เปิดประวัติ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในดงข่าวลือแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

เปิดประวัติ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นักการเมืองชื่อย่อ ส. ที่วุฒิสมาชิก ปล่อยออกมาว่าเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตัวจริง ของพรรคเพื่อไทย

หลังจากที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.บัญชีรายชื่อ โพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่าบุคคลชื่อย่อ ส.ตัวใหญ่ จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย มีคุณสมบัติ เคยเป็นรัฐมนตรีสมัยพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เป็นรัฐบาล เป็นคนที่สามารถเข้าได้ทุกฝ่าย ทั้งซ้าย-ขวา บน-ล่าง เปิดชื่อออกมาก็ใช้ได้เลย โดยจะเปิดชื่อตอนสมัครรับเลือกตั้ง

นักการเมืองและสื่อมวลชนคาดหมายว่าเป็นชื่อของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร คือคนที่ชื่อย่อ ส. คนดังกล่าว

จากนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ชื่อดังกล่าวยังไม่ได้เข้ามาพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเลย

ชื่อของ “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” กลับมาเป็นที่พูดถึงในทางการเมืองอีกครั้ง หลังไม่มีภาพและบทบาทในทางการเมืองมานานเกิน 10 ปี

ประวัติการศึกษา “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย”

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อายุ  65 ปี เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2501 เป็นบุตรของ ดร.สุนทร เสถียรไทย กับคุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สำเร็จการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและนิติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ

ระดับปริญญาตรี

  • นิติศาสตรบัณฑิตปริญญาตรี (น.บ.เกียรตินิยม) รางวัลเหรียญทอง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2522)

ระดับปริญญาโท

  • ปริญญาโทด้านกฎหมาย การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (M.A.L.D) จาก The Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, U.S.A. (พ.ศ. 2524)
  • ปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ (LL.M.) จาก Harvard Law School, U.S.A. (พ.ศ. 2525)

ระดับปริญญาเอก

  • ปริญญาเอกทางด้านนิติศาสตร์ (S.J.D.) จาก Harvard Law School, U.S.A. (พ.ศ. 2528)

ชีวิตส่วนตัว

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สมรสกับ ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ราชสกุลเดิม ลดาวัลย์ ณ อยุธยา อายุ 65 ปี เกิดวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2501 ชื่อเล่น หน่อย เป็นธิดาของหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ อดีตองคมนตรี กับท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์ เป็นพระภาคิไนย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เป็นประธานมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) มีบุตร 1 คนคือ ดร.สันติธาร เสถียรไทย (ดร.ต้นสน) ซึ่งปัจจุบันเป็น Group Chief Economist ของ Sea Group บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์

เส้นทางวงวิชาการ ดร.สุรเกียรติ์

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นอาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ริเริ่มการศึกษากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จนได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อปี 2535-2538 ได้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากบทบาทในสถาบันการศึกษาของประเทศไทยแล้ว ยังได้ทำงานในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา รวมถึงมีผลงานทางวิชาการ เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเป็นจำนวนมาก ร่วมกับสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

เส้นทางการเมือง ดร.สุรเกียรติ์

การเข้ามาทำงานทางการเมืองครั้งแรกของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เริ่มต้นจาก “บ้านพิษณุโลก” ในตำแหน่ง ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก หรือที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ร่วมกับที่ปรึกษานายกฯ คนอื่น ๆ อาทิ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นต้น

ผลงานเด่นของการเข้ามาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา พล.อ.ชาติชาย ณ เวลานั้น คือ การผลักดันนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของรัฐบาลชุดนี้

ภายหลังการเข้ายึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 และได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลนี้ โดยเข้ามาดูแลด้านการต่างประเทศ

ชื่อของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กลับมาเป็นที่พูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง ในรัฐบาลภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยเข้ามารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง)

ผลงานเด่นในฐานะ รมว.คลัง ณ เวลานั้นคือ การผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนและเศรษฐกิจชุมชน พร้อมทั้งการจัดทำแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม ซึ่งกลายมาเป็นนโยบายต่าง ๆ ที่เริ่มต้นจากช่วงเวลานั้น อาทิ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารชุมชน เป็นต้น ก่อนจะเว้นว่างทางการเมืองไปอีกพักใหญ่

พรรคไทยรักไทย-รัฐบาลทักษิณ

เมื่อปี 2544 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง โดยเข้าสังกัด “พรรคไทยรักไทย” ของนายทักษิณ ชินวัตร และได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ในขณะนั้น พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาล อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือ การเป็นประธานคณะกรรมการจัดงานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพ

หลังจากการเข้ายึดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ชื่อของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ก็หายไปจากสนามการเมือง

นอกจากบทบาททางการเมืองแล้ว ดร.สุรเกียรติ์ยังมีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรเอกชน อาทิ ประธานกรรมการบริหาร ปตท. ประธานตัวแทนผู้ทำแผน และประธานตัวแทนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ไทยออยล์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารแหลมทอง (ภายหลังควบรวมกับธนาคารรัตนสิน ก่อนจะถูกขายให้กับกลุ่ม UOB ของสิงคโปร์ เมื่อปี 2542) และทำงานด้านที่ปรึกษาให้กับภาครัฐและเอกชน

และมีบทบาทอื่น ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ การเป็น “ศาสตราภิชาน” ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติและยกย่องผู้มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานทางวิชาการดีเด่น และเป็นผู้ทรงคุณธรรม ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า