สุพัฒนพงษ์ เผย ปตท.สผ. พบแหล่งเก็บคาร์บอนใต้ดินแม่เมาะ-อ่าวไทย

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

“สุพัฒนพงษ์” เผย ปตท.สผ. พบ 2 แหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญ “แม่เมาะ-อ่าวไทย” ขอเวลาสรุปผลการศึกษา 90 วัน คาดสิ้นปีเป็นของขวัญให้คนไทยและโลก มุ่งเป้าสู่เป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero)ปี 2050 ย้ำไทยต้องลดนำเข้าแก๊ส-น้ำมันให้ได้ ปักธงเป็นศูนย์กลางฐานผลิต EV

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา หัวข้อ “พลังงาน : วาระโลก-วาระประเทศไทย 2023” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่าวาระโลกตอนนี้คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายลดโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2050 ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ ขณะนี้ไทยได้สำรวจพบแหล่งที่จะใช้กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ขนาด 7,000 ล้านตัน ใน 2 พื้นที่คือ อ่าวไทยและแม่เมาะ

จากการศึกษาเบื้องต้นเมื่อสำรวจแล้วเป็นโพรงและใช้ได้ จึงมอบหมายให้ ปตท.สผ. เร่งสรุปแผนศึกษาภายใน 90 วัน เพื่อเป็นของขวัญให้คนไทยและโลก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในการมุ่งไปสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ขณะเดียวกัน หากไทยทำได้เร็วกว่าเป้า จะทำให้ภาคธุรกิจก็จะเข้ามาหาแหล่งตั้งฐานผลิต และไทยจะได้อุตสาหกรรมดี ๆ ใหม่ ๆ แห่งอนาคตเข้ามา

สำหรับสถานการณ์ด้านพลังงาน ปัจจุบันราคาพลังงานยังคงผันผวนด้วยเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต รัฐบาลพยายามแก้วิกฤตด้วยการลดการนำเข้าแก๊สธรรมชาติลงให้ต่ำกว่า 30% ที่เคยทำมา พยายามหาแหล่งใหม่และพลังงานอื่น ๆ ที่มาทดแทน เพราะแนวโน้มราคาพลังงานยังไม่คงที่ เช่น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมันยังมีมาตรการที่รัฐพยายามประคับประคองให้เศรษฐกิจไม่แย่ไปกว่านี้

นอกจากนี้ รัฐยังเข้าไปช่วยอุดหนุนราคา ส่งผลให้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบกว่า 1.2 แสนล้านบาท กองทุนจึงต้องกู้เงินและทยอยจ่ายเงินคืน นี่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่รัฐพยายามพยุงเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตพลังงานโลก แต่แน่นอนว่าขณะนี้ราคาพลังงานของไทยถูกกว่าเพื่อนบ้าน และอีกสิ่งคือการที่ประชาชนช่วยกันประหยัด ลดการใช้ไฟฟ้า น้ำมัน 20% จะทำให้เหลือเงินนับแสนล้านบาท ยอมลดความสะบายลงก็ช่วยประเทศได้ ขณะที่ภาคเอกชนก็ช่วยในเรื่องของโซลาร์ นี่เป็นทิศทางที่ทุกภาคส่วนช่วยกัน

“เราอยากให้มีบริษัทเอกชนมีพวกสินค้าทางเลือกด้านพลังงานมาก ๆ มีการใช้หลอด LED มีเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนเกิดขึ้น เป็นอีกทางเลือกด้านพลังงานที่จะทำให้เกิดไฟฟ้า แต่ต้นทุนยังแพง เราจึงต้องหาวิธีอื่นเพิ่ม อย่างการเอาไปกักเก็บไว้ใต้ดิน หรือวิธีอื่น ๆ เป็นทิศทางที่โลกกำลังทำ ทุกอย่างมันจะไปรวมอยู่ที่แผนพลังงานชาติ ถ้าเราทำสำเร็จความเป็นกลางทางคาร์บอน มันจะเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงาน”

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตอนนี้เรายังน้ำเข้าน้ำมัน 80-90% ถ้าเราเอาพลังงานอื่นมาทดแทนการนำเข้า อย่างพลังงานไฟฟ้า ชีวภาพ และเรามี สปป.ลาว ที่ผลิตจากเขื่อนไม่แพง มาเสริม พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศก็ทำได้ เราก็ลดการนำเข้าได้ ปัญหาเหล่านี้มันจะได้หมดไป พอไปถึงปี 2050 คนรุ่นหลังจะได้ไปแก้ปัญหาอื่นที่ท้าทายกว่า เราจะแก้ปัญหาคู่ขนานกันไปด้วยการทั้งแก้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ สร้างพลังงานทางเลือกอื่นขึ้นมา

นอกจากนี้ เป้าเราคือ EV เป็นฐาน ศูนย์การผลิตของอาเซียนให้ได้ ขอบคุณ MG โตโยต้า BYD เข้าโครงการรัฐนำเข้ามา และรัฐสนับสนุนราคา ภายใต้เงื่อนไขต้องมาสร้างโรงงานในไทย ยอดผลิตรถ EV ไทยเดือนกันยายน 2565 เติบโต 275% คิดเป็นจำนวนหมื่นกว่าคัน ถือว่าจำนวนมาก

ทั้งนี้ รัฐบาลก็พยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว จนทุกวันนี้ดีขึ้นแล้ว แต่เรื่องพลังงานงานโลกยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะสองขั้วอำนาจมีความคิดที่ต่างกัน ฝั่งหนึ่งก็พยายามลดเงินเฟ้อ และความร้อนแรงเศรษฐกิจในการใช้จ่าย ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเห็นผลให้เกิดการลดใช้พลังงาน จนทำให้ราคาลง ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็โอเปกพลัส หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรเห็นว่าใช้พลังงานลดลง จึงปรับลดการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคากลับขึ้นมา ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยุโรปก็แตก ทำให้ราคาก๊าซเพิ่มอีก จึงกลับเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึง “Road Map พลังงานไทย” ว่าขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่างแผนพลังงานกลุ่มย่อย 5 แผน ตามแนวทางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) หรือพีดีพี ซึ่งจะมีการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คาดว่าแผนย่อยจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อรวบรวมบรรจุไว้ในแผนพีดีพีที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2566 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2566

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) GC หรือจีซี กล่าวในหัวข้อ “ธุรกิจยั่งยืน ปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero” ว่าบริษัทยึดแนวทางสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และมีบรรษัทภิบาลเพื่อความยั่งยืน (ESG) ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

“การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นความท้าทาย การลงทุนขณะนี้มีความเสี่ยง ไม่ง่าย แต่ก็เป็นการลงทุนที่ดี ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับธุรกิจและสังคมในระยะยาว”