
ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ ภูมิภาคต่าง ๆ บนภาคพื้นทวีปของโลกราว 38-40% จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่น โดยเข้าสู่ความเป็นเขตภูมิอากาศแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่นพื้นที่เขตหนาวอาจเปลี่ยนเป็นเขตอบอุ่นได้
ทีมนักภูมิอากาศวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร “อนาคตโลก” (Earth’s Future) โดยพวกเขาลงมือวิเคราะห์ข้อมูลภูมิอากาศล่าสุด แล้วนำไปเปรียบเทียบกับแผนที่ของ Köppen-Geiger ซึ่งแบ่งเขตภูมิอากาศโลกออกเป็น 5 เขต ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19
- เซ็นทรัลลดราคาครั้งใหญ่สูงสุด 80% ทั้งศูนย์-ห้าง-ออนไลน์ ยาว 2 เดือน
- อ.เจษฎา เฉลยแล้ว แมวตกตึกชั้น 6 รอดมาได้ เกิดจากสาเหตุอะไร
- LH Bank ออก 2 แคมเปญเงินฝาก ออมสั้นรับดอกเบี้ยสูง
ทีมผู้วิจัยระบุว่า ที่ผ่านมาแผนที่ดังกล่าวได้รับการปรับปรุงหลายครั้งให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละยุค เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเกษตร รวมทั้งความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแต่ละเขตภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่า พื้นที่ซึ่งมีภูมิอากาศแบบเขตร้อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเดิม 23% ไปเป็น 25% ของผืนทวีปทั้งหมด ภายในปี 2100 ส่วนพื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทรายจะครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่มีอยู่ 31% ไปเป็น 34% ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้
เขตภูมิอากาศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเขตหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบขั้วโลกทั้งเหนือและใต้รวมทั้งซีกโลกเหนือ เนื่องจากพื้นที่ 89% ของยุโรปและอีก 66% ของอเมริกาเหนือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเขตภูมิอากาศแบบอื่นได้ภายในอีก 77 ปีข้างหน้า ส่วนทวีปแอฟริกานั้นจะยังคงอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบเดิม แต่จะเกิดความผันผวนของสภาพอากาศบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น

ล่าสุด องค์การบริหารกิจการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) แถลงว่าปรากฏการณ์เอลนีโญสุดร้อนแรงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในไม่ช้านี้ โดยมีความเป็นไปได้ 90% ที่จะมาถึงภายในเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม และจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อย
ปรากฏการณ์เอลนีโญจะนำมาซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งยิ่งขึ้นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยในปีนี้โนอาพยากรณ์ว่ามีโอกาส 55% ที่จะเกิดเอลนีโญแบบรุนแรง ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าอุณหภูมิที่ผิวน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกต่างร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกรงกันว่าปัจจัยนี้จะส่งผลให้ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบใหม่มีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว