ธปท.คุมเพิ่มลีสซิ่งรายใหญ่ ออกเกณฑ์กำกับสะเทือน 2,000 บริษัท

ลีสซิ่ง

“แบงก์ชาติ” สั่งทำเกณฑ์ใหม่กำกับผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งเพิ่ม ป้องกันเอาเปรียบผู้บริโภค ชง ครม.ประกาศใช้ เน้นคุมรายใหญ่เบ็ดเสร็จเกือบ 2,000 บริษัท ที่มีพอร์ต 500 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งเช่าซื้อ “รถยนต์-มอเตอร์ไซค์” สำทับด้วยประกาศ สคบ.คุมเพดานดอกเบี้ย กระทบลีสซิ่งจักรยานยนต์ ประเมินปีหน้าฉุดยอดขายรถใหม่วูบ 3 แสนคัน เหลือทั้งปีแค่ 1.4 ล้านคัน ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง เหตุผู้ประกอบการเช่าซื้อต้องเข้มปล่อยสินเชื่อสกรีนลูกค้ามากขึ้นฟาก “TK” เร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ หันลุยสินเชื่อจำนำทะเบียน-พีโลน

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งการให้คณะทำงานฝ่ายการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (market conduct) จัดทำหลักเกณฑ์ พระราชกฤษฎีกากำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. ….

เพื่อออกมากำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยคาดว่าเนื้อหาหลักเกณฑ์จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ market conduct ประมาณ 95% และที่เหลืออีก 5% จะเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์การจัดทำรายงาน ธปท.

คุมบริษัทมีพอร์ต 500 ล้าน

โดยร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ฉบับดังกล่าวจะควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่มียอดสินเชื่อคงค้างตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป โดยอ้างอิงตามพระราชบัญญัติรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้มาอยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ เนื่องจากกลุ่มนี้มีความพร้อมทางด้านระบบไอที และที่สำคัญ มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ที่มีผลในเชิงต่อระบบและผู้บริโภคค่อนข้างมาก ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแลใกล้ชิด

ขณะที่รายกลางและรายเล็ก ทั้งในส่วนของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ที่มียอดสินเชื่อคงค้างไม่ถึง 500 ล้านบาท กลุ่มเหล่านี้สามารถทำธุรกิจต่อเนื่องไปได้ ซึ่ง ธปท.มองว่า กลุ่มนี้หากเข้าไปกำกับจะเป็นการสร้างภาระให้ผู้ประกอบการ

เนื่องจากกลุ่มนี้มีต้นทุนค่อนข้างสูง ระบบทางด้านไอทีไม่พร้อมมากเมื่อเทียบกับรายใหญ่ ซึ่งหากมีการลงทุนเพิ่มเติมจะเป็นการสร้างภาระและกระทบต่อผลกำไรของบริษัทเหล่านั้นลดลง และอีกด้านจะเป็นภาระให้กับ ธปท.มากเกินไปในการเข้าไปกำกับดูแล รวมถึงกลุ่มนี้ไม่ได้มีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ในระบบอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

ครอบคลุมเช่าซื้อรถยนต์ 95%

ดังนั้น จากหลักเกณฑ์การกำหนดการควบคุมภายใต้กำกับตามยอดสินเชื่อคงค้าง 500 ล้านบาทขึ้นไป จะพบว่า กลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะเข้าไปอยู่ในเกณฑ์ภายใต้การกำกับประมาณ 95% ของระบบ เนื่องจากยอดวงเงินปล่อยสินเชื่อต่อคันค่อนข้างสูง

และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการค่ายผลิตรถยนต์ (captive finance) และบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ เช่น กรุงศรี ออโต้ ที่มีพอร์ตประมาณ 4 แสนล้านบาท โตโยต้า พอร์ตราว 3.5 แสนล้านบาท หรือเอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง ที่มีพอร์ตราว 5-6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

เกณฑ์ใหม่ ธปท.คุม 500 ราย

สำหรับผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ทั้งระบบมีอยู่ประมาณ 2,000 รายทั่วประเทศ โดยประมาณ 500 ราย จะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน และบริษัทลูกของสถาบันการเงิน และที่เหลือจะเป็นผู้ประกอบการสินเชื่อห้องแถวกระจายทั่วประเทศอีกกว่า 1,000 ราย ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างเช่าซื้อรถยนต์ราว 2.2 ล้านล้านบาท

ส่วนผู้ประกอบการเช่าซื้อจักรยานยนต์ทั้งระบบมีค่อนข้างเยอะ โดยแบ่งเป็น ผู้ประกอบการที่อยู่ในสมาคมเช่าซื้อจักรยานยนต์ไทยมีทั้งสิ้น 9 ราย และบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่นอกสมาคมอีกราว 6 ราย หรือคิดเป็น 50% ของทั้งระบบ และส่วนที่เหลืออีก 50% จะเป็นกลุ่มเช่าซื้อจักรยานยนต์ท้องถิ่น หรือ local finance ปัจจุบันมียอดคงค้างทั้งระบบราว 7-8 หมื่นล้านบาท

เช่าซื้อมอ’ไซค์ 12 รายเข้าเกณฑ์

ส่วนกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่คาดว่าจะเข้าอยู่ภายใต้การกำกับจะอยู่ประมาณ 11-12 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ฐิติกร, บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส, บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง, บริษัท ที ลีสซิ่ง และบริษัท ไฮเวย์ เป็นต้น โดยบริษัทเช่าซื้อจักรยานยนต์รายกลางและรายย่อยจะมีพอร์ตเฉลี่ยราวเพียง 50-60 ล้านบาท ส่วนรายใหญ่จะเฉลี่ยหลักหลายร้อยล้านบาท จนถึง 1 หมื่นล้านบาท

เดิมเกณฑ์ทำธุรกิจเช่าซื้อจะไม่มีเรื่องมาร์เก็ตคอนดักต์ (กฎเกณฑ์การให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม) ธปท.น่าจะดึงเรื่องนี้เข้ามาเพิ่มโดยใช้เกณฑ์ของจำนำทะเบียนรถ และกำหนดยอดสินเชื่อว่าใครจะมาอยู่ภายใต้การกำกับบ้าง โดยวงเงิน 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเข้ามาอยู่ในเกณฑ์การกำกับทั้งหมด ส่วนใครไม่ถึง 500 ล้านบาทก็หลุดไป

แหล่งข่าวระบุว่า ธุรกิจที่ไม่เข้าเกณฑ์ในส่วนของรถยนต์น่าจะเป็นกลุ่มเต็นท์รถ หรือเช่าซื้อรถยนต์ห้องแถว ส่วนจักรยานยนต์ตั้งแต่รายกลางและเล็กหลุดหมด โดยเกณฑ์นี้เมื่อ ธปท.ทำแล้วเสร็จ จะเสนอให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจดูถ้อยคำ และคาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายเดือน ธ.ค. 2565 และจะมีการลงราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่ากลางปี 2566 จะมีผลบังคับใช้

ชี้คุมดอกเบี้ยฉุดยอดขายรถใหม่

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ อุปนายกสมาคมธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปี 2566 ภายใต้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2566 โดยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ 3 ประเภท รถยนต์ใหม่ ดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้ว ไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี รวมถึงประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเข้ามากำกับดูแลภายในกลางปี 2566

โดยผลกระทบจากประกาศดังกล่าวมองว่า จะไม่ส่งผลต่อธุรกิจในไตรมาสที่ 4/2565 มากนัก โดยลูกค้ายังคงมีความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์อยู่ ซึ่งคาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์จะยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ทั้งปี 2565 อยู่ที่ 1.65 ล้านคัน

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ผลจากประกาศควบคุมเพดานดอกเบี้ยของ สคบ.อยู่ที่ 23% ต่อปี จะเริ่มเห็นผลกระทบจากลูกค้า 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่มีเอกสารทางการเงินครบถ้วน มีความสามารถในการชำระหนี้ จะเริ่มชะลอการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อรออัตราดอกเบี้ยเพดานใหม่ที่ถูกลงมาอยู่ที่ 23% ต่อปี

และ 2.กลุ่มที่ไม่มีเอกสารทางการเงิน ประวัติการชำระหนี้ หรือกลุ่มอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ และกลุ่มไรเดอร์ส่งสินค้า เป็นต้น กลุ่มนี้มีสัดส่วนค่อนข้างเยอะพอสมควร ประมาณ 60-70% ของฐานลูกค้าทั้งหมด แม้ดอกเบี้ยถูกลง

แต่กลุ่มนี้จะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น หากจะรอช่วงอัตราดอกเบี้ยถูกลงอาจจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากผู้ประกอบการจะเพิ่มความเข้มงวดและคัดกรองลูกค้าในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดลง

ดังนั้น จากภาพรวมจากประกาศดังกล่าวจะส่งผลต่อยอดซื้อรถจักรยานยนต์ในปี 2566 ปรับลดลงราว 3 แสนคัน จากคาดการณ์ยอดขายทั้งระบบจะอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน จะเหลือเพียง 1.4 ล้านคัน และยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (rejection rate) จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการเพิ่มขึ้นจะอยู่กับนโยบายการปล่อยสินเชื่อของแต่ละแห่ง สอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้

ขณะที่แนวโน้มเอ็นพีแอลทั้งระบบควรพยายามรักษาไว้เฉลี่ยไม่ควรเกิน 8% ซึ่งเป็นระดับที่อุตสาหกรรมสามารถรองรับได้ แต่ภาพรวมทั้งระบบในปัจจุบันเฉลี่ยยังอยู่ที่ประมาณ 2-3% ถือว่านโยบายการตัดหนี้สูญ หรือนโยบายการยึดรถ ยังสามารถบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี จากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น คาดว่าจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้

“ยอดขายปี 2566 ตั้งไว้ว่าเศรษฐกิจกลับมาโตได้ ยอดขายน่าจะอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน แต่จากหลังมีเรื่องเพดานดอกเบี้ยเข้ามา ยอดน่าจะลดลงราว 3 แสนคัน เพราะมาตรการคัดกรองสินเชื่อของผู้ประกอบการจะเข้มข้นขึ้น หากลูกค้าที่ไม่มีประวัติหรือเอกสารเลย ต้องวางดาวน์เพิ่ม 10-20% เพื่อป้องกันความเสี่ยง

ขณะเดียวกันจากเกณฑ์การปิดบัญชีก่อนกำหนดจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 60-100% จากเดิมอยู่ที่ 50% ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยทั้งระบบหายไป ซึ่งตรงนี้จะเป็นอีก 1 ตัวที่จะเข้ามากดดันผลตอบแทน หรือ yield ในธุรกิจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ในปีหน้าให้มีความท้าทายมากขึ้น รวมถึงต้องรอดูประกาศของ ธปท.ที่จะเข้ามากำกับดูแลภายในกลางปี 2566 ด้วย” นายมงคลกล่าว

ทิสโก้ ชี้ปีหน้าเข้มเช่าซื้อมอ’ไซค์

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการประกาศควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของ สคบ.นั้นยอมรับว่า ธนาคารได้รับผลกระทบบ้าง โดยต้องปรับระบบงานหลังบ้าน เอกสารสัญญา รวมถึงเครดิตสกอริ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าและเพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566

โดยลูกค้ากลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเป็นกลุ่มลูกค้ารถจักรยานยนต์ที่ขอสินเชื่อรายใหม่ จากการที่การพิจารณาสินเชื่อจะมีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 23% ถือว่าส่วนต่างดอกเบี้ย (มาร์จิ้น) ค่อนข้างบาง

เมื่อเทียบกับขนาดวงเงินสินเชื่อที่มีขนาดเล็ก แต่มีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้แนวโน้มตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อ (rejection rate) จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นในกลุ่มรถจักรยานยนต์

“ปัจจุบันทิสโก้มีพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์ประมาณ 5,000 ล้านบาท ตรงนี้ไม่น่าจะกระทบ เพราะเป็นพอร์ตลูกค้าเดิม สัญญาเดิม ซึ่งโดยเฉลี่ยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 30% แต่ส่วนที่จะกระทบคือ สัญญาการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีหน้า ที่จะต้องกดเพดานดอกเบี้ยลงมา 23% ยอมรับว่าน่าจะกระทบต่อธนาคารเล็กน้อย เพราะดอกเบี้ยแคบลง เราคงต้องเข้มขึ้น ลูกค้ากลุ่มเสี่ยงอาจจะต้องปล่อยไป”

TK ปรับแผนรับ สคบ.คุม ดบ.

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สคบ.ได้ออกประกาศ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 นั้น TK มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ตลอดมา และจะยังคงยึดหลักการดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้เพดานดอกเบี้ยเดียวกัน บริบทการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อยและประชาชนที่มีความต้องการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการแข่งขันของตลาดจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกฎระเบียบใหม่ของราชการ

“สำหรับ TK เราเริ่มปรับการดำเนินงานและเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยได้เตรียมตัวตั้งแต่ก่อนออกประกาศ และเริ่มควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 เพื่อลดต้นทุนทางด้าน credit cost หรือหนี้เสีย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน”

“นอกจากนี้ บริษัทได้เตรียมพร้อมในการเพิ่มบริการใหม่ จากการที่บริษัทได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งบริการใหม่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะกลางและระยะยาวต่อไป” นายประพลกล่าว

ยันชิปชาดกระทบหนักกว่า

นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เปิดเผยถึงแนวโน้มและกระแส พ.ร.บ.ดอกเบี้ยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์ว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมมากนัก ทั้งนี้ต้องรอดูความชัดเจนและรายละเอียดต่าง ๆ ปัจจัยที่กระทบกับตลาดรถจักรยานยนต์จริงยังคงเป็นปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป)

“ชิปขาดมีผลต่อการผลิตมาก ดีมานด์มีแต่ของไม่มี ยิ่งตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากมาตรการผ่อนคลายโควิด การเปิดประเทศตลาดท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ยามาฮ่าเชื่อว่าทุกอย่างจะเริ่มเป็นบวกมากขึ้น”
สำหรับยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งปีประเมินว่าจะโต 13-14% หรือมียอดขายที่ 1.72 ล้านคัน ขณะยามาฮ่าตั้งเป้าว่าจะมียอดขาย 280,000 คัน มีส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 16.5% จาก 16.2% ในปีที่แล้ว

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัท ไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการเรื่องดอกเบี้ยไม่น่าจะส่งผลกระทบกับตลาดรถจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้งาน


รวมทั้งเชื่อว่าผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่ายและไฟแนนซ์เองก็จะต้องพยายามปรับรูปแบบการทำตลาดให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ถ้ากระทบก็แค่ชั่วคราว ต้องยอมรับว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความแข็งแรงและมีดีมานด์อยู่อย่างต่อเนื่อง