นายกรัฐมนตรีอังกฤษ : ทำความรู้จัก ริชี สุนัค และ ลิซ ทรัสส์ และนโยบายสำคัญ

หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน ถูกสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขากดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ทางพรรคต้องคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งผู้ชนะจะได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายจอห์นสันในวาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ไปโดยปริยาย

ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ผ่านด่านการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคคอนเซอร์เวทีฟหลายรอบจนเหลือ 2 คน สุดท้ายได้แก่ นายริชี สุนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หนึ่งในรัฐมนตรีที่ระบุว่าไม่ไว้วางใจนายจอห์นสันและได้ลาออกไป และนางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน

ลิซ และ ริชี

ที่มาของภาพ, PA Media

แต่ผู้ที่จะชี้ชะตาของพวกเขาทั้ง 2 คนในการลงคะแนนรอบสุดท้าย คือสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 160,000 คน หรือคิดเป็น 0.3% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดในสหราชอาณาจักร โดยจะมีการประกาศผลวันที่ 5 ก.ย. นี้

อดีตรัฐมนตรีคลังวัย 42 ปีได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐมนตรี และเขาก็ยืนกรานว่า จะไม่ลดภาษีจนกว่าจะควบคุมเงินเฟ้อได้ ต่างจากบรรดาคู่แข่งของเขา ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศวัย 47 ปี ผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง และมีนโยบายหลายข้อที่ตรงข้ามกับนายสุนัคอย่างสิ้นเชิง

นโยบายของลิซ ทรัสส์

กราฟิก
  • ประกาศว่า จะยกเลิกการปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม (National Insurance) ของสหราชอาณาจักร หลังจากมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน เม.ย.
  • รับปากว่า จะยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีแผนจะปรับขึ้นจาก 19% เป็น 25% ในปี 2023
  • จะระงับสิ่งที่คนรู้จักกันในชื่อ “อากรสีเขียว” (green levy) ซึ่งหมายถึงภาษีสิ่งแวดล้อม ที่เป็นส่วนหนึ่งของค่าพลังงานที่ประชาชนต้องจ่าย เงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
  • ระบุว่า จะตัดลดค่าใช้จ่ายลงด้วยการขยายระยะเวลาการชำระ “หนี้โควิด” ของสหราชอาณาจักรให้นานขึ้น
  • สัญญาว่า จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยเหลือคนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกหรือญาติที่สูงอายุ
  • ต้องการสร้าง “เขตที่เก็บภาษีต่ำและมีกฎเกณฑ์น้อยลง” ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างศูนย์กลางวิสาหกิจและนวัตกรรม
  • ระบุว่า จะไม่ตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลง ถ้ายังไม่มีหนทางที่จะทำเช่นนั้นได้ เพื่อที่จะไม่นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ในอนาคต
  • จะตั้งเป้าการใช้งบกลาโหมที่ 2.5% ของจีดีพีในปี 2026 และจะตั้งเป้าการใช้งบกลาโหมใหม่เป็น 3% ในปี 2030

นโยบายของ ริชี สุนัค

กราฟิก
  • รับปากว่า จะลดภาษี “เมื่อเราควบคุมเงินเฟ้อได้แล้ว” แต่ไม่บอกว่าเมื่อไร
  • รับปากว่า จะตัดลดภาษีเงินได้ลงก่อนสิ้นสุดการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป
  • เขารับปากด้วยว่า จะยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บอยู่ 5% ในค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือนเป็นเวลา 1 ปี สำหรับครัวเรือนทั่วไปหากค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงเกิน 3,000 ปอนด์
  • ระบุว่า การตกลงการจ่ายค่าตอบแทนในหน่วยงานของภาครัฐควรจะเป็นการตัดสินใจขององค์กรตรวจสอบการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นอิสระ
  • เขาปรับขึ้นเงินนำกองทุนส่งประกันสังคม1.25 เพนนีต่อปอนด์ เพื่อใช้จ่ายในการดูแลสังคมและสาธารณสุข แต่ก็มีการปรับขึ้นระดับเงินได้ของผู้ต้องที่ต้องเริ่มจ่ายเงินนำส่งนี้เป็น 12,570 ปอนด์ต่อปีด้วย
  • ประกาศแผนการขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% ในเดือน เม.ย. ปี 2023
  • สัญญาว่า จะรักษาการใช้งบประมาณกลาโหม และบอกว่า เราควรจะมองการใช้จ่ายขั้นต่ำ 2% ของจีดีพีในปัจจุบัน “เป็นพื้นไม่ใช่เพดาน”

ริชี สุนัค คือใคร

นายสุนัค รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเมื่อ ก.พ. 2020 และหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ก็ต้องบริหารเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในช่วงที่เริ่มมีการล็อกดาวน์และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยเขาได้มีโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดมูลค่ารวม 350,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 15.5 ล้านล้านบาท) ทำให้คะแนนนิยมในตัวเขาพุ่งสูงขึ้น

นายสุนัค เคยถูกตำรวจปรับจากการละเมิดกฎล็อกดาวน์ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเมื่อ มิ.ย. 2020

Rishi Sunak

ที่มาของภาพ, Getty Images

เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ไม่เห็นด้วยกับพรรคคอนเซอร์เวทีฟบางส่วนตั้งคำถามว่า นักการเมืองมหาเศรษฐีผู้นี้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัญหาค่าครองชีพที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่หรือไม่

ในเดือนเดียวกันนั้นเองที่นายสุนัคและครอบครัวของเขาเผชิญกับการตรวจสอบทางการเงินอย่างเข้มข้น ทำให้เรื่องภาษีของอัคชาตา มูรตี ทายาทมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นภรรยาของเขา ถูกเปิดเผย

ในเวลาต่อมา เธอประกาศว่า เธอจะเริ่มจ่ายภาษีให้แก่สหราชอาณาจักรจากรายได้ที่มาจากต่างประเทศ เพื่อบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อสามีของเธอ

ทางพรรคเลเบอร์ได้ตั้งคำถามหลายข้อเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของเขา รวมถึง นายสุนัคเคยได้รับประโยชน์จากการใช้ประเทศหรือดินแดนที่ไม่มีการเก็บภาษีหรือเก็บภาษีต่ำหรือไม่

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ระบุว่า เขาได้รับประโยชน์ โดยมีรายงานที่อ้างว่า เขาเป็นผู้รับผลประโยชน์จากทรัสต์ที่อยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จินและหมู่เกาะเคย์แมน ในปี 2020 โฆษกของนายสุนัค ระบุว่า พวกเขา “ไม่ยอมรับ” ข้อกล่าวอ้างเหล่านี้

ริชี สุนัค เสิร์ฟอาหารให้ลูกค้า

พ่อแม่ของนายสุนัค อพยพมาจากแอฟริกาตะวันออก ทั้งคู่เป็นคนเชื้อสายอินเดีย ตัวเขาเกิดที่เมืองเซาแธมป์ตันในปี 1980 ซึ่งพ่อของเขาเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner – GP) และแม่ของเขามีร้านขายยาของตัวเอง

เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ (Winchester College) โรงเรียนเอกชน และทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารในเมืองเซาแธมป์ตันช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จากนั้นเขาก็ได้เข้าเรียนด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

ในช่วงที่เขาเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เขาได้พบกับอัคชาตา มูรตี ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นบุตรสาวของนารายณ์ มูรตี เศรษฐีพันล้านชาวอินเดียและผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านให้บริการไอที ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน

ปี 2001-2004 นายสุนัค เป็นนักวิเคราะห์ที่โกลด์แมนแซคส์ และต่อมาได้เป็นหุ้นส่วนในเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง

คาดกันว่า เขาเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่รวยที่สุด แต่เขาไม่เคยพูดถึงความมั่งคั่งของตัวเองอย่างเปิดเผย

ตั้งแต่ปี 2015 เขาเป็น ส.ส. ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเมืองริชมอนด์ มณฑลยอร์กเชียร์ และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลของนางเทรีซา เมย์ ก่อนที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนต่อมา จะแต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในเดือน ก.ค. 2019 เป็นการตอบแทนที่เขาให้สนับสนุนนายจอห์นสันอย่างแข็งขัน

ริชี สุนัค

ที่มาของภาพ, HM Treasury

จากนั้นเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเดือน ก.พ. 2020 หลังจากที่นายซาจิด จาวิด ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพราะปัญหาภายในทำเนียบรัฐบาล แต่เมื่อไม่นานนี้ นายสุนัคก็ได้ลาออกและบอกว่า เขารู้สึกว่า แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของตัวเองแตกต่างจากของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน มากเกินไป

นายสุนัค รณรงค์ให้ประชาชนลงมติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และลงมติสนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิตของนางเมย์ทั้ง 3 ครั้งที่ถูกนำเข้าสภา

เขาเคยให้สัมภาษณ์บีบีซีในปี 2019 เกี่ยวกับภูมิหลังของเขาว่า “พ่อแม่ของผมอพยพมาที่นี่ คุณมีคนรุ่นที่เกิดที่นี่ พ่อแม่ของพวกเขาไม่ได้เกิดที่นี่ พวกเขามาประเทศนี้เพื่อมาสร้างชีวิต”

นายสุนัค นับถือศาสนาฮินดู ไม่ดื่มเหล้า และไปวัดทุกสุดสัปดาห์ เขาเคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีในปี 2019 ว่า เขาโชคดีที่ไม่ได้เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติมากนักในช่วงที่เติบโต แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เขาจำได้ไม่เคยลืม

“ผมออกไปข้างนอกกับน้องสาวและน้องชาย ผมน่าจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นกลาง ๆ เราไปที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่ง และผมก็กำลังดูแลน้อง ๆ อยู่ มีคนที่นั่งอยู่ไม่ไกลพูดคำที่หยาบคายออกมาคือ คำที่ขึ้นต้นด้วยตัวพี (ตัว P มาจากครับว่า Paki ซึ่งในอังกฤษเป็นคำที่ใช้เหยียดคนที่มาจากเอเชียใต้) นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเจอเหตุการณ์เช่นนี้” นายสุนัค กล่าว

ลิซ ทรัสส์ คือใคร

ตอนอายุ 9 ขวบ ลิซเคยสวมบทเป็นมาร์กาเรต แทตเชอร์ ในละครของโรงเรียน แต่ที่ต่างไปจากนายกรัฐมนตรีของคอนเซอร์เวทีฟที่ชนะได้ครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปในปีต่อมาผู้นี้คือ ลิซไม่ประสบความเสร็จเช่นนั้น

Liz Truss

ที่มาของภาพ, Reuters

ละครที่เธอเล่นมีฉากที่ต้องเลือกตั้งด้วย และในปี 2018 นางทรัสส์ เล่าว่า “ฉันคว้าโอกาสนั้นไว้ และได้กล่าวสุนทรพจน์อย่างจริงใจที่การปราศรัย แต่สุดท้ายไม่มีใครลงคะแนนให้เลย แม้แต่ฉันก็ไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง”

39 ปีต่อมา เธอกำลังคว้าโอกาสและดำเนินรอยตามสตรีเหล็กผู้นี้ในชีวิตจริง ในการเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และนายกรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ต้องแข่งขันกับอดีตรัฐมนตรีคลังตลอดช่วงฤดูร้อนนี้

บรรดาบริษัทรับพนันต่างให้นางทรัสส์เป็นต่อในการชนะการแข่งขันนี้ โดยเธอได้ใช้เวลานานหลายปีในการสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมเขตเลือกตั้งต่าง ๆ และยังคงภักดีต่อนายบอริส จอห์นสัน ในวันที่มืดหม่นที่สุดในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขา แต่เธอก็ไม่ใช่คนในแบบเดียวกับสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟทั่วไปในหลาย ๆ ด้าน

แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ เกิดในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 1975 เธอเคยพูดถึงพ่อของเธอซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และแม่ของเธอซึ่งเป็นพยาบาลว่า เป็น “ฝ่ายซ้าย”

ตอนที่ยังเป็นเด็กสาว แม่ของเธอเข้าร่วมการเดินขบวนของกลุ่มเรียกร้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการตัดสินใจของรัฐบาลแทตเชอร์ที่อนุญาตให้มีการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่กรีนแฮม คอมมอนทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร

ลิซ ทรัสส์ ได้เป็น ส.ส. ในปี 2010

ที่มาของภาพ, PA Media

ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่เมืองเพสลีย์ ทางตะวันตกของเมืองกลาสโกว์ ตอนที่นางทรัสส์อายุ 4 ขวบ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เมืองลีดส์ ซึ่งเธอได้เข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นของรัฐที่นั่น

นางทรัสส์ได้เข้าเรียนด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และทำกิจกรรมด้านการเมืองของนักศึกษา โดยตอนแรกเธออยู่ฝ่ายลิเบอรัล เดโมแครต

ในการประชุมของพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ปี 1994 เธอได้กล่าวสนับสนุนการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ โดยได้บอกแก่บรรดาผู้ร่วมประชุมในเมืองไบรตันว่า “เราชาวลิเบอรัล เดโมแครต เชื่อในโอกาสสำหรับทุกคน เราไม่เชื่อในคนที่เกิดมาเพื่อปกครอง”

ในช่วงที่อยู่ที่อ็อกซ์ฟอร์ด นางทรัสส์ได้ย้ายจากฝ่ายลิเบอรัล เดโมแครต มาอยู่ฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟ

หลังจากจบการศึกษา เธอทำงานเป็นนักบัญชีที่บริษัทเชลล์ (Shell) และบริษัทเคเบิล แอนด์ ไวร์เลส (Cable & Wireless) เธอได้แต่งงานกับฮิว โอเลียรี ซึ่งเป็นนักบัญชีเช่นเดียวกันในปี 2000 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 คน

นางทรัสส์เคยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเมืองเฮมสเวิร์ธ ของเวสต์ ยอร์กเชียร์ ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2001 แต่เธอแพ้การเลือกตั้ง นางทรัสส์ยังแพ้เลือกตั้งอีกครั้งในเมืองคาลเดอร์ วัลเลย์ ซึ่งอยู่ในเวสต์ ยอร์กเชียร์ เช่นเดียวกันในการเลือกตั้งปี 2005

ลิซ ทรัสส์ ร่วมแถลงข่าวกับนายเซอร์ไก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะมีการบุกยูเครน

ที่มาของภาพ, EPA

แต่ความทะเยอทะยานทางการเมืองของเธอก็ยังไม่หมดไป เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาของกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนในปี 2006 และตั้งแต่ปี 2008 เธอก็ได้ทำงานเป็นรองผู้อำนวยการของรีฟอร์ม (Reform) สถาบันวิจัยที่เอนเอียงมาทางฝ่ายขวา

นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้ให้นางทรัสส์อยู่ในบัญชีผู้สมัครที่มีความสำคัญลำดับแรก ๆ ในการเลือกตั้งปี 2010 และเธอก็ได้รับเลือกให้ลงเลือกตั้งในเขตที่เป็นฐานเสียงของพรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่าง เซาท์ เวสต์ นอร์ฟอล์ก ซึ่งเธอได้คะแนนมากกว่า 13,000 เสียง

ในปี 2012 สมาคมเขตเลือกตั้งของพรรคคอนเซอร์เวทีฟพยายามจะขับเธอออก หลังจากมีการเปิดเผยว่า เธอมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับนายมาร์ก ฟีลด์ เพื่อน ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เธอยังเคยร่วมเขียนหนังสือเรื่อง Britannia Unchained (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า เกาะอังกฤษที่ไร้พันธนาการ) ซึ่งได้แนะนำให้ถอดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของรัฐออก เพื่อกระตุ้นบทบาทของสหราชอาณาจักรในระดับโลก ทำให้เธอเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของฝ่ายนโยบายตลาดเสรีในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

ในเดือน ก.ย. 2012 เพียง 2 ปี หลักจากที่ได้เป็น ส.ส. เธอได้เข้าร่วมรัฐบาลในฐานะ รมช. ศึกษา เธอขัดแย้งกับนายนิก เคลกก์ รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคลิเบอรัล เดโมแครต เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา แต่นายคาเมรอน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เลื่อนตำแหน่งให้เธอเข้ามาร่วมในคณะรัฐมนตรีในปี 2014 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม

ในการลงประชามติเบร็กซิตในปี 2016 นางทรัสส์ อยู่ฝ่ายสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป โดยเคยเขียนลงหนังสือพิมพ์เดอะซันว่า เบร็กซิตจะทำให้เกิด “โศกนาฏกรรม 3 อย่าง คือ กฎเกณฑ์มากขึ้น รูปแบบมากขึ้น และความล่าช้าที่มากขึ้น เมื่อต้องขายสินค้าให้สหภาพยุโรป” แต่เมื่อฝ่ายที่เธอสนับสนุนแพ้ เธอก็เปลี่ยนใจ โดยบอกว่า เบร็กซิต ให้โอกาสในการปรับเปลี่ยนการทำงานของสิ่งต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร

Liz Truss

ในปี 2016 เธอได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยของเทรีซา เมย์ ปีต่อมาเธอได้เป็น รมช. คลัง กำกับดูแลกรมสำคัญและโครงการเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาล

หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2019 นางทรัสส์ถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เธอต้องพบกับผู้นำทางธุรกิจและการเมืองระดับโลกจำนวนมากเพื่อส่งเสริมบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหราชอาณาจักร

ในปี 2021 ขณะอายุ 46 ปี เธอได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อาวุโสที่สุดในรัฐบาล แทนนายโดมินิก ราบ ซึ่งถูกนายจอห์นสันย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นอกจากนี้ เธอยังมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ถือสัญชาติอังกฤษและอิหร่าน 2 คน ที่ถูกอิหร่านควบคุมตัวไว้

ในตอนที่รัสเซียบุกยูเครนในเดือน ก.พ. เธอมีท่าทีที่แข็งกร้าว ยืนกรานว่า ควรผลักดันกองกำลังทั้งหมดของวลาดิเมียร์ ปูติน ออกไปจากยูเครน

แต่เธอเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากแสดงการสนับสนุนคนจากสหราชอาณาจักรที่ต้องการไปร่วมรบในยูเครน

ในขณะที่เธอพยายามจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร เธอก็ถูกคนมองว่า พยายามแต่งตัวคล้ายกับนางแทตเชอร์ด้วย ในการเดินทางเยือนรัสเซียและระหว่างการเข้าร่วมการดีเบตเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง

“มันค่อนข้างน่าหงุดหงิดที่นักการเมืองหญิงถูกเปรียบเทียบกับมาร์กาเรต แทตเชอร์ อยู่เสมอ ขณะที่นักการเมืองชายไม่ถูกเปรียบเทียบกับ เท็ด ฮีธ บ้างเลย” นางทรัสส์ กล่าวกับ จีบี นิวส์ (GB News)

ริชี และ ลิซ บนเวทีดีเบต

ที่มาของภาพ, Reuters

ใครคือ ผู้ชี้ชะตา

ผู้สมัครที่เหลืออยู่ 2 คนสุดท้ายจะต้องพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกพรรคสนับสนุนตัวเองในการปราศรัยต่าง ๆ ที่จัดขึ้นทั่วประเทศระหว่าง 28 ก.ค. – 31 ส.ค. โดยจะปิดรับบัตรลงคะแนนที่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 2 ก.ย. และจะมีการประกาศชื่อผู้ชนะในวันที่ 5 ก.ย. นี้

พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ไม่เปิดเผยจำนวนที่แน่นอนของคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนในรอบสุดท้าย แต่มีจำนวนมากกว่า 160,000 คน หรือราว 0.3% ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร

งานวิจัยระบุว่า สมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟไม่ต่างจากสมาชิกพรรคการเมืองขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่มักจะมีผู้สูงอายุ, ชนชั้นกลาง และคนขาวในสัดส่วนที่มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

กราฟิก

 

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว