ในเอกสารหน้าถัดไป โดยชื่อพรรคทั้ง 3 ไปปรากฏเหนือภาพผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยศรีวไลย์

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุเมื่อ 27 เม.ย. ว่า เมื่อประชาชนสอบถามกับทางสถานทูตสุล ได้รับการแจ้งว่าเป็นเทมเพลตสำเร็จรูปจาก กกต. และสถานทูตไม่สามารถแก้ไขได้

เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส. ที่ส่งถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร พบว่าชื่อพรรคไม่อยู่ช่องเดียวกับชื่อผู้สมัคร

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย
เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส. ที่ส่งถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร พบว่าชื่อพรรคไม่อยู่ช่องเดียวกับชื่อผู้สมัคร

9. ไม่รายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์

ปิดท้ายที่บทบาทของ กกต. ในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ซึ่งจะไม่มีการรายงานผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์อีกต่อไป หลังระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 15 ก.พ. โดยยกเลิกแอปพลิเคชันรายงานผลอย่างไม่ทางการออก

ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วสาธารณชนจะทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมืองใด และผ่านช่องทางไหน

ในการเลือกตั้ง 2562 กกต. ใช้แอปพลิเคชัน แรพิด รีพอร์ต (Rapid Report) ให้เจ้าหน้าที่กรอกคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง 92,000 หน่วย หน่วยละไม่ต่ำกว่า 70 ข้อมูล แต่ครั้งนี้ กกต. จะนำระบบที่เรียกว่า อีซีที รีพอร์ต (ECT Report) มาใช้แทน

แสวง บุญมี ให้เหตุผลในการยกเลิกการนับะแนนแบบเรียลไทม์ว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากการกรอกคะแนน เพราะคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) มีความเหนื่อยล้าจากการทำงาน 15-18 ชม.” และการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ “มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการกรอกคะแนนได้”

สำหรับกลไกการรายงานผลการเลือกตั้งรอบนี้สรุปได้ ดังนี้ หลัง กปน. นับคะแนนเสร็จ และตรวจสอบความถูกต้องเสร็จแล้ว >> คณะกรรมการรวมคะแนนกรอกข้อมูลลงแบบรายงาน ส.ส. 5/18 และติดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนได้เห็นคะแนนแรก >> เจ้าหน้าทกรอกข้อมูลผลการนับคะแนนลงระบบ ECT Report >> รายงานผลต่อสื่อมวลชนที่เชื่อมต่อกับระบบ ECT Report >> ประชาชนทั่วไปติดตามผลการนับคะแนนผ่านสื่อมวลชน

เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า “จะทราบผลคะแนนว่าผู้สมัครผู้ใด หรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนจำนวนเท่าใด ในคืนวันเลือกตั้งทันที”

อย่างไรก็ตามทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่เกาะติดการเลือกตั้งต่างแสดงความกังวลว่าจะได้รับ “ข้อมูลที่ถูกจัดการ” โดย กปน. ก่อนส่งมาแสดงผลผ่านสื่อมวลชน และตั้งคำถามต่อ กกต. ว่า “มีเจตนาซ่อนเร้นหรือไม่”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว