จาตุรนต์ เพื่อไทย ประเมินเศรษฐกิจไทย-รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง 2566

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

จาตุรนต์ ฉายแสง คาดการณ์เครื่องมือในการจัดการเศรษฐกิจประเทศไทย หลังเลือกตั้ง 2566 โอกาสและความท้าทาย ของรัฐบาลใหม่

เมื่อพรรคเพื่อไทยปักธงชนะเลือกตั้ง แบบหิมะถล่ม หวังจัดตั้งรัฐบาลกับ “ฝ่ายขั้วใหม่” แต่ปัจจัยชี้ขาดคือ แคมเปญหาเสียงที่จะเป็นเครื่องมือ ในการเปิดประตูไปสู่การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง มีอะไรที่เป็นโอกาส และความท้าทายระหว่างทาง การขึ้นเค้าโครงรัฐบาลใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดบทสนทนาพิเศษ กับ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังเดินเข้าสู่ต้นฤดูการเลือกตั้ง ว่าไม่ควรมองตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจแบบยอมจำนน

นายจาตุรนต์เชื่อว่า ยังมีอะไรที่ทำได้อีกมากที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตเร็วขึ้นทั้งเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยว การฟื้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้ากับการพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางต้องไม่แยกกันเพราะต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

แจกแจงดัชนีเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

อดีตรองนายกรัฐมนตรีและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2023 โดยย้ำว่า รัฐบาลหน้า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด จะต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ เนื่องจากเป็นที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และโตแค่ 2.7% (IMF ปรับตัวเลขล่าสุดเป็น 2.9%) เพราะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนหน้านี้ กลับต้องเจอปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

และซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ส่งผลต่อราคาพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก เมื่อเศรษฐกิจในบางประเทศกำลังเติบโต แต่กลับต้องเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ เมื่อดอกเบี้ยสูง ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามกันไป และส่งผลให้ความต้องการซื้อ (Demand) น้อยลง

เมื่อเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ชะลอตัว ยิ่งทำให้การค้าระหว่างประเทศลดน้อยลง ขณะที่การลงทุนและการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มลดน้อยลง จนกระทบห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีความพิเศษกว่าประเทศอื่น เนี่องจากเศรษฐกิจไทยก่อนหน้านี้เติบโตช้าที่สุดในอาเซียน และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุด

นอกจากนี้ยังฟื้นตัวช้าที่สุดอีกด้วย โดยธนาคารโลก (World Bank) ได้วิเคราะห์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เหลือ 1.7% แต่ตัวเลขที่ประเทศไทยใช้วิเคราะห์ทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ 3% เมื่อเทียบกับหลายประเทศแล้วก็ต่ำกว่า ที่สำคัญคือ 3% ของประเทศไทยนั้นมาจากฐานที่ต่ำ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

แต่ปัญหาคือประเทศไทยมักจะพูดแบบจำยอม คือ “โตแค่ไหนก็แค่นั้น” แต่ไม่พูดว่า จะพยายามให้โตกว่านี้ได้อย่างไร เศรษฐกิจไทยจะโตได้หรือไม่จะโตตามเป้าหมายได้หรือไม่ หรือจะแย่กว่าเป้าหมายที่พูดกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายจาตุรนต์ยอมรับว่า ดัชนีผู้บริโภคสูงขึ้นในช่วงหลัง เพราะการบริโภคที่น่าจะมากขึ้น แต่คนไทยก็บอบช้ำจากสถานการณ์โควิดค่อนข้างมาก ทำให้หนี้สินในครัวเรือนยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี ดังนั้น เป็นไปได้ยากที่จะคาดหวังให้การบริโภคในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ส่วนการลงทุนโดยเอกชนของไทยนั้น ความเชื่อมั่นก็ดีขึ้นบ้าง แต่ยังยากที่จะคาดหวังมาก เพราะต่างก็ล้มและเกิดหนี้สินในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น การลงทุนในประเทศคงไม่ใช่กลไกที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากนัก นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐ ก็มีปัญหามาตลอด ทั้งการเป็นหนี้มหาศาลและใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หากยังทำแบบเดิม เมื่อมีรัฐบาลใหม่มาแต่ไม่แก้กฎหมายงบประมาณรายจ่าย กฎหมายงบประมาณปีหน้าก็จะถูกวางไว้โดยรัฐบาลปัจจุบันนี้

จึงย้ำว่า การเป็นหนี้มากและใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือไม่เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐ จะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหรือช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวและไปสู่การพัฒนาในช่วงต่อไปได้

ขจัดปัญหารีดไถ ก่อนรับนักท่องเที่ยว 27 ล้านคน

นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงการท่องเที่ยวว่า มีการคาดการณ์ว่าจะเข้ามา 20 ล้านคน หรือหากนับนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยก็จะรวมเป็น 27 ล้านคน แต่มีปัญหาที่นักท่องเที่ยวจีน เพราะรัฐบาลไทยไม่มีมาตรการอย่างเหมาะสม แต่กลับใช้หลักเท่าเทียมและเสมอภาคกันทั้งหมด

เมื่อประกาศออกมา นักท่องเที่ยวหลายประเทศก็ไม่มา เพราะเตรียมตัวไม่ทัน ต้องยกเลิก แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวบางประเทศที่เฝ้าระวังผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีน เพราะมองว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน

เรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ แต่ยังมีประเด็นท่องเที่ยวอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ เช่น ต้องป้องกันอาชญากรรมที่เกิดกับนักท่องเที่ยวและล่าสุดก็เรื่องการที่ตำรวจรีดไถนักท่องเที่ยวที่ดังไปทั่วโลก

นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงปัญหาการพัฒนาเมืองรอง โลจิสติกส์ และคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข และจำเป็นต้องมีหลายหน่วยงานร่วมกันแก้ไข ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะตั้งงบประมาณเองไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวนิยมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ แต่ไม่ค่อยได้พัฒนา เพราะไม่มีเงินทุน

ขณะที่เงื่อนไขและกติกาของโรงแรมที่พักในเมืองท่องเที่ยวหลักยังผิดกฎหมายอยู่เกินครึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล หากสิ่งเหล่านี้ ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็จะทำให้การท่องเที่ยวไทยเป็นตัวสำคัญที่สุดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้

นายจาตุรนต์ย้ำอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือการดูแลให้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปถึงประชาชนเป็นวงกว้างมากที่สุด ทั้งเมืองรองและผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เพราะสินค้าต่าง ๆ ในปัจจุบันสามารถซื้อขายทางออนไลน์ได้ จนเกิดการกระจายรายได้ ดังนั้น ต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ผู้ประกอบการธุรกิจบริการและนวดแผนโบราณต่าง ๆ ว่า จะได้ประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไม่ได้คิดถึง แต่รัฐบาลจะต้องคิด

ส่วนเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเฟื่องฟูได้หรือไม่ และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามากจำนวนมากจริงหรือไม่ เมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้ว จะเกิดการใช้จ่ายในประเทศได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย

“สมัยก่อนเวลาเศรษฐกิจไทยโตนั้น ไปเร็ว 7-8% ส่งออกถึง 17-20% แต่ขณะนี้เราพูดถึงการส่งออกของประเทศไทยที่จะโตในปีนี้ 1% ขณะที่เดือนตุลาคมและเดือนธันวาคมที่ผ่านมากลับติดลบ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การส่งออกมีหลายเรื่องที่ประเทศไทยทำได้ และการส่งออกของประเทศไทยดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้อง 1% แต่การส่งออกนั้นต้องการตลาดที่มีข้อตกลงร่วมกัน”

ขณะที่รัฐบาลนี้ไม่ได้ทำ FTA เลย บางประเทศทำไปไกลแล้ว บางประเทศในภูมิภาคนี้ได้ทำกับ EU ไปแล้ว แต่ประเทศไทยไม่ได้ทำกับประเทศใดในช่วง 8 ปีมานี้ นับว่าเป็นการเสียโอกาสครั้งใหญ่ และจากนี้ไปจะทำได้หรือไม่เป็น ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญ

 แก้ปมโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย ลดต้นทุนอุตสาหกรรมใหม่

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ มักจะพูดถึง Supply chain resilience หรือการยืดหยุ่นฟื้นตัวกลับมาสู่สภาพปกติ ซึ่งจะต้องค้นคว้าว่าประเทศอื่น ๆ มีปัญหากันอย่างไร ส่วนประเทศไทยที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนิคมอุตสาหกรรมนั้น มีขีดความสามารถที่จะผลิตอะไร จะสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์และหาโอกาสในการที่เราจะเป็นผู้ผลิตสำคัญได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปสู่ตลาดใหม่ ๆ เมื่อตลาดต้องการ แต่ไทยผลิตไม่ได้ ไทยก็จะไม่สามารถส่งออกได้

ดังนั้น จึงต้องหันมาให้ความสนใจและทุ่มเทกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ คนหรือแรงงานที่มีทักษะ ดังนั้น แรงงานข้ามชาติที่ต้องนำเข้ามา ต้องทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพื่อต้นทุนที่ต่ำลง ไม่ใช่ไปเอาประโยชน์จากแรงงานมากมายอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมกันนี้ ยังต้องพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีและสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถทำการผลิต และทำให้ประเทศไทยส่งออกมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัญหา คือ กฎระเบียบที่มุ่งควบคุมจนเป็นภาระ มีการใช้เจ้าหน้าที่ ใช้ดุลพินิจ รวมถึงการอนุมัติช้า ที่อะไรก็ทำไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยยังพัฒนาเรื่องกฏหมายระเบียบที่ทันสมัยสำหรับเศรษฐกิจแบบใหม่ได้ช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม

นายจาตุรนต์ยังย้ำถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จะต้องจัดการแก้ไขปัญหา การเอาผลประโยชน์ของประชาชนไปใส่กระเป๋าคนนั้นคนนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จะต้องจัดการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าพูดในแง่เศรษฐกิจและธุรกิจ ก็ทำให้เป็นต้นทุนมหาศาลของภาคธุรกิจ

สปีดหายใจรดต้นคอเวียดนาม

การแข่งกับเวียดนาม เป็นประเด็นสำคัญที่วงการธุรกิจ และอุตสาหกรรมรายใหญ่ ใช้เป็นเงื่อนไขในการเปรียบเทียบ แบบชอตต่อชอต นายจาตุรนต์จี้จุดอ่อนนี้ว่า

“อย่าลืมว่า ค่าไฟในประเทศไทยแพงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค กฎระเบียบก็ไม่ได้แก้ ขณะที่ประเทศเวียดนามได้แก้ไขไปนานแล้ว ส่วนทักษะแรงงาน ก็ไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร แล้วยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นอีก โครงสร้างพื้นฐานก็ช้า โลจิสติกส์ต่าง ๆ ก็พัฒนาช้า การลงทุนจากต่างประเทศก็จะน้อย และประเทศไทยในช่วงเศรษฐกิจ 30-40 ปีมานี้ พัฒนาด้วยการใช้แนวความคิดเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม อาศัยการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากมาพัฒนาการส่งออกเป็นหลัก เมื่อไทยมีจุดอ่อนในการผลิตเพื่อส่งออก แล้วเราไม่ทำอะไรเลย มันก็จะยาก”

นายจาตุรนต์ระบุว่า เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ต้องพูดควบคู่กันมีอีกสองเรื่อง คือ 1.ความเหลื่อมล้ำ และ 2.ความยั่งยืน ก่อนเผชิญปัญหาโควิด-19 ประเทศไทยติดอันดับความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรุนแรงมากขึ้นเช่นเดียวกับเวลาเกิดภัยธรรมชาติ

ซึ่งประเทศไทยก็เกิดภัยธรรมชาติบ่อยด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนยากจน รายเล็กรายน้อย แต่คนที่รับผลกระทบน้อยกว่า และฟื้นได้เร็วกว่ามากคือ รายใหญ่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ปรากฎว่า รัฐบาลทำการบ้าน และให้ความสนใจเรื่องนี้มากน้อยอย่างไร

นายจาตุรนต์มองว่า โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ยังเป็นเรื่องว่า จะทำอย่างไรให้รายเล็กรายน้อยได้ประโยชน์มาก จะทำอย่างไรให้เกษตรกรฟื้นตัวขึ้นมาได้ จะทำอย่างไรให้คนหาเช้ากินค่ำ คนทำอาชีพอิสระ คนทำอาชีพรับจ้างได้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่และเชื่อมโยงมากับรัฐบาลอีกแล้ว ดังนั้น รัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้แค่ไหน

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องความยั่งยืน การพัฒนาขีดความสามารถ การพัฒนาคน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่หากไม่ดำเนินการก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะที่ปัญหาสังคมสูงวัย ส่วนตัวเห็นด้วยและคิดว่าจำเป็นจะต้องตระหนักว่า จะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุดของสังคมไทย คือ Productivity ของระบบและคน เมื่อคนทำงานในปัจจุบัน ต้องเลี้ยงผู้สูงอายุในอนาคต ก็ต้องมี Productivity ที่สูงขึ้น

ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องนี้เชื่อมโยมไปถึงปัญหาขยะและพลาสติก และปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เผาพื้นที่ป่าพื้นที่สีเขียว แล้วปลูกให้กลายเป็นพื้นที่เกษตร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ เพราะน้ำจะท่วมมากขึ้น น้ำจะแล้งมากขึ้น ควันมากขึ้น พื้นที่ทำการเกษตรที่มีคุณภาพลดน้อยลง

โลกร้อนจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯและเมืองชายทะเลในไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนที่มีการลงนามในเวทีระดับโลกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น องค์กรที่ติดตามการทำงานของประเทต่าง ๆ เขาได้ติดตามดูการทำงานของไทย ก็พบว่าสอบตกทั้งหมด

“เข้าไปอยู่ในเวทีระหว่างประเทศแล้วก็เด๋อด๋า ไม่รู้จะไปพูดกับใครอย่างไร แต่ที่สำคัญคือต่อไป เขาจะมีมาตรการแบนสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ทั้ง EU ทั้งสหรัฐอเมริกาพูดเรื่องเหล่านี้แล้ว และเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย”

ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องสร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจโต

นายจาตุรนต์ย้ำว่า เศรษฐกิจเช่นนี้ จะแก้ปัญหาด้วยการให้ทุกคนประหยัดอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องสร้างรายได้ แก้ปัญหาหนี้ก็ต้องสร้างรายได้ เศรษฐกิจเติบโตขึ้น มีส่วนแบ่งมากขึ้น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เติบโตอย่างยั่งยืนให้ได้ โดยเชื่อมโยงไปเรื่องการผลจากกับดักรายได้ปานกลาง ถ้าโตแบบปี 2564 จีดีพีต่อหัวของประเทศไทยโตอยู่ที่ประมาณ 1.3% ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 17 ปีรายได้ปานกลาง = รายได้ต่อหัวประมาณ 12,000 เหรียญสหรัฐต่อปี

นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นว่า การทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและพ้นกับดักรายได้ปานกลางในเวลาที่สั้นลงนั้นไม่ควรแยกจากกัน ไม่ควรคิดว่าทำให้รอดก่อนปีนี้ แล้วไปพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อเป็นประเทศรายได้สูงเมื่อไหร่ไม่สนใจนั้นจะ คิดเช่นนี้ไม่ได้ เพราะการแข่งขันต่อไปนี้ ต้องการขีดความสามารถทีสูง ต้องการคุณภาพของคน ของระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมเติบโต ไปรับมือกับโลกข้างหน้า และการแข่งขันที่จะเข้มข้น ตลอดจนรับมือกับสังคมสูงวัย


“เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ต้องย้อนกลับมาที่ว่า การเมืองจะเป็นอย่างไร การเลือกตั้งครั้งนี้ จะสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้หรือไม่”