
ผลประชุมเฟดเป็นไปตามคาด แต่ตลาดยังคงกังวลต่อการลดดอกเบี้ยในอนาคต
วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/6) ที่ระดับ 36.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/6) ที่ระดับ 36.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากคืนวานนี้ (12/6) ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม
โดยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานขยายตัวอยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งมากกว่าในเดือนเมษายนที่ขยายตัว 0.3% และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.3% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปขยายตัว 3.3% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งลดลงจาก 3.4% ในเดือนเมษายน และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาว่าเงินเฟ้อได้ลดลงแล้วนั้น ส่งผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง ค่าเงินบาทแข็งค่าสู่ระดับ 36.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากนั้นทางสหรัฐได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน โดยเฟดได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 หลังจากที่เฟดได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดกันถึง 11 ครั้ง และเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 23 ปี นอกจากนี้เฟดยังได้เปิดเผยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย หรือ Fed Dot Plot
โดยเจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าในปีนี้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5.1% เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่าในปี 2567 นี้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง จากที่คาดการณ์ไว้ 3 ครั้ง ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ในปี 2568 เฟดส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 1% และดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4.1%
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดปรับเพิ่มการคาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาวสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่อยู่ที่ 2.9% ทำให้หลังจากประกาศ Fed Dot Plot ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจึงปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ คือช่วงเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน
นอกจากนี้ เฟดได้คงตัวเลขการคาดการณ์ GDP สหรัฐ อยู่ที่ 2.1% ในปี 2567 และอยู่ที่ 2.0% ในปี 2568 และ 2569 ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ในช่วงเดือนมีนาคม ในส่วนของอัตราการว่างงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.0%, 4.2%, 4.1% ในปี 2567, 2568 และ 2569
นอกจากนี้ในคืนนี้ ตลาดยังจับตารอดูดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน พ.ค. ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ที่ใช้ในการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดต่อไป ทั้งนี้ นายพาวเวลล์ได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า แม้เงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% นั้น มีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ นายพาวเวลล์กล่าวว่า
ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่านโยบายการเงินของเฟดมีการคุมเข้มมากพอ โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.53-36.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/6) ที่ระดับ 1.0811/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/6) ที่ 1.0751/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดยังคงจับตารอดูท่าทีในการกำหนดนโยบายการเงินของ ECB ต่อไป
เนื่องจากทาง ECB ได้กล่าวว่า จะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ หลังจากได้มีการลดดอกเบี้ยไป 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุดโดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0802-1.0816 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0802/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/6) ที่ระดับ 156.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/6) ที่ 157.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนจับตาดูผลการประชุมกำหนดนโบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้ (14 มิ.ย.) ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0-0.1%
โดยนายโทชิคาซุ โฮริอุจิ นักกลยุทธ์ด้านตราสารทุนจากบริษัทหลักทรัพย์ IwaiCosmo กล่าวว่า การตัดสินใจที่จะลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาล อาจกดดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวพุ่งสูงขึ้น นักลงทุนจึงชะลอการลงทุนออกไปก่อนจนกว่าท่าทีของ BOJ จะชัดเจน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 156.68-157.33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 157.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/6), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน พ.ค. (13/6), ราคานำเข้าและส่งออกเดือน พ.ค. (14/6), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน มิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/6), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ของยูโรโซน (13/6) และประชุมนโยบายการเงินของญี่ปุ่น (BOJ) (13-14/6)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.25/9.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10/8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ