เอคเซนเชอร์ แนะธุรกิจปรับตัวรับ 5 เทรนด์นิวนอร์มิลหลังโควิด

“เอคเซนเชอร์”รายงาน Fjord Trends 2022 สำวจพฤติกรรมนิวนอร์มอล เผย 5 เทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ และสังคม 

18 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เอคเซนเชอร์ รายงานฟยอร์ดเทรนด์ 2022 (Fjord Trends) สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่จัดทำต่อเนื่องมา 15 ปี โดยรายงานปีล่าสุดพบว่าเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาสังคมมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ถึงระดับโครงสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับงาน วัฒนธรรมการบริโภค เทคโนโลยี และโลก

ดังนั้นบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ จึงต้องปรับตัวและออกแบบแนวการทำธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อหาแนวทางการออกแบบ การสร้างนวัตกรรม และการเติบโตให้กับธุรกิจ เนื่องจากพนักงานมีความคาดหวัง แนวคิด และมุมมองที่เปลี่ยนไป ประกอบกับสภาวะการขาดแคลนด้านต่าง ๆ เนื่องจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชน และการเกิดขึ้นของสภาพแวดล้อมในโลกเสมือนจริงหรือ เมตาเวิร์ส

นายดาวิน สมานนท์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การตัดสินใจต่าง ๆ ของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากนี้ อาจส่งผลต่อโลก และโครงสร้างในหลายด้านมากเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ และทุกสิ่งจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของคน ไม่ว่าจะกับเพื่อนร่วมงาน แบรนด์ สังคม สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ ที่คนให้ความสำคัญ

ดังนั้น อนาคตที่กำลังมาถึงจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย และมีโอกาสที่ดีอีกมากให้ธุรกิจสานสายสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตที่ดี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน สังคม และโลกต่อไป

รายงาน Fjord Trends 2022 ได้คาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ และ 5 เทรนด์ที่จะส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม และธุรกิจ ได้แก่

1.เป็นอย่างที่ตัวเองเป็น (Come as you are) การที่ผู้คนรู้สึกควบคุมชีวิตตนเอง (sense of agency) ได้มากขึ้นในช่วง 2 ปีที่โควิดแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อวิธีการทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และการบริโภคทั้งสิ้น โดยผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความสำนึกถึงตัวตน สิ่งที่สำคัญกับชีวิต และความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้นในมุมมองที่เรียกว่า me over we ซึ่งสำคัญต่อองค์กรในแง่ของการบริหาร และการสร้างแรงจูงใจพนักงาน รวมถึงการเสริมสร้างค่านิยมให้พนักงานใหม่ และแนวทางการสานสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“เมื่อต้นปีจากเซอร์เวย์ของเราพบว่าหลังโควิดมีพนักงานแค่ 15% เท่านั้นที่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ 100% เหมือนเดิม ฉะนั้นการเข้าใจว่าลูกค้าหรือบุคคลากรต้องการอะไรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ แบรนด์หรือบริษัทต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญคือต้องหาความสมดุลระหว่างสิ่งที่คนทำงาน หรือลูกค้าต้องการ กับสิ่งที่บริษัทต้องการว่าคืออะไร เช่น เมื่อเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้คนทำงานที่บ้าน เป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น ย่อมเป็นความท้าทายของธุรกิจธนาคารกรณีการอนุมัติสินเชื่อก็ต้องเปลี่ยนไป เดิมต้องดูสลิปเงินเดือน ถามว่าเมื่อคนทำงานฟรีแลนซ์มากขึ้นแล้วไปกู้ การพิจารณาสินเชื่อก็ต้องเปลี่ยนไป ต้องใช้ข้อมูลต่าง ๆ มาผสมให้เหมาะกับการกู้ยุคใหม่”

เทรนด์ที่ 2 หมดยุคเหลือเฟือ (The end of abundance thinking) ช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนต้องเผชิญกับสภาพชั้นสินค้าว่างเปล่า บิลค่าไฟเพิ่ม ทั้งบริการที่เคยใช้ในแต่ละวันขาดหายไป การขาดแคลนของปัจจัยหลายอย่าง แม้จะเป็นปัญหาระยะสั้น แต่ส่งผลต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแนวคิด จากการ “คิดเผื่อ” บนฐานของการที่ทุกอย่างมีให้ใช้เหลือเฟือ สะดวก และรวดเร็ว เปลี่ยนไปเป็นถึงความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งธุรกิจต้องรับมือกับความกังวลถึงปัจจัยต่าง ๆ ว่าจะมีพอหรือไม่อย่างที่หลายคนประสบทั่วโลก
“การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคน เห็นชัดว่า คนโอเคที่จะใช้เงินมากขึ้นสำหรับแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

เทรนด์ที่ 3 พรมแดนใหม่ (The next frontier) การแตกตัวทางวัฒนธรรมขนานใหญ่กำลังรอเวลาที่จะเกิดขึ้น โดย “เมตาเวิร์ส” จะกลายเป็นพรมแดนใหม่ของอินเทอร์เน็ตที่หลอมรวมเลเยอร์ต่าง ๆ ของข้อมูล อินเทอร์เฟซ และพื้นที่ที่ผู้คนสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นพื้นที่ใหม่ในการสร้างรายได้ สร้างงาน และสร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุดให้แบรนด์ต่าง ๆ ด้วย

“ผู้คนคาดหวังให้ธุรกิจสร้างสรรค์ และนำพวกเขาไปสู่สิ่งใหม่ โลกจะไม่หยุดที่หน้าจอ และหูฟังเท่านั้น แต่เปิดประตูไปสู่ประสบการณ์ และสถานที่ต่าง ๆ ในโลกจริงที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกดิจิทัล”

เทรนด์ที่ 4 ตอบเร็ว ตอบจริง (This much is true) ทุกวันนี้ ผู้คนคาดหวังที่จะได้รับคำตอบจากการกดปุ่มแค่ครั้งเดียว หรือการสั่งงานด้วยเสียงผ่านระบบ voice assistant ก็ได้คำตอบในทันที หมายความว่าผู้คนจะถามมากขึ้น สำหรับแบรนด์สินค้าหมายถึงขอบเขตของคำถามจากลูกค้า และช่องทางการสอบถามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการออกแบบวิธีการตอบคำถามจึงเป็นความท้าทาย และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่พร้อมเสริมสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในอนาคตด้วย

เทรนด์ที่ 5 ใส่ใจมากขึ้น (Handle with care) การดูแลใส่ใจทุกด้านเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างเด่นชัดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง ดูแลผู้อื่น การบริการดูแลสุขภาพ และช่องทางที่ให้บริการทั้งทางดิจิทัลและโลกออฟไลน์ จึงเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายสำหรับนายจ้าง และแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หรือการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบในการดูแลตนเอง และผู้อื่นยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ในชีวิต นักออกแบบ และองค์กรธุรกิจจึงต้องคำนึงเหมือนกันว่าจะการสร้างพื้นที่สำหรับฝึกการดูแลเรื่องต่าง ๆ ในภาคปฏิบัติได้อย่างไร

“เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนมุมมองเรื่องความสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ใหม่ แบรนด์จะเผชิญกับความรับผิดชอบสำคัญ 2 เรื่อง คือ การใส่ใจดูแลโลกวันนี้ และต้องคำนึงถึงเรื่องการสร้างอนาคตในทางที่ดีต่อโลก ธุรกิจ และสังคมด้วย”

นายดาวินทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญของทั้งหมดอยู่ที่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เรื่องผลกระทบของความสัมพันธ์ และแรงบันดาลใจ เพื่อแปลงให้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้
ในแต่ละปี เอคเซนเชอร์จะเผยแพร่รายงานเทรนด์โลกแบบไตรภาค โดยนำเสนอมุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับอนาคตของผู้คน เทคโนโลยี และธุรกิจ รายงานฟยอร์ดเทรนด์ จะเน้นไปที่พฤติกรรมของลูกค้าและผลจะที่เกิดขึ้นต่อสังคม วัฒนธรรม และธุรกิจในปีที่กำลังจะมาถึง จากการเก็บข้อมูลจากนักออกแบบ และนวัตกรกว่า 2,000 คน จาก 40 แห่งทั่วโลกที่อยู่ในเครือข่าย Accenture Interactive