คืบหน้าไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-โคราช ปลดล็อกสถานีอยุธยาเชื่อม EEC

สถานีอยุธยา

อัพเดตความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ณ 25 มีนาคม 2565

โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย เริ่มต้นนับ 1 มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค

รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

โดยโครงการรถไฟไทย-จีนประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการ 100% และในการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาฝ่ายไทยเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเองทั้งหมด และจ้างฝ่ายจีนออกแบบ ควบคุมงาน และติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ

ซึ่งจากการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเองทั้งหมด จะทำให้ประเทศไทยสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ เช่น สามารถกำหนดรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงข่ายหลักในการขนส่งผู้โดยสาร

ส่วนรถไฟ 1 เมตรเป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้า ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 และมีอิสระในการกำหนดแผนในการเดินรถ (operation) ป้องกันสินค้าจากต่างประเทศที่อาจเข้ามาจำนวนมากได้

เน้นนโยบาย Thai First

ปัจจุบัน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางระบบรางที่จะช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค และโอกาสที่จะช่วยผลักดันเม็ดเงินการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจแก่ประชาชนทุกระดับ

ผ่านนโยบาย “Thai First” กำหนดให้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการสร้างงานให้คนไทยและสามารถต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประทศ ลดภาระงบประมาณที่ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ได้เร่งรัดการดำเนินการลงนามสัญญางานโยธา จากเดิมที่มีการลงนามสัญญาและก่อสร้างงานโยธาเพียง 1 สัญญา ปัจจุบัน สามารถเร่งรัดสัญญางานโยธาของโครงการจนสามารถลงนามและก่อสร้างได้มากกว่า 10 สัญญา

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

แก้ไขสัญญา “จ้างที่ปรึกษา”

ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยเป็นความก้าวหน้าโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีรายละเอียดดังนี้

1.สัญญา 2.1 (งานจ้างออกแบบรายละเอียด) ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาแบ่งเป็น 2.1 กับรัฐวิสาหกิจจีน (China Railway Design Corporation : CRDC กับ China Railway International : CRIC) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 1,706.7 ล้านบาท โดยฝ่ายจีนได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ

2.สัญญา 2.2 (งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง) เริ่มงานเมื่อ 21 ธันวาคม 2560 อยู่ระหว่างดำเนินงานตามสัญญา โดยได้มีการลงนามแก้ไขแนบท้ายสัญญา 2.2 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง

3.สัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร) ลงนามสัญญาแล้วเมื่อ 28 ตุลาคม 2563 เริ่มงานออกแบบวันที่ 22 ธันวาคม 2563 โดยผู้รับจ้างได้ส่งรายงานการออกแบบให้ ร.ฟ.ท.ตรวจสอบแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบแบบรายละเอียดและเบิกค่าจ้างล่วงหน้า

ครม.อนุมัติเวนคืน 5 จังหวัด

4.ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 โดยร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของ 5 จังหวัด รวมเนื้อที่ประมาณ 667 ไร่

รายละเอียดได้แก่ ท้องที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ ดอนเมือง กรุงเทพฯ, อ.ลำลูกกา อ.ธัญบุรี อ.คลองหลวง อ.เมืองปทุมธานี, อ.สามโคก จ.ปทุมธานี อ.บางปะอิน อ.พระนครศรีอยุธยา อ.อุทัย อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา

อ.หนองแซง อ.เสาไห้ อ.เมืองสระบุรี อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.เนินสูง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา รวมเนื้อที่ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง

สำหรับการนำพื้นที่มาก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ ขนาดทาง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ระยะทาง 253 กิโลเมตร สถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ 4 สถานี ศูนย์ควบคุมการเดินรถและซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 1 แห่ง รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอด และทางคนลอดใต้ทางรถไฟแทน

โดยร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ 4 ปี และให้เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเริ่มสำรวจได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีผลใช้บังคับ โดย ร.ฟ.ท.ประเมินมูลค่าโครงการ 179,412 ล้านบาท ประกอบด้วยค่ารื้อย้ายและเวนคืน สัญญางานโยธา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

กำลังสร้าง 9 สัญญา

5.ความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2565) ดังนี้

ขั้นตอน “ก่อสร้างแล้วเสร็จ” มี 1 สัญญา สำหรับสัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก

ขั้นตอน “อยู่ระหว่างก่อสร้าง” มีจำนวน 9 สัญญา ได้แก่ 1.สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก (ระยะทาง 11 กิโลเมตร) แผนงานกำหนด 100% มีผลงานจริง 83.48% ช้ากว่าแผน 16.52%

2.สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง (12.23 กิโลเมตร) แผนงาน 10.07% มีผลงานจริง 0.51% ช้ากว่าแผน 9.56%

3.สัญญา 3-3 บันไดม้า-ลำตะคอง (21.60 กิโลเมตร) แผนงาน 22.04% มีผลงานจริง 2.27% ช้ากว่าแผน 19.77%

4.สัญญา 3-4 ลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด (37.45 กิโลเมตร) แผนงาน 17.69% มีผลงานจริง 18.48% เร็วกว่าแผน 0.79%

5.สัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา (12.38 กิโลเมตร) แผนงาน 17.92% มีผลงานจริง 2.15% ช้ากว่าแผน 15.77%

6.สัญญา 4-2 ดอนเมือง-นวนคร (21.80 กิโลเมตร) แผนงาน 0.01% มีผลงานจริง 0.00% ช้ากว่าแผน 0.01%

7.สัญญา 4-3 นวนคร-บ้านโพ (23.00 กิโลเมตร) แผนงาน 7.98% มีผลงานจริง 0.59% ช้ากว่าแผน 7.39%

8.สัญญา 4-6 พระแก้ว-สระบุรี (31.60 กิโลเมตร) แผนงาน 0.01% มีผลงานจริง 0.00% ช้ากว่าแผน 0.01%

และ 9.สัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย (12.99 กิโลเมตร) แผนงาน 12.07% มีผลงานจริง 13.75% เร็วกว่าแผน 1.68%

ขั้นตอน “เตรียมการก่อสร้าง” 1 สัญญา สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย

เข้าคิวรอประมูล 3 สัญญา

5.4.สัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา ได้แก่

สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า (30.21 กิโลเมตร) ติดประเด็นเรื่องศาลปกครอง

สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง (15.21 กิโลเมตร) ติดประเด็นการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมที่สถานีดอนเมืองกับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว (13.30 กิโลเมตร) ติดประเด็นการแก้แบบสถานีอยุธยาเนื่องจากปัญหาพื้นที่เมืองมรดกโลก

สถานีอยุธยา 2 พันล้าน

ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยาที่ได้มีข้อกังวลจากศูนย์มรดกโลก UNESCO กรณีผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงต่อแหล่งมรดกโลกอยุธยา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดและผลักดันให้มีการหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดได้ข้อยุติการดำเนินการตามรูปแบบสถานีเดิมตามรายงาน EIA ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วว่าเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่กระทบต่อการเป็นมรดกโลกของอยุธยาแต่อย่างใด

รายละเอียดการปรับรูปแบบตามรายงาน EIA มีดังนี้ ค่าก่อสร้างอาคารวงเงิน 2,250 ล้านบาท ค่างานโครงสร้าง+คานทางวิ่งที่ก่อสร้างได้ก่อน 614 ล้านบาท (คงเหลือส่วนค่าก่อสร้างสถานีอยุธยา 1,636 ล้านบาท)

ทั้งนี้ รูปแบบสถานีตาม EIA ปี 2560 ต่อมามีการประมาณราคาใหม่ ณ เดือนมีนาคม 2565) ซึ่งมีผลกระทบสถานการณ์โควิดกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนค่าวัสดุและน้ำมันแพงขึ้น จึงมีการกำหนดค่า “เผื่อส่วนค่าดำเนินการเพิ่มขึ้น 20%” วงเงิน 327 ล้านบาท

ค่าก่อสร้างงานอื่น ๆ บริเวณพื้นที่โดยรอบ (additional works) 198 ล้านบาท

เบ็ดเสร็จคงเหลือค่าก่อสร้างส่วนสถานีอยุธยาทั้งสิ้น 2,161 ล้านบาท


ขั้นตอนจากนี้เตรียมเปิดประกวดราคาเพื่อจัดหาผู้รับเหมาเข้ามาเปิดไซต์ก่อสร้างต่อไป