รัฐสวัสดิการ ปะทะ ประชานิยม 6 พรรค ประชันนโยบายเลือกตั้ง

นโยบายเลือกตั้ง
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

1 ในปัจจัยชี้ขาดชัยชนะเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากกระสุน-กระแสแล้ว คือ ชุดนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่งัดขึ้นมาขายฝัน

นโยบายหาเสียงถูกเปิดตัวออกมาแบ่งออกมาเป็น “สองชุดความคิด” เป็นการปะทะกันระหว่าง “รัฐสวัสดิการ” กับ “ประชานิยม” แต่เป็นการเล่นคำที่แตกต่างไปจากเดิม

สวัสดิการประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐ ของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ชู “อยู่ดีกินดี” และ “ทำได้จริง ไม่ขายฝัน เราฟังเสียงประชาชน”

ภายใต้ 3 พันธกิจ “พลังประชารัฐ” ประกอบด้วย 1.สวัสดิการประชารัฐ 2.เศรษฐกิจประชารัฐ และ 3.สังคมประชารัฐ โดยมีคอนเซ็ปต์ “สวัสดิการประชารัฐ จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”

ช่วงอายุ 0-6 ปี ต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องได้รับการดูแลโภชนาการอาหารครบถ้วน เสริมวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญให้เหมาะสมตามพัฒนาการของวัย เพื่อร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และแข็งแรง

ช่วงอายุ 7-18 ปี สวัสดิการการศึกษาที่มีคุณภาพ จัดสรรโครงการอาหารกลางวันฟรี มีทางเลือกที่หลากหลายในการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม

ช่วงอายุ 18-40 ปี สวัสดิการคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ สวัสดิการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมประกอบอาชีพ เปิดโอกาสให้เรียนฟรี เพื่อเพิ่มทางเลือกของการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงาน โดยเน้นหลักสูตรการเรียนรู้ทักษะอาชีพ

เพิ่มทางเลือกและตอบโจทย์แรงงานสมัยใหม่ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ต่อยอดให้อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ เป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน

ช่วงอายุ 40-60 ปี มุ่งเน้นสวัสดิการสุขภาพ โดยมีหลักประกันสุขภาพที่คุ้มครองและครอบคลุมประชาชนทุกคน และอายุ 60+ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บ้านพัก และสวัสดิการรักษาพยาบาล

สวัสดิการไทยก้าวหน้า

พรรคก้าวไกล ที่มี ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค ชู “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” แบ่งออกเป็น 5 ช่วงวัย 19 นโยบาย ภายใต้ “ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ประกอบด้วย

วัยแรกเกิด อาทิ ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ให้พ่อ-แม่ซื้อสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงลูก เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ศูนย์ดูแลเด็กใกล้บ้านและที่ทำงาน

วัยเติบโต อาทิ เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง คูปองเปิดโลกให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยและนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน

วัยทำงาน อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SMEs 6 เดือนแรก ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ประกันสังคมถ้วนหน้า
เจ็บป่วยได้เงินชดเชยและค่าเดินทางหาหมอ เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพฟรีไม่จำกัด

วัยสูงอายุ อาทิ เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท

ทุกช่วงวัย อาทิ บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง รัฐช่วยผ่อน-จ่ายค่าเช่า น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่ เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ เน็ตฟรี 1GB ต่อเดือน เงินคนพิการเดือนละ 3,000 บาท

สำหรับแหล่งที่มา วงเงิน 6.5 แสนล้านบาท ในปี 2570 มีคอนเซ็ปต์ “มีเงินจ่าย ทำได้จริง” โดยตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น ลดขนาดกองทัพ-เรียกคืนธุรกิจกองทัพ ลดงบฯกลาง ลดโครงการไม่จำเป็น

โดยการจัดเก็บภาษีเป็นธรรมระหว่างทุนใหญ่กับรายย่อย ภาษีก้าวหน้า เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลง ภาษีมั่งคั่งแบบขั้นบันได จากทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท

เพิ่มรายได้แบบแลนด์สไลด์

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เปิดตัวนโยบายเพื่อไทย เพื่อชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ ในงานฟอรั่มนโยบายครั้งที่ 1 ในธีม “พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อรายได้ใหม่ของประชาชน”

โดยมี 1 ใน 3 เสาหลัก คือ นโยบายที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาและทำได้จริงตามที่สัญญาไว้ อาทิ นโยบาย “เงินโอน คนสร้างตัว” โครงการโคขุนเงินล้าน พักหนี้เกษตรกร โครงการบำนาญเกษตรกร รายได้เกษตรกร 30,000 บาท/ไร่/ปี

นอกจากนี้ยังมีนโยบายของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม “1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ ซอฟต์พาวเวอร์” เขตธุรกิจใหม่ 4 แห่ง เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และหาดใหญ่ เรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่าย ตลอดชีวิต

ภายใต้บันได 4 ขั้น บันไดขั้นที่ 1 เพื่อศักยภาพใหม่ของประเทศและประชาชนไทย บันไดขั้นที่ 2 เพื่อรายได้ใหม่ แก้หนี้สินด้วยการเพิ่มพูนรายได้ทวีคูณให้เศรษฐกิจประเทศไทย เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

บันไดขั้นที่ 3 เพื่อสังคมใหม่ ความมั่นคงคือความปลอดภัยของทุกคนอย่างเท่าเทียม และบันไดขั้นที่ 4 เพื่อการเมืองใหม่ ที่หลักนิติรัฐ นิติธรรมเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากประชาชน วุฒิสภาต้องไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐของราชการต้องถูกเปลี่ยนเป็นรัฐของประชาชนอย่างแท้จริง

พรรคเพื่อไทยเวอร์ชั่น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ลดโทนความคิดตามแบบฉบับ เจ้าตำรับนโยบายประชานิยม

ปุ๋ยคนละครึ่ง-บัตรคนจน “สมคิด”

พรรคสร้างอนาคตไทยของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค ปัดฝุ่นสินค้าโอท็อป ให้เป็น “หมู่บ้านโอท็อป” เติมเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 7.6 หมื่นแห่ง

นอกจากนี้ยังพักหนี้เกษตรกร 5 ปี พักต้น-พักดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้-ปลดดอก พร้อมทั้งเติมทุนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

พร้อมขายนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” และต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ “เวอร์ชั่นสมคิด” รวมถึงตั้ง “กระทรวงน้ำ” และทำให้ราคาข้าวหอมมะลิเกินตันละ 1.5 หมื่นบาท

“สันติ กีระนันทน์” รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย-หัวหน้าทีมนโยบายพรรค เฉลยแหล่งที่มาของเงิน-กองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้าน โดย “ไม่ต้องกู้เพิ่ม” และไม่กระทบ “หนี้สาธารณะ” ว่า

ปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณางบประมาณบังคับต้องมีรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 20% ของ 3 ล้านล้าน คือ 6 แสนล้าน

“ผมไปสำรวจดูงบประมาณรายจ่ายลงทุน 6 แสนล้าน ไส้ในแบ่งออกเป็น รายจ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเราไม่แตะ แต่แตะ 3 เรื่อง 1.หมวดการป้องกันประเทศ 2.หมวดความสงบภายในประเทศ และ 3.หมวดการเศรษฐกิจ ซึ่ง 3 หมวดรวมกัน 4.5 แสนล้านบาท จัดลำดับความสำคัญเสียใหม่” หัวหน้าทีมนโยบายพรรคสมคิดกล่าว

เดินตามรอยประชานิยม

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยของ เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคน้องที่เดินตามรอยพรรคพี่-ต้นตำรับประชานิยม อาทิ เบี้ยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 2,000 บาท พักหนี้ประชาชนรายละ 1 ล้านบาท 3 ปี งบฯพัฒนาท่องเที่ยว จังหวัดละ 300-500 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งฟรีทุกจังหวัด

นอกจากนี้ยัง “ย้อนเกล็ด” พรรคประชาธิปัตย์ด้วยนโยบายเกษตรร่ำรวย ด้วยระบบ “คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง” หรือระบบ “เกษตรพันธสัญญา” เพื่อ “รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกันมาชดใช้”

ราคายางต้องไม่ราคา 100 บาทต่อ 3 กก. แต่พรรคมีนโยบายที่จะทำให้ข้าวขาวราคา 12,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทต่อตัน มันสำปะหลัง 4 บาทต่อ กก. ปาล์ม 5 บาทต่อ กก. น้ำยางสด 62 บาทต่อ กก. ยางแผ่น 65 บาทต่อ กก.

ปิดท้ายด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ยังคง “กินบุญเก่า” จากนโยบาย “ประกันรายได้เกษตรกร” กับพืชผลเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จนกระเป๋าฉีก-ทะลุเพดานหนี้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 รวมแล้วกว่า 2.6 แสนล้าน