เปิดประวัติ นพ.พรหมินทร์ ทายใจทักษิณ แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย

ตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคเพื่อไทย ปรากฏชื่อที่ 5 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หลังการเปิดตัว ผู้มีความประสงค์จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในบัญชีเพื่อไทย คนที่ 2 ผ่านไปเพียง 24 ชั่วโมง

ก่อนหน้ามีชื่อบุคคลที่อยู่ในโผแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยแล้วถึง 4 ชื่อ ประกอบด้วย 1.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 2.นายเศรษฐา ทวีสิน 3.นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ 4.นายสุรเกียรติ เสถียรไทย และล่าสุด มีการปล่อยชื่อที่ 5 คือ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย

นายแพทย์พรหมินทร์ วัย 69 ปี (เกิด 5 พฤศจิกายน 2497) ปฏิเสธเส้นทางสวนกุหลาบคอนเน็กชั่นไม่ได้ เพราะเขาคือประธานนักเรียน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี 2515

เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ส่วนตัว ที่สร้างตัวตนจนเป็น นพ.พรหมินทร์ ถึงทุกวันนี้คือ “ความเป็นคนเดือนตุลา” ในโปรไฟล์ที่เคยเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาสวมหมวกเป็นประธานนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ จากนั้นอีก 2 ปี เขาเข้าสู่วงการเมืองในมหาวิทยาลัย ด้วยการรั้งตำแหน่ง เป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล ในปี 2518

เมื่อเข้าสู่การเมืองระดับชาติ เขาสังกัดพรรคไทยรักไทย ใช้ชีวิตเป็นคนใกล้ชิด และได้รับการไว้วางใจจากทั้งประมุขบ้านจันทร์ส่องหล้า และประมุขตึกไทยคู่ฟ้า อย่างทักษิณ ชินวัตร ตลอดทั้ง 2 สมัยต่อเนื่อง

นพ.พรหมินทร์ ในฝ่ายบริหารราชการแผ่นดิน เขาเคยดำรง 3 ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ทั้งในยุครัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 ทั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

แต่ตำแหน่งที่นับว่า นพ.พรหมินทร์ ได้ใช้อำนาจทั้งทางตรง-ทางอ้อมได้มากที่สุด คือการเป็นแว่นในครรลองสายตาของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ “นายกฯน้อย” หรือเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจเต็มมือในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นพ.พรหมินทร์ยุติบทบาททางการเมือง กลับไปร่วมทำงานบริหารกับธุรกิจของตระกูลชินวัตร ทั้งที่โรงพยาบาลพระราม 9 และมหาวิทยาลัยชินวัตร ในตำแหน่งอุปนายกสมาคมและประธานกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยชินวัตร

นพ.พรหมินทร์เคยสวมบทบาทคนจ่ายตลาดความคิด-โครงการ-แผนงานและคำสั่ง ของอดีตนายกฯทักษิณ โดยเป็นผู้กะเกณฑ์ ว่าแต่ละวันต้องคิดว่า นายกรัฐมนตรีจะทำการอะไร จากนั้นก็ไปจัดหาวัตถุดิบมา ซึ่งไม่ใช่การครอบงำ แต่คือการเดาใจและต้องเตรียมให้แม่นให้เร็ว สอดคล้องเข้าทางกันกับนายกฯทักษิณ ที่ นพ.พรหมินทร์ย้ำว่า “เป็นคนคิดไวทำไว”

“ถ้าเปรียบนายกฯทักษิณ เป็นพ่อครัวหัวป่าก์ ผมในฐานะเลขาธิการนายกฯ คือคนจ่ายตลาด ก็ไปหยิบมาให้หมด คิดเลา ๆ ว่าท่านจะทำกับข้าวอะไรบ้าง แล้วก็ไปหาผักมาหาหมูมา บางอันหมูเน่าอย่าเอาเลย หรือหั่นผักเสร็จ ส่วนหนึ่งเอา อีกส่วนหนึ่งปาดท้อง ไม่ใช่ว่าผมโดมิเนต (ครอบงำ) นะ แต่ผมเดาใจคร่าว ๆ ว่าควรมีอะไรบ้าง”

นพ.พรหมินทร์เข้าใจและเข้าถึงทักษิณน่าจะมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะเขาบอกว่า “ผมเตรียมมากกว่าที่ท่านเลือก และต้องเตรียมให้แม่นเพราะท่านทำงานเร็ว ก็ต้องจ่ายตลาดให้ทัน สรุปคือต้องรู้ว่าท่านจะทำอาหารอะไรและต้องปรุงอาหารเป็นด้วย แต่สุดท้ายขึ้นกับท่านว่าจะปรุงอย่างไร”

“ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ความสามารถและมีสติปัญญา คือคนฉลาดมักจะคิดอยู่เสมอว่าตัวเองยังรู้ไม่พอ เมื่อรู้ไม่พอก็จะเปิดรับได้เรื่อย ๆ และท่านเป็นอย่างนั้น ท่านก็จะเลือกระหว่างของดี-ไม่ดี เอา-ไม่เอา อาจจะถูกผิดบ้าง มันธรรมดา” นพ.พรหมินทร์เคยเล่าไว้

เขาเคยได้รับการไว้วางใจสูงสุด ระดับบริหารความลับที่สุด ในคืนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยการ “จัดการเอกสารต้านปฏิวัติ” ในช่วงที่ข่าวลือว่าจะมีการปฏิวัติในทำเนียบ โดยมีการจัดเตรียมเอกสารลับเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามไว้เพียง 3 ชุด ถูกเก็บไว้ในกระเป๋าคน 3 คนเท่านั้น คนแรกคือ อดีตนายกฯทักษิณ คนที่สองรักษาการนายกฯ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.ยุติธรรม และคนที่ 3 คือ นพ.พรหมินทร์

กระทั่งวันที่ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แบบข้ามโลก ถูกรัฐประหารขณะยังไม่ทันได้ขึ้นอ่านสปีชบนเวทีประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐอเมริกา นพ.พรหมินทร์ คือคนสำคัญที่จรยุทธ์ ตั้งแต่ทำเนียบ-กองทัพบก เพื่อปฏิบัติการต้านปฏิวัติ แต่ก็ไม่เป็นผล

เหมือนจะชนะแต่แพ้ เมื่อแผนต้านปฏิวัติของทักษิณและคณะเข้าไม่ถึงเส้นชัย อำนาจของฝ่ายไทยรักไทยถูกถล่มล้มทั้งองคาพยพ พร้อม ๆ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร ส่งสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม น้องเขยทักษิณ และ นพ.พรหมินทร์ นักการเมืองคนสำคัญที่สุดของทักษิณในเวลานั้น เข้าไป “ขังรวม” ในค่ายทหาร กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถูกยึดโทรศัพท์ถึง 12 วันก่อนถูกปล่อยตัว

นพ.พรหมินทร์กลับเข้าสู่วงการเมืองแบบเต็มตัวอีกครั้ง ในช่วงพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้างอำนาจ พลิกเกมด้วย “กลุ่มแคร์” พร้อมกับขุนพลทักษิณอีก 3 ราย คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ภูมิธรรม เวชยชัย และพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล พร้อมดึงนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เคยอยู่เบื้องหน้า-เบื้องหลังไทยรักไทย เข้าสู่ถนนการเมือง มุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง 2566

นพ.พรหมินทร์พูดทีเล่นทีจริง กับผู้สื่อข่าวครั้งหนึ่ง เมื่อเขาถูกถามว่า หลังการเลือกตั้ง 2566 เขาจะอยู่ในตำแหน่งอะไร เขาตอบพร้อมถามย้อนว่า “เป็นอะไรดีล่ะ หรือจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ” สอดคล้องกับแกนนำพรรคเพื่อไทย ระดับแถวแรกใกล้ชิดทักษิณ ชินวัตร ที่เอ่ยชื่อ นพ.พรหมินทร์ หลายครั้งถึงความเหมาะสม ที่จะอยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย

ก่อนหน้านี้ 2 ปี นพ.พรหมินทร์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวาระสำคัญทางการเมืองไว้ในเว็บไซต์ www.the101.world ว่า “การพูดว่า สู้ไปกราบไป ผมคิดว่าเป็นเรื่องข้อกล่าวหา ส่วนเรื่อง 112 ผมตอบแทนพรรคไม่ได้ ผมเป็นแค่สมาชิกพรรค แต่ความคิดส่วนตัวของผมมองว่าถ้าโลกมีการเปลี่ยนแปลง กติกากฎหมายต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ถ้าเป็นความปรารถนาของประชาชนมีการโหวตกันตามกระบวนการ เราก็ไม่ขัดข้องที่ต้องเปลี่ยนตามนั้น”

“มีหลายท่านที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับเราคือทำอย่างไรให้ประชาชนมีการกินอยู่ที่ดีขึ้น ปรัชญาของเราคนละเรื่อง Real politic is about economic. การเมืองที่แท้จริงต้องทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เราสู้กันในการเลือกตั้งเพื่อเอาความคิดไปสู่ประชาชนเพื่อให้กินดีอยู่ดีขึ้น”

ชื่อ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่เปิด-ปล่อยออกมาล่าสุด ในตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย นับว่าร้อนแรง และเกิดกระแสใหม่ทั่วทุกมิติ ทุกขั้วอำนาจหันมาจับตามองด้วยความระทึก