วิธีรับมือและป้องกันภัยจากพายุฤดูร้อน ให้ปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน

วิธีรับมือและป้องกันภัยจากพายุฤดูร้อน
วิธีรับมือและป้องกันภัยจากพายุฤดูร้อน

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ที่จะมีผลกระทบในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 นี้ เพื่อความปลอดภัย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อควรระวังและแนวทางป้องกัน เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ ดังนี้

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเกิดพายุ

1.วางแผนล่วงหน้าให้รอบคอบ โดยติดตามฟังพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากวันไหนที่คาดว่าจะมีพายุฝนควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เสี่ยงอันตราย

2.ในกรณีที่ต้องเดินทางออกนอกบ้านให้สังเกตสภาพดินฟ้าอากาศอย่างต่อเนื่อง เช่น ฝนตก ฟ้ามืด หรือลมแรงผิดปกติ เพราะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพายุฝนกำลังจะเคลื่อนเข้ามา หรือคำนวณจากเสียง หากเห็นแสงฟ้าผ่าและเสียงฟ้าร้องตามมาอีก 30 วินาทีให้หลัง ควรรีบหาที่หลบทันที

3.ตรวจสอบจุดต่าง ๆ ของบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งเก็บสิ่งของบริเวณบ้านที่อาจถูกลมแรงพัดปลิวให้มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งของถูกลมพัดเสียหาย หรือคนที่อาจได้รับอันตรายจากการโดนสิ่งของปลิวมากระแทก

4.สำรวจสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้บริเวณบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย และตัดแต่งกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้กับตัวบ้าน หรืออาจใช้ไม้ค้ำยันสำหรับต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้ที่เพิ่งปลูกใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มหรือเกี่ยวสายไฟเมื่อลมพัดแรง

5.จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นเอาไว้ในยามฉุกเฉินให้พร้อม เช่น น้ำดื่ม ยารักษาโรค ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาหารแห้ง และเตรียมไฟฉายไว้ใช้ช่วงไฟฟ้าดับ หรือหากมีเครื่องสำรองไฟควรศึกษาวิธีใช้เตรียมไว้ด้วย รวมทั้งเปิดน้ำสำรองใส่ถังน้ำหรืออ่างอาบน้ำ เพื่อใช้ในห้องน้ำและทำอาหาร เผื่อไว้ในกรณีที่ไฟฟ้าดับ

พายุฤดูร้อน
พายุฤดูร้อน

วิธีป้องกันตัวเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง

หากอยู่ในที่โล่งแจ้งควรหลบในอาคารทันทีไม่ต้องรีรอหรือชะล่าใจ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการหลบฝนใต้ต้นไม้ ใกล้เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ อาคารขนาดเล็ก เช่น ห้องน้ำสาธารณะ หรืออาคารที่มีแค่กันสาดกันฝน เนื่องจากโครงสร้างประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันฟ้าผ่าได้

ทั้งนี้ เมื่อต้องหลบฝนร่วมกับผู้อื่น ควรรักษาระยะห่างแต่ละคนไว้ประมาณ 15-30 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสไฟวิ่งเข้าสู่ร่างกายคนรอบข้างเมื่อมีคนโดนฟ้าผ่า

แนวทางปฏิบัติหลังพายุสงบ

ภายหลังจากที่พายุสงบลงต้องสำรวจหรือตรวจสอบความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้างทันที หากมีผู้ได้รับอันตรายให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน ขณะเดียวกันหากตัวบ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย ให้อพยพออกจากสถานที่ดังกล่าวมาก่อนพร้อมกับแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งในระหว่างนี้ไม่ควรกลับเข้าไปจนกว่าจะได้รับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ควรติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามคำแนะนำจากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างเคร่งครัด ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับพายุได้เป็นอย่างดี เพราะบางครั้งอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นแบบกะทันหัน ดังนั้น หากรู้วิธีรับมือหรือป้องกันก็จะสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้

ข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, อบต.ไสไทย