ไทยพาณิชย์คาดไตรมาส 3 นี้ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75%

ภป-จับตาขึ้นดอกเบี้ยกู้

EIC หรือศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาด กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังเงินเฟ้อเร่งตัวและเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เผยแพร่บทความที่เขียนโดยดร. สมประวิณ มันประเสริฐ, วชิรวัฒน์ บานชื่น และณิชนันท์ โลกวิทูล มีเนื้อความระบุว่า

EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาส 3 ปี 2565 ผลการประชุม กนง.ในวันนี้แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวและจะยังยืนอยู่ในระดับสูง

พร้อมทั้งได้ส่งสัญญาณว่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป EIC จึงมองว่า กนง.จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps (0.25%) ในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อลดระดับนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลายมาก (ultra-easy monetary policy) โดยมีปัจจัยดังนี้

1. เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีเช่นกัน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการเปิดประเทศ จึงทำให้โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม

2. อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าที่คาด โดยแม้ว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยอุปทานเป็นหลัก แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้การส่งผ่านต้นทุนอาจมากและเร็วกว่าคาด ซึ่งจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือน

โดย ธปท.ประเมินว่า นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนปรับสูงขึ้นราว 850 บาทต่อเดือน (3.6% ของรายได้) ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ย 1% จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 120 บาทต่อเดือน (0.5% ของรายได้) ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงอาจช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ (demand-pull inflation) ในระยะต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อต่อไป

3. อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ลดลง และเงินบาทที่อ่อนค่าลงเร็วในช่วงที่ผ่านมา เงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ) ของไทยปรับลดลง ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (รูปที่ 1) ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากไทยตามการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลงได้อีก ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยชะลอเงินไหลออกได้

ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal effective exchange rate: NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real effective exchange rate: REER) ยังไม่ปรับอ่อนค่าลงมากนัก โดยนับตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ดัชนี NEER และ REER อ่อนค่าลงเพียง 1% และ 1.6% ตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 4.8%

4. เงินเฟ้อคาดการณ์เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า) ของครัวเรือนเริ่มปรับสูงขึ้นจาก 2.5% ในเดือนพฤศจิกายน 2021 สู่ 3.1% ในเดือนพฤษภาคม 2022 อย่างไรก็ดี คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวยังคงถูกยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% โดยคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 1.7% (ผลสำรวจเดือนเมษายน 2022)