ฟัดกันวุ่นปลูกข้าว “กข” พื้นนุ่ม ส.ชาวนาชนโรงสี-หนุนรัฐออกมาตรฐาน

ชาวนาเกี่ยวข้าว
Sophie DEVILLER and Anusak KONGLANG /AFP

ส.ชาวนาฯออกโรงหนุน “มาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่ม” ชี้ข้อดีต้นทุนต่ำ-ผลผลิตสูงกว่าไม่ห่วงเรื่องปลอมปนมะลิ มั่นใจ “พาณิชย์” เอาอยู่ พร้อมโต้โรงสีอีสานหวงตลาดข้าวหอมมะลิในประเทศ ด้าน “พาณิชย์” วางหลักเกณฑ์มาตรฐานพันธุ์ข้าวนุ่ม ย้ำต้องใช้เวลาเพื่อให้ออกมาดีที่สุด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกรณีที่สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกมาให้ความเห็นเรื่องการจัดทำมาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเรื่องราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาชิกสมาคมชาวนาทั่วประเทศ 40,000-60,000 คน พร้อมสนับสนุนการพัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่มสายพันธุ์ กข79 และ กข87 เนื่องจากเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนเฉลี่ยต่ำเช่น 1 ไร่ให้ผลผลิต 1 ตัน มากกว่าข้าวหอมมะลิที่ให้ผลผลิตแค่ 370 กก.ต้องปลูก 3 ไร่จึงจะได้ข้าว 1 ตัน

และที่สำคัญแม้ว่าราคาข้าวเปลือกขาวพื้นนุ่มจะมีราคาเพียงตันละ 9,000-9,500 บาท ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิ ตันละ 14,000-15,000 บาท แต่ชาวนาจะมีรายได้จากการขายข้าวขาวพื้นนุ่มมากกว่า เพราะสามารถปลูกได้หลายรอบในช่วงเวลา 1 ปี แต่หากเป็นข้าวหอมมะลิจะปลูกได้แค่ปีละ 1 รอบเท่านั้น

“ผมในฐานะนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เราคำนึงถึงรายได้ของชาวนาของเรา วันนี้ต้องขอบคุณกรมการข้าว บุคลากรนักวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวมีพันธุ์ข้าวหลากหลายที่ตอบโจทย์ที่ชาวนาต้องการทั้งต้นเตี้ย ผลผลิตที่สูง อายุการปลูกระยะสั้น เพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออก ก่อนหน้านี้ทางสมาคมผู้ส่งออกฯเคยบอกว่า เราเสียตลาดให้คู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่มไปแย่งตลาดของไทยจำนวนมาก เราจึงส่งออกน้อยลงมีผลกระทบต่อชาวนา ต่อมาเมื่อชาวนาปลูกข้าวหอมพวงที่มีผลผลิตดี อายุสั้น เป็นข้าวนุ่มก็โดนกีดกัน พอมาเป็นข้าว กข79และข้าว กข87 อายุไม่เกิน 100-110 วันเราคิดว่ากรมการข้าวต้องช่วยพัฒนาให้ได้โดยเร็ว ส่วนเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบการปลอมปนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เขามีการตรวจสอบด้วยดีเอ็นเอ”

“อย่าต่อต้านชาวนาว่ากลัวจะปนข้าวหอมมะลิ ถ้าคนมันนิสัยไม่ดี ไม่ว่าอะไรมันก็ปน ถ้าชาวนามีทางเลือกปลูกข้าวนุ่มที่มีผลผลิตที่ดีกว่าข้าวหอมมะลิ และต้นทุนต่ำ มีเงินเหลือมากกว่าถามหน่อยถ้าคุณเป็นชาวนา คุณจะเลือกปลูกอะไร และการที่มีข้าวให้สีตลอดท่านไม่ชอบหรือ อย่ามาอ้างว่าจะปน เพราะจังหวัดอื่นชาวนาปลูกข้าวได้ตั้งหลายชนิดไม่เห็นมีปัญหา ซื้อขายกันได้ ถ้าปลูกข้าวหอมมะลิดี ผลผลิตดี ชาวนามีเงินมากกว่าปลูกข้าวอื่น ชาวนาเขาก็ไม่ไปปลูกข้าวอื่น”

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ผมขอให้โรงสีกลุ่มนี้ส่งเสริมชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิด้วยการประกันราคาขั้นต่ำจากชาวนา โรงสีละ 20,000 ไร่ กลุ่มของท่านมี160 โรงสี ก็สามารถดูแลข้าวหอมมะลิได้ถึง 3 ล้านไร่ ให้ใช้เกณฑ์ราคารับซื้อสูงกว่าราคาประกันของรัฐบาล เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ท่านก็จะได้ข้าวคุณภาพดีไม่ต้องกังวล

นายสุเทพ คงมาก นายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาฯ กล่าวว่า ตอนนี้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าว กข79 แล้ว แต่มีปริมาณไม่มากนัก เช่น ในพื้นที่ภาคใต้มีประมาณ 40,000 ไร่เท่านั้น เทียบกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด20 ล้านไร่ หากเปรียบเทียบต้นทุนการปลูกข้าวขาวพื้นนุ่มเฉลี่ยตันละไม่เกิน4,000 บาท ขายข้าวเปลือกได้ตันละ8,500-8,600 บาท และข้าวสารถุง (5 กก.)ถุงละ 110-120 บาท ขณะที่ข้าวหอมมะลิ ต้นทุนตันละ 9,000 บาท ราคาข้าวเปลือก(สด) ตันละ 12,500-13,000 บาทเป็นข้าวสาร กก.ละ 40-50 บาท

“ไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาพันธุ์ใหม่ไปแข่ง เพราะข้าวหอมมะลิมีมานาน 30-40 ปีแล้ว ผลผลิตอยู่เท่าเดิม 350 กก.ต่อไร่ หากไม่มีพันธุ์ใหม่ เกษตรกรก็มีการเอาพันธุ์ข้าวเวียดนามอย่างข้าวหอมพวงและข้าวจัสมินมาปลูก ซึ่งก็จะกระทบประเทศ ที่ผ่านมาผมในฐานะกรรมการใน นบข. ได้ร่วมทำงานและตั้งโจทย์ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกฯและโรงสีมาตั้งแต่ปี 2560-2561 เราเคยพัฒนาพันธุ์กข77 มา แต่ไม่ตอบโจทย์เพราะสีออกมาแล้วเมล็ดลาย ต่อมาจึงได้พัฒนา กข79 ซึ่งตอบโจทย์ต้นทุนการผลิตต่ำลง ผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนถูกทำให้ผู้ส่งออกนำไปแข่งขันในตลาดโลกได้ตามดีมานด์และซัพพลาย”

“เราไม่ได้ไปยุ่งกับข้าวหอมมะลิ เรื่องการตรวจสอบก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ แต่ต้องยอมรับว่ามีเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ปลูกข้าว และการแข่งขันทำให้ต้องพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตจำนวนมาก โดยข้าวพันธุ์ใหม่จะต้องดีกว่าเก่าอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่โรงสีออกมาเบรก อาจเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ตลาดภายในประเทศเพราะโรงสีส่วนใหญ่ทำข้าวถุงข้าวหอมมะลิราคาสูงกว่าข้าวขาวพื้นนุ่ม”

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างจัดทำร่างหลักเกณฑ์มาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่ม โดยขณะนี้ต้องรอให้ผลผลิตข้าวพันธุ์นี้ที่อยู่ระหว่างการทดลองปลูกในแต่ละพื้นที่ออกมาว่า ผลผลิตเป็นอย่างไร เสถียรหรือไม่ แล้วจะนำมาพิสูจน์ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งเรื่องทางเคมีต่าง ๆ และทางกายภาพ เช่น สี ความยาวเมล็ด เพื่อออกมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

“การออกมาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่มต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ไม่ใช่ว่าผลผลิตรอบแรกออกมาแล้วและจะกำหนดมาตรฐานได้ทันที อาจต้องวิเคราะห์อีกหลายครั้ง เพราะดินแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน อาจใช้เวลาเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด”