ไฟดูด ไฟรั่ว ฝนตก น้ำท่วม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ไฟดูด ไฟรั่ว น้ำท่วม เสาไฟฟ้า

เหตุการณ์นักเรียน 5 คนในจังหวัดอุดรธานีถูกไฟดูด เป็นอีกหนึ่งบทเรียนการป้องกันตัวจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ไฟดูดในช่วงฤดูฝน

วันที่ 18 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์นักเรียน 5 คนในจังหวัดอุดรธานี ถูกกระแสไฟฟ้าดูด 2 จุด เมื่อเวลาประมาณ 5 โมงเย็น วันศุกร์ที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา นำมาสู่คำถามและการเตือนภัยเรื่องกระแสไฟฟ้ารั่วในช่วงฝนตกน้ำท่วมอีกครั้ง

แม้ว่าเหตุการณ์ที่อุดรธานีครั้งล่าสุด จะมีสาเหตุจากกระแสไฟฟ้ารั่วบริเวณเสาไฟฟ้า ซึ่งยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุดรธานี แต่หากช่วงฤดูฝนมีน้ำท่วมขังจะปฏิบัติตัวอย่างไร

เว็บไซต์ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ให้คำแนะนำว่า

1.กรณีน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง ก่อนน้ำท่วมภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน ให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้า และสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูง หรือที่ปลอดภัยที่น้ำจะท่วมถึง

2.ถ้าเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง ให้ปลดสวิตช์ (เบรกเกอร์เมน) ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง และปลดเบรกเกอร์ย่อยลงให้หมด

3.กรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบน โดยให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าจะปลดสวิตช์ที่ชั้นล่างให้เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือช่างไฟฟ้า เพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง

4.กรณีบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิตช์ไฟด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอาจอยู่เหนือระดับน้ำ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ที่สำคัญ ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมห้ามใช้งานเด็ดขาด

5.ควรอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายในพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 1-2 เมตร เพื่อความปลอดภัย

6.หากพบเห็นสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้มหรือสายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ อย่าเข้าใกล้หรือสัมผัส ให้รีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือสายด่วน กฟภ. โทร. 1129 เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการแก้ไข

7.พบผู้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้า หรือตัวนำที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย

  • ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยางหรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนา แล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือใช้ผ้าคล้องหรือให้ผู้มีความรู้ด้านไฟฟ้าปลดสวิตช์ จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล
  • หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง ให้หลีกเลี่ยงและรีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ หรือสายด่วน กฟภ. โทร. 1129 โดยเร็วที่สุด
  • อย่าลงไปในน้ำ กรณีมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง หาวัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้าเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้น หรือแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จึงค่อยช่วยผู้ประสบอันตราย

5 อันตรายฤดูฝน

ด้านเว็บไซต์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แนะข้อควรระวังอันตรายจากหน้าฝน 5 ด้าน ได้แก่

1.อันตรายจากโรคติดต่อ เพราะเป็นช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ความเย็นความชื้นที่มากับฝน จะทำให้ร่างการอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดโรคต่าง ๆ ได้

2.อันตรายจากอุบัติเหตุจราจร ฝนตกถนนลื่นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เมื่อต้องใช้รถใช้ถนน ควรตรวจสภาพรถยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ชะลอความเร็วรถให้ช้ากว่าปกติ และทิ้งระยะห่วงจากรถคันหน้าให้มากขึ้น

3.อันตรายจากไฟฟ้าช็อต ถ้ารู้สึกมือเปียกน้ำ หรือมีความชื้น ไม่ควรสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปลั๊กไฟ หรือสวิตช์ไฟ เพราะอาจทำให้เกิดไฟฟ้าชอร์ตได้ และควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟให้อยู่ในสภาพร้อมใช้งานเสมอ

4.อันตรายจากฟ้าผ่า เมื่อฝนตกไม่ควรอยู่กลางแจ้ง หรือใต้ต้นไม้ เพราะอาจเสี่ยงถูกฟ้าผ่าได้ และไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือในที่โล่งแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งนำไฟฟ้าทุกชนิด

5.อันตรายจากสัตว์ร้าย ควรหลีกเลี่ยงการเดิน หรือเข้าไปในพื้นที่รกร้าง เพราะเป็นที่อยู่ของสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น