ส.ส่งออกข้าวชี้ปีนี้เจอ 2 เด้ง บาทแข็ง-ญี่ปุ่นปรับค่า MRLs

สมาคมผู้ส่งออกข้าวหวั่นส่งออกปีนี้ สะดุด เหตุญี่ปุ่นปรับค่า MRLs ฟอสอีทิล จาก 0.5 Mg/Kg เหลือ 0.01 Mg/Kg บังคับใช้ ต.ค.นี้ แถมค่าบาทแข็ง คาดทั้งปีเหลือ 9.5 ล้านตัน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ปี 2561 วางเป้าหมายการส่งออกข้าว 9.5 ล้านตัน มูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2560 ส่งออกได้ 11.63 ล้านตัน มูลค่า 5,167 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนผลผลิตภายในประเทศคาดการณ์ทั้งปีที่ 30 ล้านตันข้าวเปลือก โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากที่สุดคืออัตราแลกเปลี่ยน โดยเงินบาทแข็งค่ากว่า 3% สูงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม ทำให้ไทยขายข้าวแพงขึ้น 12 เหรียญสหรัฐต่อตัน จึงหวังให้รัฐเข้ามาดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพไม่ผันผวนมากเกินไป และหากปรับให้อ่อนค่าลง เพื่อให้ผู้ส่งออกข้าว และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอื่นที่ได้รับผลกระทบปรับตัวได้ มองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามีผลต่อศักยภาพการแข่งขันการส่งออกข้าวไทย ดังนั้นเพื่อผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวดี ต้องการให้ราคาข้าวไทยใกล้เคียงกับคู่แข่ง หากสูงเกินไปทำให้ไม่สามารถส่งออกข้าวได้ จะส่งผลให้ข้าวเหลือในประเทศมากขึ้น ขณะที่สต๊อกข้าวรัฐตอนนี้ไม่มีแล้ว ไม่เป็นปัจจัยกดดันการส่งออก ความต้องการข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการส่งออกข้าว อีกทั้งคาดการณ์ผลผลิตข้าวในประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียลดลง มีหลายปัจจัยที่ทำให้การส่งออกข้าวไทยดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ปีนี้จะกระทบการส่งออกข้าวไทย จึงต้องติดตามเพราะจะทำให้ไทยมีโอกาสเสียส่วนแบ่งตลาด โดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นจะปรับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่มีได้ในสินค้าเกษตร (MRLs) ของสารฟอสอีทิลจากเดิมอยู่ในปริมาณ 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรับให้เหลือเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งจะบังคับใช้เดือนตุลาคม 2561 ดังนั้นหากกฎหมายใหม่ออกมาแล้วผู้ประกอบการไทยไม่สามารถลดปริมาณตามที่กำหนดได้ จะทำให้ไทยเสียโอกาสในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งต่อปี
ส่งออกปริมาณ 300,000 ตัน มูลค่ากว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้สารดังกล่าวทางสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย ไม่อนุญาตให้ใช้ และยังพบสารอื่นตกค้างในข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และหากไม่มีการปรับปรุงหรือพัฒนาให้ได้คุณภาพ โอกาสที่ไทยจะเสียตลาดข้าวนึ่งมีมาก สำหรับตลาดที่ไทยส่งออกไป เช่น เบนิน แอฟริกา เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่เอื้อการส่งออกไทย เช่น ความต้องการของตลาดโลก เศรษฐกิจขยายตัว สต๊อกข้าวรัฐไม่มี ราคาน้ำมันดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศที่ขายน้ำมันมีรายได้ ผลผลิตของประเทศผู้ผลิตสำคัญลดลง เช่น อินเดีย บังกลาเทศ เป็นปัจจัยที่เอื้อให้การส่งออกเติบโต