กระเป๋าสุขภาพ เชื่อมสิทธิเบิกค่าพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลางผนึกกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย ร่วมมือ กรมบัญชีกลาง เชื่อมสิทธิข้าราชการเข้ากระเป๋าสุขภาพแบบเรียลไทม์ ประกาศนำร่องโรงพยาบาล 21 แห่ง ก่อนขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ 1,300 แห่งภายในปี 2567 พร้อมเดินหน้าเชื่อมระบบภาคเอกชนในอนาคต

วันที่ 20 ธันวาคม 2565 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมมือกรมบัญชีกลาง ยกระดับการให้บริการการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และบริการชำระค่ารักษาพยาบาลผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”

โดยข้าราชการสามารถตรวจสอบและเบิกจ่ายตรงได้แบบเรียลไทม์ และให้รองรับผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ภายใต้กรมบัญชีกลาง ทั้งข้าราชการปัจจุบัน ข้าราชการเกษียณอายุ รวมถึงบุคคลในครอบครัว ที่มีอยู่กว่า 4.7 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเชื่อมต่อระบบโรงพยาบาลกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน Application Programming Interface (API)

ทั้งนี้ ธนาคารจะเริ่มเชื่อมระบบกับโรงพยาบาลนำร่องจำนวน 21 แห่ง โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารได้เชื่อมระบบกับ 6 โรงพยาบาลนำร่องที่พร้อมให้บริการได้ในปี 2565 และที่เหลือจะทยอยเชื่อมระบบภายในไตรมาสที่ 1/ 2566 และมีแผนเปิดให้บริการกับอีก 15 โรงพยาบาล

หลังจากนั้นจะทยอยดำเนินการเชื่อมระบบให้ครบถ้วนทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกับกรมบัญชีกลางทั่วประเทศภายในปี 2567 จนครบ 1,300 แห่ง และมีแผนขยายระบบการชำระเงินผ่านบัตรเดบิตและเครดิตต่อไป

ขณะเดียวกัน ธนาคารมีแผนที่จะขยายการเชื่อมต่อระบบบริการดังกล่าวไปสู่ภาคเอกชน โรงพยาบาลเอกชน กระทรวงแรงงาน เช่น ระบบประกันสังคม เป็นต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยอยู่

อย่างไรก็ดี ธนาคารเดินหน้ายกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยพัฒนาระบบ Krungthai Digital Health Platform มาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนงานด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 Ecosystems หลักของธนาคาร

โดยร่วมกับกรมบัญชีกลางและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ยกระดับบริการด้านสาธารณสุขให้กับข้าราชการของประเทศ เชื่อมต่อข้อมูลให้สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแบบเรียลไทม์ผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งเป็น Thailand Open Digital  Platform ที่พัฒนาโดยบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย

สำหรับโครงการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผ่านกระเป๋าสุขภาพนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงกลาโหม สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกันยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขให้กับข้าราชการของประเทศ กรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมโครงการ ในการให้บริการผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยในระยะเริ่มต้น มี 6 โรงพยาบาลนำร่องที่พร้อมให้บริการได้ในปี 2565 ได้แก่

  1. คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  2. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  3. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
  4. โรงพยาบาลสระบุรี
  5. โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  6. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

โดยภายในต้นปี 2566 มีแผนเปิดให้บริการกับอีก 15 โรงพยาบาล ได้แก่

  1. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
  2. โรงพยาบาลบางคล้า
  3. โรงพยาบาลปากช่องนานา
  4. โรงพยาบาลพนมสารคาม
  5. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  6. โรงพยาบาลพุทธโสธร
  7. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
  8. โรงพยาบาลราชวิถี
  9. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  10. โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
  11. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว
  12. โรงพยาบาลสมุทรปราการ
  13. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  14. สถาบันโรคทรวงอก
  15. สถาบันประสาทวิทยา และเตรียมพร้อมขยายการเชื่อมต่อระบบครอบคลุมโรงพยาบาลทั่วประเทศ ภายในปี 2567

“เราได้เปิดบริการเพื่อลดความแออัดของการใช้บริการ แต่การเชื่อมต่ออาจจะต้องใช้เวลา เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมบัญชีกลาง และระบบของสถานพยาบาลเอง ดังนั้น จึงจะเห็นการทยอยขึ้นระบบจนถึงปี’67 สำหรับโรงพยาบาล 1,300 แห่ง”

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า มูลค่าการเบิกจ่ายตรงเฉลี่ยผู้ป่วยนอกเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าในงบประมาณปีหน้าจะครอบคลุมทุกโรงพยาลทั่วประเทศ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 65 กรมบัญชีกลางได้เริ่มทดลองผ่าน 6 โรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย โดยคาดว่าจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับข้าราชการเกษียณอายุ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่มีอยู่กว่า 4.7 ล้านคนทั่วประเทศ