ลีสซิ่งโชว์ผลงาน 9 เดือน ฐิติกร กำไรลดฮวบ-เฮงลิสซิ่ง อวดกำไรโต 14%

ลีสซิ่ง ธุรกิจสินเชื่อ เช่าซื้อรถ

ลีสซิ่ง ประกาศงบฯ 9 เดือน “ฐิติกร” กำไรฮวบ แม้รายได้โตตามยอดขายรถจักรยานยนต์ที่ฟื้นมากขึ้น เหตุค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่ม-ตั้งสำรองหนี้ ขณะที่ “เฮงลิสซิ่ง” อวดกำไรโต 14% ขยายพอร์ตสินเชื่อได้ตามเป้า-คุมหนี้เสียอยู่หมัด มั่นใจพอร์ตสินเชื่อในปีนี้เติบโตสู่ 12,600 ล้านบาท

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 3/2565

โดยบริษัทมีรายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 1,484 ล้านบาท ลดลง 2.0% จาก 1,514.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 312.7 ล้านบาท ลดลง 9.5% จาก 345.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2565 รายได้รวม 498.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จาก 476.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 60.1 ล้านบาท ลดลง 53.7% จาก 129.8 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น

โดยบริษัทใช้นโยบายบัญชีตัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวทันทีทั้งจำนวน และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามจำนวนลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการขยายตัวเพื่อเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คุณภาพลูกหนี้ของบริษัทดีขึ้น โดยมีลูกค้าค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 5.9% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับคุณภาพลูกหนี้สิ้นปี 2564

“ด้วยสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น กับสภาพตลาดโดยเฉพาะยอดจำหน่ายรวมรถจักรยานยนต์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 38.7% ทางเราจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินกิจการให้เติบโต 20% ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นางสาวปฐมากล่าว

ทั้งนี้ ตลาดรวมรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไตรมาส 3/2565 มียอดขาย 458,815 คัน เพิ่มขึ้น 38.7% จาก 330,704 คัน ขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ 9 เดือน ปี 2565 มีจำนวน 1,369,531 คัน เพิ่มขึ้น 13.7% จาก 1,204,745 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

ส่วนยอดขายรถยนต์ ไตรมาส 3 ปี 2565 มียอดขาย 206,391 คัน เพิ่มขึ้น 30% จาก 158,740 คัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ 9 เดือน ปี 2565 มีจำนวน 633,694 คัน เพิ่มขึ้น 19.1% จาก 531,931 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

ฐิติกร กำไรลดฮวบ-ค่าใช้จ่ายการตลาดพุ่ง

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,575.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% จาก 3,949.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30.5% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2565

โดยมาจากกัมพูชาเป็นตลาดหลัก มีลูกหนี้รวม 1,236.1 ล้านบาท เติบโต 24% จาก 996.7 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ สปป.ลาว มีลูกหนี้ 158.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.94% จาก 137.6 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา จากนโยบายเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อและสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

เฮงลีสซิ่ง โชว์กำไรเพิ่ม 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน)

บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายพอร์ตสินเชื่อรวมได้ตามแผนที่ 11,272 ล้านบาท ส่งผลดีต่อรายได้รวมทำได้ 1,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% และมีกำไรสุทธิ 253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากศักยภาพการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการแหล่งเงินทุนของประชาชนในท้องถิ่น โดยภายหลังเปิดสาขาครบ 638 แห่งตามเป้าหมายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตโดดเด่นยังอยู่ที่สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถก็ยังขยายตัวได้ดีอีกด้วย

“เราประสบความสำเร็จในการผลักดันพอร์ตสินเชื่อให้ขยายตัวได้ตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วน NPLs ปรับตัวลดลงจากเดิม 3.9% เหลือเพียง 3% ดีกว่าเป้าหมายที่เราวางไว้” นางสุธารทิพย์กล่าว

ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ HENG มั่นใจว่าจะขยายพอร์ตสินเชื่อให้เติบโตตามแผนที่ 12,600 ล้านบาท โดยในปีนี้ บริษัทยังได้มุ่งความสำคัญไปที่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการขยายฐานลูกค้ารายใหม่

รวมถึงตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเดิมเพิ่มขึ้น โดยดิจิทัลแพลตฟอร์มจะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการตรวจสอบยืนยันตัวตนของลูกค้า รวมถึงการเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกค้าใหม่ เข้าถึงการให้บริการได้ง่ายขึ้น ทำให้ HENG ใช้ต้นทุนในการบริหารลดลง สามารถคัดเลือกลูกหนี้ที่มีคุณภาพและจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อเพื่อป้องกันการผิดนัดชำระและ NPLs ให้ดีขึ้นต่อเนื่อง