‘โอไมครอน’ เสี่ยงรอบใหม่ ประกันอ่วม-‘เดอะวันฯ’ ส่อไม่รอด

คปภ.ไม่ยกเลิกคำสั่งบอกเลิกเจอจ่ายจบ

เอฟเฟ็กต์จากประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” ดูท่าจะยังไม่จบลงในเร็ว ๆ นี้

หลังจากก่อนหน้านี้ “เอเชียประกันภัย” เป็นรายแรกที่ต้องปิดกิจการลงไป ล่าสุดก็มีอีกบริษัทที่กำลังแย่ ทำท่าจะเดินตามรอยกันไป คือ “เดอะวัน ประกันภัย” เริ่มตั้งแต่มีกระแสข่าวลือสะพัดว่าบริษัทจะไปไม่รอด ต่อมาบริษัทก็ออกประกาศ “ปิดปรับปรุงชั่วคราว เพื่อดำเนินการเสริมสภาพคล่อง” จากนั้น ในการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 เพื่อขออนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,000 ล้านบาท สำหรับนำเงินมาจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ซึ่งที่สุดแล้ว ที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็มีมติยืนยันไม่อนุมัติการเพิ่มทุนดังกล่าว

ขีดเส้นตาย-ไม่ไหว “ปิดกิจการ”

โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เรียกผู้บริหารเข้าไปพูดคุยหาทางออก สุดท้ายต้องนำเรื่องเข้าบอร์ด คปภ. และมีมติให้ออกคำสั่ง “หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว” เพื่อแก้ไขฐานะการเงิน ภายในไม่เกิน 15 วันนับแต่วันได้รับคำสั่ง

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า มติบอร์ด คปภ.มีคำสั่งให้เดอะวันประกันภัย หยุดรับประกันชั่วคราว ด้วยปรากฏหลักฐานว่า มีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และผู้ถือหุ้นมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เพิ่มทุน ทำให้ไม่สามารถมั่นใจว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันของผู้เอาประกันได้ โดยให้ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับคำสั่ง

ซึ่ง คปภ.ได้กำหนดให้ “เดอะวันฯ” ทำรายงานสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เช่น หมายเลขกรมธรรม์ ชื่อผู้เอาประกัน จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหม และจัดส่งรายงานให้ คปภ.ทุกวันทำการนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง และให้บันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย และเร่งรัดจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลากำหนด

“เรามอนิเตอร์ทุกวันต่อจากนี้ โดยต้องพิจารณาจากสถานการณ์รายวัน เพื่อประเมินความชัดเจนว่า บริษัทเดอะวันประกันภัยจะดำเนินการอย่างไรบ้าง และดูว่ายอดเคลมคงค้างกรมธรรม์ประกันภัยโควิดมีมากน้อยแค่ไหน ก่อนพิจารณาใช้มาตรการสูงสุดต่อไป”

ทั้งนี้ มาตรการสูงสุดตามคำกล่าวของเลขาธิการ คปภ. ก็คือ “คำสั่งให้ปิดกิจการ” เหมือนกรณีเอเชียประกันภัยนั่นเอง

อัตราการติดเชื้อ

“โอไมครอน” เสี่ยงรอบใหม่

สำหรับภาพรวมผลกระทบนั้นพบว่า ยอดเคลมโควิดยังพุ่งต่อเนื่อง โดย “อาภากร ปานเลิศ” ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ. เปิดเผยว่า ล่าสุดจนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2564 ทั้งระบบมียอดค่าสินไหมทดแทน (เคลม) สูงกว่า 35,000 ล้านบาทแล้ว โดยกรมธรรม์เจอจ่ายจบ ยังเหลือระยะเวลาความคุ้มครองจนถึงเดือน มิ.ย. 2565 อีกกว่า 7 ล้านกรมธรรม์

สำหรับความกังวลการระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ตอนนี้ คปภ.กำลังติดตามมาตรการภาครัฐอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีได้เปลี่ยนแปลงการคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยกลับมาใช้ผลตรวจ RT-PCR และจะมีการตรวจซ้ำอีกรอบ ซึ่งคาดว่าคงยับยั้งการแพร่ระบาดได้ระดับหนึ่ง

“หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง ภาคธุรกิจประกันคงเหนื่อยแน่ ๆ โดย คปภ.คงต้องติดตามสถานการณ์วันต่อวัน หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ต้องนำเสนอต่อบอร์ด คปภ.เพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป ส่วนการจะแก้ไขยกเลิกกรมธรรม์ คงเป็นภาคสมัครใจที่ต้องตกลงกันสองฝ่าย ซึ่งทั้งบอร์ด คปภ. และเลขาธิการ คปภ.ให้ยืนนโยบายไว้แบบนั้น โดยให้ผู้เอาประกันภัยวินิจฉัยเองว่า บริษัทผู้รับประกันจะไหวไม่ไหว เพื่อเจรจาขอคืนเบี้ย”

หวั่นต้องปิดกิจการอีกหลายราย

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจประกันวินาศภัยกล่าวว่า หากมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในปีหน้า อาจมีบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายกรมธรรม์เจอจ่ายจบต้องปิดกิจการอีก 2-3 บริษัท หาก คปภ.ยังไม่สามารถให้ยกเลิกกรมธรรม์ได้

“อุตสาหกรรมประกันภัย มีบริษัทประกันชีวิต 22 บริษัท เบี้ยรับรวมราว 6 แสนล้านบาท มีบริษัทประกันวินาศภัย 54 บริษัท เบี้ยรับรวมเพียง 2.6 แสนล้านบาท เฉลี่ยเบี้ยประกันชีวิตบริษัทละ 27,000 ล้านบาท และเฉลี่ยเบี้ยประกันวินาศภัย บริษัทละไม่ถึง 5,000 ล้านบาท

โดยการแข่งขันได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้ายุทธจักรในตลาดประกันวินาศภัย และบริษัทขนาดใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเทกโอเวอร์ ควบรวมกิจการกัน ดังนั้น บริษัทขนาดเล็กคงจะแข่งลำบาก” แหล่งข่าวกล่าว

จับตาทุนต่างชาติซื้อ “สินมั่นคง”

อีกมุมที่ต้องจับตาก็คือ เมื่อไม่กี่วันมานี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “สินมั่นคงประกันภัย” กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาขายหุ้นใหญ่ของครอบครัว “ดุษฎีสุรพจน์” โดยได้คัดเลือกบริษัทผู้ซื้อหลายราย ในจำนวนนี้มี 2 กลุ่มบริษัทประกันภัยระดับโลก คือ 1.กลุ่มเจนเนอราลี บริษัทประกันภัยชั้นนำระดับโลกจากอิตาลี และ 2.บริษัทลิเบอร์ตี้ มิวชวล อินชัวรันซ์ กรุ๊ป (Liberty Mutual Group) บริษัทประกันรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ สินมั่นคงประกันภัยก็เป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการขายประกันเจอจ่ายจบเช่นกัน โดยมียอดเคลมสูงถึงกว่า 6,000 ล้านบาท จนทำให้ผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ขาดทุนสุทธิ 3,700 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยจะยกเลิกกรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบ แต่ถูก คปภ.เบรกไว้


ทั้งหมดนี้คือ สถานการณ์ล่าสุดในธุรกิจประกันภัยไทยที่ต้องเผชิญพายุลูกใหญ่จนหลายบริษัทต้องซวนเซ