เลือกตั้ง 2566 : พิธานำตั้งรัฐบาล 8 พรรค มั่นใจ “ผ่าน” ด่านโหวตนายกฯ แก้ ม. 112 “ต้องจบในเอ็มโอยู”

4 วันนับจากเลือกตั้ง 8 พรรคการเมืองประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่ยังสงวนท่าทีต่อนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล

“จุดยืนเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 คิดว่าก่อนเลือกตั้ง มีดีเบต มีพูดคุยกันเยอะแล้ว พื้นที่นี้คงไม่เป็นพื้นที่ที่จะบอกอะไรในการ clarify (ชี้แจง) เพราะคิดว่าทุกพรรคได้ชี้แจงจุดยืนไปแล้ว” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนแทนพรรคพันธมิตรทางการเมือง ในระหว่างเปิดแถลงข่าว วันนี้ (18 พ.ค.)

นายพิธาเป็นผู้อ่านคำแถลงจัดตั้งรัฐบาล “ประชาธิปไตยของประชาชน” โดยให้คำมั่นว่า “รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน” และ “จะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน” โดยมีสาระสำคัญ 3 ข้อ

ทุกพรรคเห็นชอบสนับสนุนให้หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นนายกฯ คนที่ 30 ตามเสียงข้างจากผลการเลือกตั้งของประชาชน

ทุกพรรคร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงการแนวทางการทำงานร่วมกัน วาระรjวมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณชน 22 พ.ค. นี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบางเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยความเคารพในเสียงข้างมากของประชาชน

พรรค ก.ก. และพรรคพันธมิตร ประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการนัดแรกวานนี้ (17 พ.ค.) เพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งรัฐผสม ภายหลังนายพิธานำพรรคสีส้มชนะเลือกตั้ง ด้วยยอด ส.ส. 152 เสียง และมีคะแนนมหาชน 14.2 ล้านเสียง

นายพิธาประกาศตัวเป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย” และทยอยต่อสายถึงหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อส่งเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาล โดยครั้งแรก ได้ส่งเทียบเชิญไป 5 พรรค พร้อมระบุตัวเลขที่นั่งในสภาไว้ 309 เสียง (ต่อมาพรรค ก.ก. ได้เพิ่ม 1 เสียง) ก่อนดึงพรรคจิ๋วเข้าร่วมรัฐบาลเพิ่มเติมเติมอีก 2 พรรค 3 เสียง รวมเป็น 313 เสียง คิดเป็น 62.6% ของสมาชิกทั้งสภาล่าง 500 คน

พิธา

Thai News Pix

 

สำหรับรัฐบาลผสมเบื้องต้น 313 เสียง ภายใต้การนำของพรรค ก.ก. ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล (152 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง) และพรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง) คิดเป็น 62.6% ของสมาชิกทั้งสภาล่าง 500 คน

อย่างไรก็ตามในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ใช้แต่เสียง ส.ส. เท่านั้น แต่ ส.ว. ยังมีอำนาจร่วมโหวตด้วย และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา หรือ 376 เสียง จาก 750 เสียง นั่นทำให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องหาเสียงสนับสนุนอีกอย่างน้อย 66 เสียง

ทว่ากว่าจะไปถึงขั้นตอนนั้น มี 2 ประเด็นหลักที่ดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล หนีไม่พ้น 1. คุณสมบัติของนายพิธา ซึ่งขณะนี้มีคำร้องกรณี “ถือหุ้นสื่อ” ค้างอยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองบางส่วนคาดว่า กกต. น่าจะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนเปิดประชุมสภานัดแรก และ 2. นโยบายเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรค ก.ก. บรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

บีบีซีไทยได้ตั้งคำถาม-ตรวจสอบท่าทีจากแกนนำ 8 พรรคการเมืองในทั้ง 2 ประเด็นนี้

จุดยืนต่อการแก้ไข ม. 112 ของพันธมิตรก้าวไกล

ในขณะที่พรรค ก.ก. และพันธมิตร เดินหน้ารวบรวมเสียงสนับสนุนในรัฐสภาตลอด 4 วันที่ผ่านมา ปรากฏว่า พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งมี 70 ที่นั่งในสภา ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนของพรรค ค่ำวานนี้ (18 พ.ค.) ว่า “ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” และ “ไม่สามารถลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 ได้”

แถลงการณ์ของพรรค ภท. ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 ระบุด้วยว่า การเรียกร้อง ข่มขู่ กดดันต่อพรรค ภท. จะไม่มีผลให้พรรคเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์และจุดยืนได้ และประกาศ “พร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน” หากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 ประสบผลสำเร็จ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพิธากล่าวเพียงว่า เป็นเรื่องของพรรค ภท. แต่ 8 พรรคมีความชัดเจน เป็นเอกภาพ และมีจุดยืนร่วมกัน

“เรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 ทุกพรรคตกผลึกแล้ว ไม่มีอะไรน่ากังวลใจ”นายพิธา กล่าว

ด้านหัวหน้าพรรคแนวร่วมของก้าวไกลต่างสงวนท่าที-งดให้ความเห็นต่อการแก้ไขมาตรา 112 สรุป “วรรคทอง” ของแต่ละคนได้ ดังนี้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับ นพ. ชลน่าน ศรีน่าน หารือกันในระหว่างแถลงข่าว

Thai news Pixพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับ นพ. ชลน่าน ศรีน่าน หารือกันในระหว่างแถลงข่าว

 

พรรคเพื่อไทย : ม. 112 “ต้องจบในเอ็มโอยู”

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. ขอให้รอดูเนื้อหาเอ็มโอยู วันที่ 22 พ.ค. ซึ่งมาตรา 112 จะอยู่ในนั้นด้วย ทว่าเขาออกตัวว่า เอ็มโอยูจะเป็น “ข้อตกลงร่วมกัน” แต่ “ไม่ใช่ข้อผูกมัด”

“มาตรา 112 ก็จะอยู่ในเนื้อหาเอ็มโอยู มันก็จะเป็นคำตอบตรงนั้น ถ้าเราลงนามในเอ็มโอยูร่วมกัน นั่นหมายความว่ามันมีข้อสรุปที่ตกลงจบแล้ว ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขตามที่เราเสนอให้พรรคก้าวไกล ถึงขั้นตอนนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลตอบไปแล้ว จึงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้เราไม่ร่วมกันในมาตรา 112 เพราะมีข้อตกลงร่วมที่ทุกคนเห็นทางออกได้” นพ. ชลน่านกล่าว

หัวหน้าพรรค พท. ย้ำว่า อะไรเป็นเงื่อนไข และข้อจำกัดที่จะต้องตกลงพูดคุยกันได้ ก็ต้องให้จบในเอ็มยู แต่ถ้าไม่จบ มันก็ต้องมีทางออก “เราก็จะแถลงว่าเราจะมีกลไกทำเรื่องนั้นได้อย่างไร เช่น มาตรา 112 ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นต่างกันเยอะเลย”

พรรคไทยสร้างไทย : ย้ำจุดยืนปกป้องสถาบันฯ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ทสท. ย้ำจุดจุดยืนเดิมเรื่องมาตรา 112 ที่เคยพูดไว้ทุกเวทีว่า หน้าที่ของทุกพรรคการเมืองคือต้องรักษาตามรัฐธรรมนูญ รักษาชาติ ศาสน์ กษัตริย์

“การทำอะไรแล้วไปเกิดการกระทบ และทำให้สถาบันฯ เกิดความเสื่อมเสีย หน้าที่ของทุกพรรคต้องปกป้อง” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตามหัวหน้าพรรค ทสท. เห็นว่า การที่ผู้มีอำนาจใช้มาตรา 112 มากลั่นแกล้งหรือทำร้ายบุคคลอื่น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและนำมาดู แต่การทำให้มาตรา 112 ปกป้องสถาบันฯ ได้อย่างดี และไม่เป็นเครื่องมือให้กับใครที่มีอำนาจในการไปทำร้ายคนอื่น เป็นสิ่งที่เป็นหลักการ

“ส่วนการลงรายละเอียดว่าแต่ละคนอาจมีจุดยืนแตกต่างกัน พรรคไทยสร้างไทยก็อาจมีจุดยืน พรรคเสรีรวมไทยก็มีจุดยืน ต้องคุยกันในมาตรานี้ และทุกนโนบาย ต้องคุยกัน ไม่ใช่แค่มาตรา 112 อย่างเดียว” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ

รบ.กก.

Thai News Pix

 

พรรคเสรีรวมไทย : “ยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบคำถามนี้”

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรค (สร.) ไม่ได้เอ่ยถึงคำว่ามาตรา 112 ในระหว่างการแถลงข่าว โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบคำถามนี้

“วันนี้เรามีประเด็นเพียงว่ามาประกาศร่วมกัน 7-8 พรรค สนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกฯ เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่น ๆ ยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบคำถามของท่าน (ผู้สื่อข่าว) ถึงแม้จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันแล้ว เราก็ต้องทำงานรวมกัน ถ้ามีแนวทางใดร่วมกันได้ก็คงสนับสนุนเต็มที่ แต่ถ้ามีปัญหาบางสิ่งบางอย่าง มีบางประเด็นที่ท่านอาจจะต้องถามขึ้นมา เราก็ต้องคิดทบทวน” พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์กล่าว

พรรคประชาชาติ : ม. 112 ไม่เป็นปัญหา “เพราะใช่สิ่งที่ทำเร่งด่วน”

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ปช. เป็นอีกคนที่ไม่ได้แสดงจุดยืนเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบนเวทีแถลงข่าว

แต่เขาตอบข้อซักถามของบีบีซีไทยในภายหลังถึงปัญหาในการจัดรัฐบาลไม่ได้ เพราะเงื่อนไขเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ว่า “คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน แต่คงอยู่ในเอ็มโอยู และต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้มันเป็นไปได้”

พรรคเป็นธรรม : การอ้าง ม.112 ไม่โหวตให้พิธา “เป็นสิ่งที่ไม่สมควร”

นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค ปธ. กล่าวว่า ประเด็นมาตรา 112 พรรคมีจุดยืนและเคยประกาศต่อสาธารณชนไปแล้ว ทุกอย่างจะได้ไปตกผลึกกันในเอ็มโอยู

เขายังให้ความเห็นกับบีบีซีไทยเพิ่มเติมว่า นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ก.ก. “ไม่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ตั้งรัฐบาลไม่ได้ การอ้างเรื่อง 112 เป็นเงื่อนไขในการไม่โหวตให้คุณพิธา เป็นสิ่งที่ไม่สมควร มันเป็นมติมหาชน มันคนละเรื่อง”

หัวหน้าพรรค ปธ. มองว่า กฎหมายทุกฎหมายสามารถแก้ไขได้ แม้แต่รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญยังแก้ไขได้เลย “รัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายอาญา ทำไมกฎหมายอาญาจะไขไม่ได้”

วันนอร์

EPA/ วันมูหะมัดนอร์ มะทา (ขวา) กล่าวว่า “เราไม่อาจอยู่กับปัญหาเดิมได้ จะชอบใครรักใครไม่ว่า แต่ต้องรักประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นปัญหาจะเป็นแบบเดิม”

โรดแมปหาแนวร่วมอีก 66 เสียงในรัฐสภา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของก้าวไกล ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว. และว่าที่ ส.ส. บางส่วนแสดงความไม่สบายใจ และประกาศ “งดออกเสียง” หรือ “ไม่ลงมติให้” สนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ ซึ่งอาจนำไปสู่เงื่อนตายทางการเมือง นั่นหมายถึง พรรค ก.ก. ชนะเลือกตั้ง แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

นายพิธาไม่ได้เปิดเผยโรดแมปในการหาเสียงสนับสนุนอีก 66 เสียง เพื่อให้ชนะโหวตกลางรัฐสภา-ได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 โดยให้เหตุผลว่า “313 เสียงในวันนี้คือความเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตยที่เพียงพอ การที่เราต้องมานั่งคิด หรือบอกว่าได้ 376 เสียงโดยการต้องตามหาเพิ่มเติมยังไม่จำเป็น ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อาจมีฉากทัศน์ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไม่ถึง จึงให้กรอบเจรจาเพื่อหาตัวเลขที่สมดุล เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีความเสี่ยง และเสถียรภาพของรัฐบาล”

8 พรรคการเมืองร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน 2 ชุดคือ คณะกรรมการเจรจาการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่ประเมินฉากทัศน์และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้ รวมถึงพูดคุยกับ ส.ส. พรรคอื่น และ ส.ว. ส่วนอีกชุดคือ คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประชาชน

“ยืนยันว่าผ่าน” และ “มั่นใจว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้” นายพิธา วัย 42 ปี กล่าว

8 พรรคการเมือง มีเสียงในสภารวมกัน 313 เสียง

Thai News Pix/ 8 พรรคการเมือง มีเสียงในสภารวมกัน 313 เสียง

“ไม่กังวล” คุณสมบัติพิธา ปมถือหุ้นสื่อ

ส่วนปมปัญหาคุณสมบัติของนายพิธา จากกรณีถือถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น ซึ่งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค พปชร. ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รวมถึงรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

แคนดิเดตนายกฯ จากพรรค ก.ก. บอกว่า ไม่กังวล

ส่วนหัวหน้าพรรคแนวร่วมฯ เพียงคนเดียวที่พูดถึงประเด็นนี้คือ นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ ที่กล่าวว่า พรรค ก.ก. แล้วนายพิธาจะผ่านวิกฤตได้ ด้วยการให้ความเป็นธรรมแก่นายพิธา

“ขอความกรุณา กกต. ด้วยว่าให้พิจารณาอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐาน หลักเกณฑ์ และมีมาตรฐานสากลที่คนยอมรับ” เขากล่าว

“ฉันทามติประชาชน”

ในระหว่างการแถลงข่าว หัวหน้าพรรคต่าง ๆ ยืนยันว่าจะร่วมมือจัดตั้ง “รัฐบาลของประชาชน” ให้สำเร็จ โดยหัวหน้าพรรค พท. บอกว่า “ให้ยืนยันเป็นครั้งที่ 100 500 หรือ 600 ก็ยอม”

เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรค ปช. ที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้ง ส.ส. ส.ว. และสื่อมวลชน เคารพต่อการตัดสินใจของประชาชน เพื่อไม่ให้ประเทศติดกับดักปัญหาเดิม

ก่อนหน้านี้ แกนนำพรรค ก.ก. และพรรคพันธมิตรอ้างถึง “ฉันทามติประชาชน” ในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อบีบีซีไยตรวจสอบคะแนนมหาชนของ 8 พรรค พบว่ารวมกันราว 26.6 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 67% ของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 39.2 ล้านเสียง

ในจำนวนนี้เป็นคะแนนของ ก.ก. 14.2 ล้านเสียง (คิดเป็น 36.23%) และพรรค พท. 10.8 ล้านเสียง (คิดเป็น 27.6%)

ขณะที่ฟากฝั่งพรรคขั้วรัฐบาลเดิม 4 พรรคหลัก ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.), พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีคะแนนมหาชนรวมกัน 7.1 ล้านเสียง คิดเป็น 18% ของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

หมายเหตุข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว