โควิด-19 : 1 ก.ค. ไทยเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

BBC Thai คนวิ่ง
ที่มาของภาพ, Getty Images

วันที่ 1 ก.ค. 2565 ประเทศไทยกำหนดให้โรคโควิด-19 สู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) มีผลให้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลายลง แต่ยังไม่ใช่ระยะของการเป็นโรคประจำถิ่น ตามการยืนยันของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโรคเกิดขึ้น แต่อาจมีเป็นคลัสเตอร์ขึ้นมาบ้างแล้วลดลงไป ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ

สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุขชุดใหม่ในระยะหลังการระบาดใหญ่ เป็นไปตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) เมื่อ 17 มิ.ย. ให้ผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและการเดินทางเข้าประเทศ โดยให้มีผลในวันที่ 1 ก.ค.

ปรับพื้นที่สีเขียว 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 2

การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรโดยให้มีผล 1 กรกฎาคม 2565 พื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ โดยมาตรการการใส่หน้ากากอนามัย แม้เป็นไปตามสมัครใจ แต่คำแนะนำของ ศบค.ระบุว่า ควรสวมหน้ากากและให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิด หรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก

ส่วนการบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามปกติตามที่กฎหมายกำหนด นั่นคือ สามารถเปิดได้ถึงเวลา 02.00 น. ส่วนมาตรการคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่

ส่วนโรงแรมที่มีนักท่องเที่ยวพักอาศัย จากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น.นั้น ได้มีการปลดล็อกแล้ว

นอกจากนี้ ยังผ่อนปรนการถ่ายรายการ ถ่ายภาพยนตร์ ทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์

ยกเลิก Thailand Pass ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 มาตรการเข้าประเทศสำหรับคนไทยและคนต่างชาติ ไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass

อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางเข้าไทยยังต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดส หรือผลตรวจ RT-PCR หรือผลตรวจ ATK ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และไม่ต้องมีประกันสุขภาพ

get

ที่มาของภาพ, Getty Images

ถอดหน้ากากอนามัยอย่างสมัครใจ แต่มีบางสถานที่ยังให้ใส่อยู่

ข้อกำหนดของ ศบค. เรื่องผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 46 ให้การสวมหรือถอดหน้ากากให้เป็นตามความสมัครใจ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในบางสถานที่ นอกจากนี้ หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่ดูแลบริการสาธารณะ ต่างก็ออกมาประกาศมาตรการของตัวเองเช่นกัน

สำหรับสถานที่ที่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย ได้แก่

  • สถานที่นอกอาคารที่แออัด (ตามราชกิจจานุเบกษาผ่อนปรน)

– ให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด

– มีการรวมกลุ่มคนจํานวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬาหรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ

ส่วนสถานที่ภายในอาคาร ให้สวมหน้ากาก

  • บนเครื่องบิน

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศผู้โดยสารเดินทางเข้าไทย ต้องสวมหน้ากากอนามัยระหว่างอยู่บนเครื่องบิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565

  • รถไฟฟ้าบีทีเอส

เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารส่วนรวม รถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงกำหนดให้มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการใช้บริการ

  • โรงเรียน/สถานศึกษาที่เป็นที่ปิด

น.ส. ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุกรณีนี้เมื่อ 24 มิ.ย. ในส่วนของสถานศึกษายังให้ยึดแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากจัดการเรียนการสอนในสถานที่ปิดก็ยังจำเป็นจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่

แต่หากมีการจัดกิจกรรมในที่โล่งแจ้งก็สามารถผ่อนปรนการสวมหน้ากากได้

รมว.ศธ.กล่าวว่าการกำหนดมาตรการเช่นนี้ เนื่องจากกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้

ยกเลิกรักษาผู้ติดเชื้อโควิดแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และฮอสปิเทล แต่ให้รักษาตามสิทธิ

จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวสิ่งที่จะยกเลิก คือ การรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation-HI) และฮอสปิเทล แต่จะปรับให้มาใช้ระบบการรักษาตามสิทธิ์สำหรับผู้ใช้บัตรทองและประกันสังคม

สำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ระบบ HI จะถูกยกเลิกในวันที่ 1 ก.ค. ส่วนประกันสังคมมีผล 4 ก.ค. ปรับการรักษาเป็นรูปแบบ “เจอ แจก จบ” สำหรับผู้ป่วยนอกเช่นเดิม

ผู้ป่วยสีเหลือง ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ยกเลิก UCEP Plus เดิมที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใดก็ได้ ให้มารักษาตามสิทธิ โดยแนวทางการรักษาจะให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในของโรงพยาบาล

ผู้ป่วยอาการสีแดงที่วิกฤต ยังสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาแห่งใดก็ได้ตามเดิม

……..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว