เปิดชื่อบอร์ดประกันสังคม 11 เสียงเอกฉันท์ ยื้อจ่ายว่างงาน 75 %

การจ่ายชดเชยผู้ประกันตน ที่ว่างงานเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็น “เหตุสุดวิสัย” เตรียมพิจารณาชี้ขาดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ม.ร.ว.จัตตุมงคง โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้เสนอ ใน 2 ประเด็น คือ 1. ขยายจำนวนชดเชยจากสัดส่วน 62 % หรือได้เพิ่มเป็น 75 % ของค่าจ้างรายวัน โดยไม่เกิน 15,000 บาท 2.ยืดการจ่ายจากเดิม 3 เดือน เป็นยาวถึงสิ้นปี 2563

นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร หนึ่งในคณะกรรมการประกันสังคม ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง (ชุดที่ 13) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมบอร์ดประกันสังคมครั้งล่าสุด (7 พ.ค. 63) ได้มีการนำเสนอวาระพิจารณา 2 เรื่อง คือ เพิ่มสัดส่วนชดเชยผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบและเป็นเหตุสุดวิสัยเพิ่มจาก 62% เป็น 75% ของค่าจ้างรายวัน โดยไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน พร้อมกับเสนอให้ขยายเวลาชดเชยจาก 3 เดือน เป็นยาวถึงสิ้นปี และ 2.การปรับลดส่งเงินสมทบของนายจ้างเหลือเพียง 1% จากเดิมที่ 4% โดยให้เหตุผลว่าสัดส่วนเดิมที่เยียวยาไม่พอใช้ในแต่ละเดือน อีกทั้งคาดการณ์ว่าปัญหาโควิด-19 น่าจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม บอร์ดประกันสังคมมีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่อนุมัติ” ทั้ง 2 ประเด็น ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนทั้งจากฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ปรึกษา รวมถึงตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ก็ยังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย โดยฝ่ายลูกจ้างแสดงความเห็นว่า เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว “ไม่มีความจำเป็น” อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ บอร์ดประกันสังคมได้พิจารณาให้การเยียวยาผู้ประกันตนว่างงานไปแล้ว (14 เม.ย. 63)

โดยมติบอร์ดให้เหตุผลว่า 1) เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จะมีผู้ตกงานตามมาอีกเป็นจำนวนมาก 2) กังวลว่าเงินใน “กองทุนว่างงาน” จะถูกใช้จนหมด โดยที่ไม่มีแผนสำรองว่าจะบริหารจัดงานอย่างไร และ 3) จะมีผู้ตกงานจากส่วนที่เป็นสัญญาจ้าง (subcontract) จากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งหากนำเงินจากกองทุนว่างงานที่มีอยู่ 1.6 แสนล้านบาท มาใช้โดยไม่จำเป็น ในอนาคตจะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในอนาคตอย่างไร

“ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กลุ่มสมาพันธ์ลูกจ้างต่าง ๆ ได้นำเสนอให้ใช้เงินจากกองทุนว่างงานเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งที่ประชุมบอร์ดก็คุยกันตัวเลขนี้ แต่ในการประชุมบอร์ดครั้งก่อนก็เสนอตัวเลข 62% เข้ามาพิจารณาและอนุมัติเพื่อชดเชยให้กับ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจที่ภาครัฐสั่งปิดกิจการ และนายจ้างที่ปิดกิจการเองชั่วคราว และเมื่อ ครม.ขยายมาตรการเยียวยาโดยให้โควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัยนั้น ทำให้ต้องมีการใช้เงินมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าเงินกองทุนว่างงานนี้จะต้องถูกใช้จนหมดแน่นอน”

สำหรับ คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th มีรายชื่อ ดังนี้

  1. ประธานกรรมการประกันสังคม นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน
  2. ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
  3. ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นางภัทรพร วรทรัพย์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง
  4. ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  5. นายสมพงศ์ นครศรี กรรมการ
  6. นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการ
  7. นายสุวิทย์ ศรีเพียร กรรมการ
  8. นายทวี ดียิ่ง กรรมการ
  9. นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร กรรมการ
  10. นางสาวอรุณี ศรีโต กรรมการ
  11. นายทศพล กฤติวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กรรมการและเลขานุการ