คปภ.สั่งเพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจประกัน 11 บริษัทช่วง 10 ปี จับตาเดอะวันฯ

คปภ. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยกว่า 11 บริษัท ในช่วงเวลากว่า 10 ปี สาเหตุส่วนใหญ่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด

วันที่ 11 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2564) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการะประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยไปแล้วทั้งหมด 11 แห่ง โดยอาศัยอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ฐานะการเงินอยู่ในลักษณะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ ซึ่งประกอบด้วย

1.สัมพันธ์ประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 คำสั่งที่ 380/2552

2.เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 คำสั่งที่ 1583/2553

3.วิคเตอรี่ประกันภัย (ประเทศไทย) มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 คำสั่งที่ 708/2554

4.ลิเบอร์ตี้ประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 คำสั่งที่ 709/2554

5.ส่งเสริมประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 คำสั่งที่ 576/2556

6. ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 คำสั่งที่ 954/2557

7.ศูนย์สุขภาพประเทศไทย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 คำสั่งที่ 1472/2557

8.สัญญาประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 คำสั่งที่ 359/2559

9.สัจจะประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 คำสั่งที่ 1196/2560

10.เจ้าพระยาประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 คำสั่งที่ 1213/2561

11.เอเชียประกันภัย มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 คำสั่งที่ 1936/2564


ทั้งนี้ล่าสุดบอร์ด คปภ.มีมติให้ออกคำสั่ง “หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว” เพื่อแก้ไขฐานะการเงิน ภายในไม่เกิน 15 วันนับแต่วันได้รับคำสั่ง สำหรับบริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยปรากฏหลักฐานว่า มีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และผู้ถือหุ้นมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เพิ่มทุน ทำให้ไม่สามารถมั่นใจว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันของผู้เอาประกันได้