เปิดวิบากกรรมการเมือง ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เคยร้องไห้กับ “ยิ่งลักษณ์”

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ

ชื่อของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ถูกพาดพิงอีกครั้ง นับตั้งแต่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง นัดฟังคำสั่งศาลฎีกา ที่ไม่รับฎีกาคดีใช้อำนาจหน้าที่มิชอบกรณีที่ดินอัลไพน์

ทำให้เขาต้องติดคุกทันที 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2563

ชีวิตของ “ยงยุทธ” เหมือนเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด ทั้งที่มีตำแหน่งสูงสุดในข้าราชการ เคยเป็นทั้งอธิบดี และปลัดกระทรวงมหาดไทย

เมื่อเกษียณอายุราชการ เข้าสู่วงการเมือง ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของพรรคตัวจริง ให้นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อ 7 ธันวาคม 2551 และกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายหลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554

วันที่เขาได้รับตำแหน่ง มท.1 ไม่มีใครทราบความรู้สึกของ “ยงยุทธ” ดีไปกว่าคนในครอบครัว

“ตอนที่ท่านยิ่งลักษณ์ กระซิบบอกคุณพ่อในที่ลับว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี คุณพ่อร้องไห้ พอท่านยิ่งลักษณ์เห็นก็เข้ามากอดแล้วร้องไห้ตามไปด้วย ทั้งสองคนก็ร้องไห้ด้วยกันทั้งคู่ คุณพ่อเดินลงมากอดผมแล้วเริ่มร้องไห้อีกรอบ บอกว่าพ่อได้เป็นรัฐมนตรี ตอนแรกผมคิดว่าจะร้องเพราะเหนื่อยกับการหาเสียงมาก เพราะทุกคนกอดคอกันเหนื่อยด้วยกัน ร่วมหัวจมท้ายหาเสียงด้วยกัน ตื่นตีสี่ครึ่งไปหาเสียง ถ้าคนคนนั้นมีตำแหน่งรัฐมนตรีผมจะร้องไห้ แต่ผมก็ไม่ร้องเลย” กาย วิชัยดิษฐ ผู้เป็นลูกเล่าผ่านประชาชาติธุรกิจ เมื่อปี 2554

ในช่วงที่ “ยงยุทธ” เป็นรองนายกฯ ควบเก้าอี้ รมว.มหาดไทย เขาเปรียบเสมือนแขนขา ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

ทุกภารกิจของ “ยิ่งลักษณ์” ทั้งบนบก บนเรือ บนอากาศ ทั้งใน และนอกราชอาณาจักร จะเห็นเงาของชายผู้นี้ยืนข้างกายตลอดเวลา ประหนึ่งเป็นมือขวาของนายกฯหญิง คอยขับเคลื่อนงานด้านส่วนราชการ

“มันใช้คำว่าภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ตัวเองมีคุณค่า และทำงานสำคัญ ๆ ให้กับแผ่นดิน ก็เหมือนกับคำพูดของ ฯพณฯ ประธานองคมนตรี ที่ให้ทดแทนบุญคุณแผ่นดิน มันก็ต้องภาคภูมิใจ” ยงยุทธ ตอบคำถามการสัมภาษณ์พิเศษ ประชาชาติธุรกิจ เมื่อปี 2554 ที่ว่า เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายงานมากมายขนาดนี้ รู้สึกเหนื่อยหรือไม่

แต่แล้วเขาต้องตัดสินใจ “ทิ้งเก้าอี้” รองนายกรัฐมนตรี และตำแหน่ง มท.1 เมื่อ 28 กันยายน 2555

ภายหลังคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติสอดคล้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดให้ไล่ออกจากราชการ

กรณีเป็นรักษาการปลัดกระทรวง แล้วปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการลงนาม “รับรองการซื้อขายที่ดิน” จำนวน 732 ไร่ ระหว่างวัดธรรมิการามวรวิหาร กับบริษัท อัลไพน์กอล์ฟ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟสปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งเป็นการกระทำตั้งแต่สมัยเป็นอธิบดีกรมที่ดิน

ว่ากันว่า ผลจากการตัดสินดังกล่าว ทำให้เกิดแรงกดดันมากมายภายในพรรคเพื่อไทย จากกลุ่มสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จากกลุ่ม ส.ส.ซีกคนเสื้อแดง และพรรคร่วมรัฐบาล ต่างแสดงพลังกดดันให้รัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรีโดยด่วน

ส่งสัญญาณความต้องการดังกล่าวมาถึงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

รวมถึงนายกฯ “ยิ่งลักษณ์” และ “ทักษิณ ชินวัตร” เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ที่ไม่ต้องการให้กรณีการ “ถูกไล่ออก” จากราชการของ “ยงยุทธ” กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ กลายเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เพราะเข้าข่ายขัดมาตรา 11 แห่ง พ...ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.. 2550 ระบุคุณสมบัติหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรค รองเลขาฯพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค โฆษกพรรค และกรรมการบริหารพรรค ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102 แห่งรัฐธรรมนูญ”

ย้อนกลับไปราว 8 ชั่วโมงก่อนที่ “ยงยุทธ” จะแถลงลาออกจากการเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ต่อหน้ากองทัพสื่อมวลชน ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555

มีโทรศัพท์สายหนึ่งต่อถึง “ยงยุทธ” เนื้อหาการสนทนาเป็นลักษณะให้กำลังใจแก่คนที่กำลังเผชิญเคราะห์กรรม แสนสาหัสครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงาน

สายที่ต่อถึง “ยงยุทธ” ไม่ใช่สายที่โทร.จากในประเทศ แต่เป็นสายที่อยู่ไกลถึงอีกซีกโลกหนึ่ง เป็นสายที่โทร.ตรงมาจากกลางมหานครนิวยอร์ก ปลายสายคนนั้นคือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี

24 ชั่วโมงให้หลัง “ยิ่งลักษณ์-ยงยุทธ” พบกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายกฯหญิงถึงกับเอ่ยปากว่า “เสียดาย”

“ดิฉันรู้สึกเสียดาย เพราะท่านยงยุทธทุ่มเท ทำงานให้คณะรัฐบาล รวมถึงการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ตั้งแต่ร่วมเริ่มทำงานมา

ปี และเรียกได้ว่าท่านก็ไม่ได้ไปไหนด้วยเจตนารมณ์นี้ ถือว่าเป็นความเสียสละของท่าน และเพื่อไม่อยากให้เกิดความกังวลใจ ท่านเองจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะขอพัก ซึ่งเราก็เสียดาย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเคารพการตัดสินใจของท่าน”

นาทีที่ “ยงยุทธ” ประกาศลาออก ที่วัดสระเกศ ภายหลังทำพิธีปัดรังควาน เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “วันนี้เป็นวันสิริมงคล ที่มีสมเด็จพระราชาคณะนับสิบรูป ร่วมสวดชยันโต ผมได้แผ่เมตตาไปยังผู้มีพระคุณ และเจ้ากรรมนายเวร ที่ไม่รู้เป็นเวรเป็นกรรมมาแต่ชาติปางไหนไม่ทราบ”

แต่แล้ววิบากกรรมก็ส่งผลให้เขาต้องติดคุก ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง นัดฟังคำสั่งศาลฎีกา ที่ไม่รับฎีกาคดีใช้อำนาจหน้าที่มิชอบกรณีที่ดินอัลไพน์ โดยศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2563

ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว เมื่อ 11 กันยายน 2563 จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขได้รับการพักโทษ เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ โดยจำคุกนาน 7 เดือน

เวลาผ่านไป 2 ปีเศษ ชื่อของเขาถูกพาดพิงถึงอีกครั้ง หลังห่างพื้นที่การเมืองไปเกือบ 11 ปี …เป็นเวรกรรมแต่ชาติปางไหนก็ไม่อาจทราบได้