พาณิชย์- ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ซื้อ-ขายหุ้นคืน หนุนธุรกิจบริหารสภาพคล่อง

สินิตย์ เลิศไกร
สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือ ก.ล.ต.แก้ไขกฎกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ซื้อหุ้นคืน จำหน่ายหุ้นซื้อคืน รวมถึงตัดหุ้นซื้อคืนออก ประกาศราชกิจจาฯ มีผลแล้วเมื่อ 11 เม.ย.2565

วันที่ 23 เมษายน 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)

ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท พ.ศ. 2544 ครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมรายการเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืน มติที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืนและการแก้ไขหรือยกเลิกการซื้อหุ้นคืน และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขหรือยกเลิกการซื้อหุ้นคืน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทราบข้อมูลครบถ้วน สมบูรณ์ขึ้น

2. กำหนดให้กรรมการมีอำนาจในการอนุมัติการซื้อหุ้นคืนที่มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดได้ หากมีข้อบังคับกำหนดไว้

3. ปรับปรุงถ้อยคำเกี่ยวกับวิธีการซื้อหุ้นคืนและวิธีการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนในกรณีหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

4. ลดระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่จาก 1 ปี เป็น 6 เดือน และลดระยะเวลาการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัทจาก 6 เดือน เป็น 3 เดือน ทำให้บริษัทสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น

5. เพิ่มเติมวิธีการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน ให้สามารถจำหน่ายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม กรรมการหรือพนักงานของบริษัท (ESOP)

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สอดคล้องกับแนววิถีการประกอบธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้บริษัทสามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอดจน เป็นการคุ้มครองผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อำนวยความสะดวก และเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทในภาพรวม