คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]
หากพูดถึงจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมไปเที่ยวในช่วงก่อนหน้านี้จะพบว่า “ญี่ปุ่น-เกาหลี” คือ 2 ประเทศที่ครองใจคนไทยเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 มาตลอด ทั้ง 2 ประเทศเป็นเดสติเนชั่นที่มีเสน่ห์น่าหลงใหล ทั้งในด้านศิลปะ วัฒนธรรม ทิวทัศน์ที่สวยงาม และมีอากาศหนาวเย็น
สำหรับปีนี้ดูเหมือนว่า “ญี่ปุ่น” ที่เคยครองแชมป์อันดับ 1 จุดหมายปลายทางในใจของคนไทย จะยังคงได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นยิ่งกว่าเดิม
จากการพูดคุยกับพี่ ๆ น้อง ๆ บริษัททัวร์ ได้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า เวลานี้แพ็กเกจทัวร์เที่ยวญี่ปุ่นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เปิดกรุ๊ปขายปุ๊บ เต็มในพริบตา
เรียกว่า ตั๋วเครื่องบินมีไม่พอให้ขาย แม้ราคาจะยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด
ขณะที่ตลาด “เกาหลี” จากที่ครองความนิยมอยู่ในอันดับต้น ๆ และเคยมีคนไทยแห่ไปเที่ยวกันปีละกว่า 5 แสนคนกลับซบหนัก ขนาดในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่ว่ากันว่ามีคนไทยออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศหลักแสนคน แต่แพ็กเกจ ทัวร์เกาหลีก็ยังขายไม่ออก
“บูรณี วีระภุชงค์” เอ็มดี “ยูนิไทย แทรเวล” เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่แพ็กเกจทัวร์เกาหลีขายไม่ออกในเวลานี้นั้นเป็นผลจากที่เกาหลี ยังใช้มาตรการกรองคนเข้าเมืองอย่างเข้มข้นกับคนไทย ด้วยการให้คนไทยลงทะเบียนในระบบ K-ETA ให้ผ่านการอนุมัติเข้าเมืองก่อนออกเดินทาง
และด้วยกระแส “ผีน้อย” หรือคนไทยที่หนีทัวร์ไปทำงานและสร้างปัญหาไว้มากมาย ทำให้เกาหลีต้องคัดกรองอย่างหนัก ส่งผลให้คนไทยที่มีความประสงค์เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวจริง ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย
โดยคนไทยได้รับการอนุมัติให้เข้าเกาหลีได้มีสัดส่วนที่ต่ำมาก บางกรุ๊ปมีลูกค้า 10-20 คน ลงทะเบียนในระบบ K-ETA ผ่านไม่ถึง 50% ทำให้ต้องยกเลิกการเดินทางทั้งกรุ๊ปหรือบางกรุ๊ปเดินทางเป็นครอบครัวพ่อ แม่ ลูก ก็ยังมีปัญหาไม่ผ่านการอนุมัติ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดเกาหลี หรือคนไทยไปเที่ยวเกาหลีตอนนี้คือ เริ่มเห็นภาพการแข่งกันถล่มราคาแพ็กเกจทัวร์ หรือลดราคาในรูปแบบที่เรียกว่า “ทัวร์ไฟไหม้” ออกมาขายเต็มหน้าสื่อ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย
ที่น่าคิดคือ ขณะที่เกาหลีเข้มงวดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยนั้น ในอีกฟากหนึ่งกลับเปิดให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศเข้าได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ K-ETA
ขณะที่ก่อนหน้านี้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศความร่วมมือระดับทวิภาคี กำหนดให้ปี 2566-2567 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวระหว่างเกาหลีและไทย หรือ 2023-2024 Korea-Thailand Mutual Visit Years มีการโปรโมตและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันตลอดปี
ด้วยหวังว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
แต่ถ้าปัญหา “ผีน้อย” ยังคงหลอกหลอนอยู่เช่นนี้ เป้าหมายที่ทั้ง 2 ประเทศมีร่วมกันจะบรรลุได้อย่างไร ยังมองไม่เห็นจริง ๆ