รู้จัก เกษตรพันธสัญญา ที่มาหมูถูก 60 บาท/กิโล จ.ระยอง แต่ขายไม่ได้

ราคาหมู

ทำความรู้จัก “เกษตรพันธสัญญา” ที่มาดราม่าหมูหน้าแผงแพง หมูหน้าฟาร์มราคาถูก 60 บาท/กิโล แต่ขายปลีกไม่ได้ 

วันที่ 19 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนางปริญทิพย์ ศึกษา ภรรยาเจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู  จ.ระยอง ออกมาวิจารณ์ว่า ทำไมหมูจึงขึ้นราคาขนาดนี้ ทั้งที่คนเลี้ยงหมูไม่มีคนมาซื้อ แถมยังขายราคาหน้าฟาร์มแค่ 60 บาท/กิโลกรัม

ขณะที่ ผู้บริโภคกลับต้องซื้อหมูในราคาพุ่งสูงกว่า 220 บาท

คำถามคือ “ไม่รู้ไปแพงตรงไหน”

คนเลี้ยงขายได้ราคาถูก ผู้บริโภคซื้อแพง เรื่องหมูฟาร์มไม่มีคนซื้อ ไม่ได้ประสบปัญหาเฉพาะฟาร์มเดียว แต่ ประสบปัญหากันหลายฟาร์ม ทั้ง จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ที่มีหมูครบอายุขายคงค้างอยู่ฟาร์มหลายหมื่นตัว ทำให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระค่าอาหารจนแทบจะรับไม่ไหวแล้ว

ปริญทิพย์ ศึกษา เจ้าของฟาร์มหมูที่ จ.ระยอง ภาพจาก ข่าวสดออนไลน์

ทั้งนี้ ภายหลังมีการเปิดเผยโดยสามีของนางปริญทิพย์ว่า ที่ขายราคาแค่ 60 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเป็นฟาร์มที่ทำสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีการทำสัญญาประกันราคาไว้ที่ 60 บาท/กิโลกรัม กำหนดเวลาเลี้ยงไว้ที่ 150 วัน หรือน้ำหนักตัวหมู 120-130 กิโลกรัม/ตัว

โดยเริ่มตั้งแต่ซื้อลูกหมูมาเลี้ยง จนกระทั่งโตตามกำหนดคือ 5 เดือน หรือน้ำหนักประมาณ 120-130 บาท ปัจจุบันในฟาร์มมีหมูจำนวน 1,400 ตัว มีน้ำหนักได้ตามกำหนดแล้ว ติดต่อไปก็ยังไม่มีการมาจับ

จึงเกรงว่าจะเหมือนกับฟาร์มที่ จ.ตราด ต้องยืดเวลาเลี้ยงไปถึง 170 วัน ต้องแบกภาระค่าอาหารเพิ่มไปอีก 20 วัน ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะดังกล่าวหลายคนตีความว่า เป็นการเลี้ยงแบบ “เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)” 

เกษตรพันธสัญญาที่ว่าคืออะไร?

การทำเกษตรแบบพันธสัญญา คือ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระหว่างผู้ผลิตหรือเจ้าของฟาร์มกับคู่สัญญา ซึ่งคู่สัญญาจะเป็นผู้รับประกันราคาซื้อขายด้วย โดยมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า “ราคาประกัน” ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา

ขณะที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ให้นิยามเกษตรพันธสัญญา ไว้ว่า

“ระบบการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตร/กลุ่มเกษตรกร หรือกับวิสาหกิจ ชุมชน/เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ที่มีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างการผลิตผลิตผล หรือบริการทางการเกษตรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเกษตรกรตกลง ที่จะผลิตจำหน่าย หรือรับจ้างผลิตตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจตกลงที่จะซื้อหรือจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไป มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในการทำเกษตรพันธสัญญาในปัจจุบัน ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ฉายภาพโครงสร้างทางตลาดของการเกษตรรูปแบบนี้ว่า เป็นไปในลักษณะตลาดผูกขาดน้อยราย เนื่องจากบริษัทผู้ว่าจ้างมีน้อยรายและส่วนใหญ่ยังเป็บริษัทที่มีขนาดใหญ่ ส่วนฝ่ายเกษตรกรมีผู้เลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทว่าจ้างมีอำนาจต่อรองมากกว่า

โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมีเงื่อนไขและมาตรฐานค่อนข้างสูงกว่าบริษัทขนาดเล็กและต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อจะได้ผลผลิตที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อการส่งออก ทำให้เกษตรกรต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ปลอดภัยเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่บริษัทต้องการ

มั่นคงแต่เสี่ยงสูง

โดยบริษัทจะส่งผู้ชำนาญมาคอยดูแลอบรมให้คำแนะนำแก่เกษตรกรและการที่บริษัทเป็นผู้ผลิตแบบครบวงจร ดังนั้น บริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณของอาหารสัตว์และลูกพันธุ์ ทำให้เกิดความสูญเสียหรือความเสี่ยงได้น้อยลง

ด้านหนึ่งจึงทำให้เกษตรกรที่ทำเกษตรพันธะสัญญากับบริษัทใหญ่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมีรายได้ที่มั่นคง

ทั้งนี้ นอกจากรายได้ที่มั่นคงแล้ว การทำเกษตรแบบพันธสัญญาก็มีข้อควรระวังหลายอย่าง เช่น ใช้เงินลงทุนสูง มีเวลาคืนทุนนาน, เกษตรกรรับความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยด้านภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง โรคระบาด และราคาปัจจัยทางการผลิตที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น

สำหรับการทำเกษตรแบบพันธสัญญา ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา 2560 เป็นตัวกำกับดูแล ซึ่งตามกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญามาแจ้งขึ้นทะเบียนการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแล้ว 87 ราย

หากโฟกัสเฉพาะผู้ประกอบการปศุสัตว์และอาหารสัตว์ครบวงจร  พบว่ามีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 29 ราย เป็นนิติบุคคล 27 แห่ง และบุคคลธรรมดา 2 ราย ตัวอย่าง เช่น บจ.สหฟาร์ม, บจ.ไทย ฟูดส์ สไวน อินเตอร์เนชั่นแนล, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, บจ.เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม , บจ.ไก่สดเซนทาโก และบจ.เจริญชัยฟาร์มกรุ๊ป เป็นต้น