แกร็บ มาร์ท จุดพลุ “ควิกคอมเมิร์ซ” พลิกตำราแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส

แกร็บ มาร์ท จุดพลุ “ควิกคอมเมิร์ซ”

แกร็บ มาร์ท เผย ตลาดของสดออนไลน์มีผู้แข่งน้อยราย โอกาสโตสูง ชูจุดเด่น “ควิกคอมเมิร์ซ” ซื้อส่งใน 25 นาที ตอบโจทย์ของสด เล็งขยายพาร์ตเนอร์โชว์ห่วย-ร้านขนาดเล็ก

วันที่ 22 กันยายน 2565 นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจแกร็บมาร์ท แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยปัจจุบัน แกร็บมาร์ทครอบคลุมพื้นที่การให้บริการใน 68 จังหวัด และมีร้านค้าพันธมิตรรวมกว่า 15,000 สาขา

หากย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้ รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (e-Conomy SEA Report 2021) ระบุว่า ในปี 2564 ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า

รวมถึงตลาดที่เรียกว่า Quick Commerce ที่แม้ความนิยมและมูลค่าตลาดอาจจะยังไม่สามารถเทียบเท่ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรืออีมาร์เก็ตเพลสได้ แต่ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของสดและของชำ (Online grocery) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเข้าถึง (penetration rate) หรืออัตราการซื้อสินค้าประเภทนี้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพียง 2% เท่านั้น ทำให้มีโอกาสสร้างการเติบโตได้อีกมาก

“หากลองเปรียบเทียบจะเห็นว่าอีมาร์เก็ตเพลสหรืออีคอมเมิร์ซ จะไม่สามารถซื้อขายของสดได้ และต้องการโกดังเก็บสินค้า เพราะกว่าของจะถึงลูกค้าก็หนึ่งถึงสามวัน แต่แกร็บมาร์ท ใช้แค่เพียงของหน้าร้าน ซึ่งอาจเป็นตึกแถวเล็ก ๆ ไม่ต้องใช้โกดังก็สามารถนำสินค้าไปส่งผู้ใช้ได้ ทำให้เราเหมาะกับของสดและของชำที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย”

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก เมื่อต้องเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันแบบออนดีมานด์ นั่นคือ 1.การมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกสรร 2.การจัดส่งที่รวดเร็ว และ 3.ราคาที่เข้าถึงได้

“ในช่วงแรก แกร็บมาร์ท จะมีร้านค้า grocery ที่เป็นห้างร้านชั้นนำ ต่อมาได้มีการขยายไปยังร้านค้าขนาดเล็ก โชห่วย รวมถึงตลาดสด ทำให้มีสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุม แม้กระทั่งตะปูยังมีในแกร็บมาร์ท ประกอบกับโปรโมชั่น หรือแคมเปญการตลาดของห้างทำให้มีส่วนลดหรือข้อเสนอดี ๆ อยู่บนแอปให้ผู้ใช้ได้เลือก ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดคือ อัตราการส่งของเฉลี่ยของแกร็บมาร์ทอยู่ที่ 25 นาที จากจำนวนไรเดอร์กว่าแสนราย ทำให้ไรเดอร์สามารถรับออเดอร์ได้ในระยะทาง 3 กม. ทำให้ความรวดเร็วในการใช้แอปและขนส่งแบบควิกคอมเมิร์ซตอบโจทย์สินค้า grocery”

น.ส.จันต์สุดายังกล่าวเสริมด้วยว่า แกร็บต้องการสร้างระบบการใช้งานทั้งหมดให้เร็วขึ้น ตั้งแต่การส่งคำสั่งไปร้านค้า เตรียมของ จ่ายเงิน จนถึงการส่งคำสั่งให้ไรเดอร์

“เพื่อตอบโจทย์ความเป็นควิกคอมเมิร์ซ เราอยากจัดการระบบทั้งหมดให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะไม่ไปบีบพาร์ตเนอร์นักขับหรือไรเดอร์ต้องทำเวลา ความเร็วเฉลี่ย 25 นาทีนี้เป็นการจัดการระบบ”

แกร็บมาร์ท บริการสั่งซื้อสินค้าแบบออนดีมานด์จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าทั่วไป ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทย ในช่วงไตรมาสสองของปี 2563

เนื่องจากเป็นบริการที่ช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหาความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย และความรวดเร็วในการจัดส่งแบบทันที ประกอบกับอิทธิพลจากสถานการณ์โควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค

“ในปีนี้ แกร็บยังเตรียมเดินหน้าขยายพันธมิตรและการเข้าถึงสินค้าไปยังกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ร้านขายของชำในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้แพลตฟอร์มของแกร็บในการเข้าถึงฐานลูกค้าในวงกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขาย และขยายโอกาสในเชิงธุรกิจให้กับกลุ่ม MSMEs ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ GrabForGood ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคม” น.ส.จันต์สุดากล่าวทิ้งท้าย