ญี่ปุ่น ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นชูนโยบายใหม่ ขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำเฉลี่ยเป็น 961 เยน/ชม. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หวังเติมเงินในกระเป๋าประชาชน สู้ราคาสินค้าแพง 

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 รอยเตอร์ รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่าค่าเเรงขั้นต่ำเฉลี่ยของญี่ปุ่นจะถูกปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกจากความพยายามของนายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกิดขึ้นทั่วโลก

โดยกระทรวงสาธารณสุข เเรงงาน เเละสวัสดิการ ญี่ปุ่น ได้อนุมัติตามคำเเนะนำของคณะอนุกรรมการอย่างเป็นทางการเเล้ว ให้มีการปรับเพิ่มค่าเเรงขั้นต่ำสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2566 โดยเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ 3.3% หรือเป็น 31 เยน จากระดับปัจจุบันที่ 930 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 256.37 บาท/ชั่วโมง) ขึ้นไปเป็น 961 เยนต่อชั่วโมง หรือประมาณ 7.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง (ประมาณ 264.91 บาท/ชั่วโมง)

หลังจากที่ได้มีการประชุมคณะที่ปรึกษาของกระทรวงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง

นายคิชิดะกำลังหวังด้วยว่า การขึ้นค่าเเรงจะสามารถช่วยขับเคลื่อนนโยบายหลักของเขาที่จะกระจายความมั่งคั่งไปยังกลุ่มประชากรในวงกว้าง เพื่อให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับมาฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการ ซึ่งจัดทำขึ้นทุกปี และทำหน้าที่เป็นมาตรฐานค่าเเรงขั้นต่ำระดับประเทศ ได้รับการอนุมัติหลังจากที่ถูกจัดทำโดยคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนในวงกว้าง ทั้งฝ่ายบริหารและสหภาพแรงงาน ตลอดจนนักวิชาการต่าง ๆ

การตัดสินใจเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาประจำปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของทุกปี โดยมีบริษัทใหญ่ต่าง ๆ ให้ข้อเสนอที่จะเพิ่มค่าเเรงขั้นต่ำขึ้น 2% เพื่อชดเชยให้กับพนักงานสำหรับค่าเงินเฟ้อที่กดดันราคาสินค้า

การขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำนั้น ถูกปรับขึ้นโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเเตกต่างจากการเจรจาในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เกิดขึ้นทุกปีของญี่ปุ่น ที่การเจรจานี้จะเป็นการเจรจาปรับขึ้นเงินเดือนโดยตรงระหว่างผู้จัดการองค์กรเเละสหภาพเเรงงาน

โยชิมาสะ มารุยามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์การตลาด ซูมิโตะ มิตซุย เเบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC Nikko Securities) กล่าวว่า ด้วยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มากกว่า 2% และศักยภาพในการเติบโตของญี่ปุ่นที่ประมาณ 1% การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นสมเหตุสมผล สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในเรื่องการเพิ่มค่าแรงที่สูงขึ้น

เขากล่าวเสริมอีกว่า สิ่งที่สำคัญคือการเพิ่มค่าเเรงให้สูงขึ้นในลักษณะที่ยั่งยืน เเทนที่จะเป็นการเพิ่มเเค่รวดเดียว

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าในการเพิ่มค่าเเรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยไปอยู่ที่ 1,000 เยน หรือสูงกว่านั้น “ให้ได้โดยเร็วที่สุด”

ค่าจ้างเฉลี่ยของญี่ปุ่นมีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย นับตั้งเเต่ปี 2543 เเม้ว่าตลาดเเรงงานจะตึงตัว เนื่องจากเเรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้บริษัทหลายเเห่งที่ระมัดระวังเรื่องต้นทุนคงที่ที่เพิ่มขึ้นใช้เป็นข้ออ้างในการระงับการขึ้นค่าเเรง

หากเเต่การพยายามระงับการขึ้นค่าเเรงนั้นกำลังเปลี่ยนไปเมื่อราคาต้นทุนสินค้านำเข้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากเเรงหนุนจากข้อจำกัดด้านอุปทานเเละสงครามในยูเครน ได้ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นผ่านการบังคับให้หลายบริษัทต้องปรับขึ้นราคาสินค้า

ในเดือนมิถุนายน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลักในญี่ปุ่นเพิ่มตัวสูงขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ช้ากว่าเศรษฐกิจในประเทศตะวันตกหลาย ๆ ประเทศ หากเเต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งไว้เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

“ทุนนิยมใหม่”

อ้างอิงเพิ่มเติมจากบทวิเคราะห์ของ นิกเคอิ เอเชีย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นถือเป็นหนึ่งในสโลเเกนการกระจายรายได้ใหม่ของนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ที่มุ่งมั่นจะสร้าง “ทุนนิยมใหม่” ในสังคมญี่ปุ่น

เซย์จิ คิฮาระ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวในงานเเเถลงข่าวว่า เราต้องการจะเห็นการขึ้นค่าเเรงที่จะมีความเหมาะสมสำหรับยุคของทุนนิยมใหม่

เขาเสริมด้วยว่า รัฐบาลจะเร่งความพยายามในการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในการปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ค่าแรงขั้นต่ำของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ขณะที่ยังมีช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างเขตเมืองและชนบทด้วย ในปีงบประมาณ 2564 ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 1,041 เยน/ชั่วโมง ในกรุงโตเกียว หรือ 287.16 บาท/ชั่วโมง ขณะที่ต่ำสุดคือ 820 เยน/ชั่วโมง ในจังหวัดโคจิและโอกินาวา หรือ 226.20 บาท/ชั่วโมง

อัตราการเติบโตของค่าจ้างที่อ่อนแอเป็นเหตุผลหลักที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรักษานโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำมากไว้ก่อน โดยการขึ้นค่าเเรงที่เข้มข้นนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อให้ได้อย่างมั่นคงเเละยั่งยืน