ปลดจุรินทร์ หัวหน้าประชาธิปัตย์ พ้นประธาน กก.ระดับชาติ 16 องค์กรแถลงการณ์

องค์การด้านต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี 16 แห่ง ร่วมออกแถลงการณ์ให้ปลดนายจุรินทร์

องค์การด้านต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี 16 แห่ง ร่วมออกแถลงการณ์ให้ปลดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการระดับชาติส่งเสริมสถานภาพสตรี และงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

วันที่ 18 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง 16 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เช่น มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เป็นต้น

แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า “เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศจากผู้เสียหายจำนวนมาก นายจุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการกำหนดให้ปัญหาข่มขืนและการละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคของตนอย่างเหมาะสม”

“ขณะนี้มีหญิงผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายปริญญ์แล้วอย่างน้อย 5 รายในกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ แต่มีผู้ที่ติดต่อทนายหรือเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้เสียหายรวมนับสิบราย ล่าสุดเมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) ตำรวจได้นำตัวนายปริญญ์ไปขออำนาจศาลฝากขังระหว่างสอบสวน ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ผู้ต้องหาวางเงินประกันรวม 500,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ”

นอกจากนี้ทั้ง 16 องค์กรยังเรียกร้องให้ ปชป. ตรวจสอบว่าในกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในพรรคได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลการคุกคามทางเพศด้วยหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีการช่วยเหลือหรือปล่อยปละละเลย ผู้ที่อยู่ในกระบวนการคัดสรรจะต้องแสดงความรับผิดชอบ

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้นสังกัดของนายปริญญ์ ไม่ได้แสดงท่าทีที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อาทิ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องส่วนตัว และได้ปัดความรับผิดชอบโดยอ้างว่านายปริญญ์ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งไปแล้ว อีกทั้ง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ของพรรค ก็ได้ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

ทั้งนี้ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมืองและยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้ถูกมองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ต่างจากในหลายกรณีเมื่อผู้เสียหายออกมาเปิดเผยเรื่องราว ก็ต้องเผชิญกับการตั้งคำถามและเป็นฝ่ายที่ถูกตรวจสอบจากสังคม ถึงแม้ทางรัฐบาลจะกำหนดให้ปัญหาข่มขืนและการละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาให้เกิดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น

“นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ไม่ได้ให้พรรคของตนแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทั้งที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมสถานภาพสตรี ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจและจริงใจต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงของนายจุรินทร์”

แถลงการณ์ขององค์กรร่วมทั้ง 16 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้

1.เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ปลดนายจุรินทร์ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการระดับชาติส่งเสริมสถานภาพสตรี และงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะล้มเหลวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หลังจากที่ประกาศให้ปัญหาข่มขืนและการละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ

2.เรียกร้องให้ ปชป. ร่วมรับผิดชอบต่อกรณีนี้ แม้ว่านายปริญญ์จะลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคแล้วก็ตาม โดยการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายใน และตรวจสอบกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในพรรคว่าได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลการคุกคามทางเพศด้วยหรือไม่ หากพบว่ามีการช่วยเหลือหรือปล่อยปละละเลย ผู้ที่อยู่ในกระบวนการคัดสรรจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

3.เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกลไกระดับชาติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ และให้มีแผนปฏิบัติการ

เครือข่ายต่อต้านการคุมคามทางเพศระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า “กรณีของนายปริญญ์สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวการทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศและการละเมิดทางเพศ รวมถึงกลไกระดับชาติด้านสตรีในประเทศไทย”

“ปัจจุบันการคุกคามทางเพศยังเป็นปัญหาที่หลบซ่อนทั้งที่เกิดในที่สาธารณะ สถานที่ทำงานหรือในสถาบันศึกษาเพราะผู้ประสบปัญหามักจะไม่กล้าออกมาแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุขึ้นมักจะไม่มีหลักฐาน อีกทั้งยังต้องเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำผิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานเหนือกว่า จึงทำให้ผู้ประสบปัญหาจำนวนมากขาดที่พึ่งและเลือกที่จะเก็บปัญหาไว้เพียงลำพัง” แถลงการณ์ระบุ

“การคุกคามทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ซึ่งรัฐมีความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการคุ้มครอง ป้องกันแก้ไขตามพันธกิจระบุในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และยังตระหนักถึงความยากลำบากของหญิงที่ผ่านพ้นประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ”

สำหรับรายชื่อ 16 องค์กร ประกอบด้วย

มูลนิธิผู้หญิง

มูลนิธิเพื่อนหญิง

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร

มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ

มูลนิธิเอ็มพลัส

มูลนิธิซิสเตอร์

แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

สำนักพิมพ์สะพาน

กลุ่มทำทาง