ธปท. ชี้เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพพุ่ง ลูกหนี้แบงก์รัฐแห่เข้ามาตรการช่วยเหลือ

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ธปท. เผยตัวเลขหนี้เสียไตรมาส 3/65 ลดลงเหลือ 2.77% หรือ 5 แสนล้านบาท จากไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 2.88% รับเห็นสัญญาณหนี้เสียเพิ่มจากเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เท่าเทียม หลังลูกหนี้แบงก์รัฐกลับเข้ามาตรการช่วยเหลือ 9.8 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 1.05 ล้านล้านบาท เหตุเงินเฟ้อเพิ่ม-กระทบค่าครองชีพ ลั่นเกาะติดกลุ่มเอสเอ็มอี-รายย่อย

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาสที่ 3/2565 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.77% หรือคิดเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาท จากไตรมาสที่ 2/2565 อยู่ที่ 2.88% หรือคิดเป็น 5.3 แสนล้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ทั้งการตัดขายหนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขไส้ในเอ็นพีแอล พบว่าเอ็นพีแอลธุรกิจปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.83% มาอยู่ที่ 2.96% แบ่งเป็น เอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ปรับลดลงจาก 2.09% มาอยู่ที่ 1.88% และเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปรับลดลงจาก 7.01% มาอยู่ที่ 6.78%

ขณะที่เอ็นพีแอลสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่าปรับลดลงทุกพอร์ตสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.48% มาอยู่ที่ 1.66% ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับลดลงจาก 3.38% จากไตรมาสที่ 2/2565 มาอยู่ที่ 3.25% สินเชื่อบัตรเครดิตปรับลดลงจาก 2.68% มาอยู่ที่ 2.46% และสินเชื่อส่วนบุคคลปรับลดลงจาก 2.35% มาอยู่ที่ 2.22%

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลมีทิศทางทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไปต่อไม่ไหว และในกลุ่มที่มาตรการช่วยเหลือของธนาคารจบลง เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่เอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.48% มาอยู่ที่ 1.66% ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยเพียงตัวเดียวที่มีเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากโครงการของธนาคารจบลง อาทิ คืนรถจบหนี้ เป็นต้น แม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะมีไปถึงเดือนเมษายน 2566 ก็ตาม

อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เริ่มส่งสัญญาณปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.26% จากไตรมาสที่ 2/2565 อยู่ที่ 6.09% โดยเห็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่ปรับขึ้นจาก 6.53% มาเป็น 6.75% และกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ยังคงมีความเปราะบางจากการฟื้นตัวไม่เท่ากัน

ซึ่งสอดคล้องกับลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือทางการเงินของ ธปท. ณ เดือนสิงหาคม 2565 พบว่ามีสัญญาณกลับมาขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.98 ล้านล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะช่วงหลังพบว่าลูกหนี้จากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้ามาสู่มาตรการเพิ่มขึ้นเป็น 1.05 ล้านล้านบาท จาก 9.8 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีลูกหนี้เข้าสู่มาตรการเพิ่มขึ้นเป็น 3.88 ล้านบัญชี จาก 3.84 ล้านบัญชี

“ลูกหนี้ในมาตรการพีกเยอะสุดในช่วงเดือน ก.ค. 63 และทยอยลดลง และกลับมาเพิ่มขึ้นไตรมาส 3 ปี’64 ซึ่งเป็นช่วงที่มีล็อกดาวน์เกิดขึ้น พอมาถึงตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการปรับขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าเทียบสถานการณ์จะแย่กว่าปีก่อน แต่ดีกว่าปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึง และยังมีกลุ่มเปราะบาง และอ่อนไหวจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นที่กระทบต่อราคาอาหารและพลังงานที่มีผลต่อครัวเรือนรายได้น้อย


ทำให้แบงก์ชาติต้องจัดมหกรรมแก้หนี้ และขยายโปรดักต์แก้หนี้ เพื่อเพิ่มเอสเอ็มอีเข้ามา และขยายมาตรการออกไปถึงเดือน ม.ค.ปีหน้า รวมถึงยังต้องติดตามความสามารถชำระหนี้ เพราะเรายังมีความกังวลในกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อย และรีเทลที่มีความเปราะบางที่อาจจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น”