BOJ ทวนกระแส ตรึงดอกเบี้ยต่ำ -0.1% ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น

บีโอเจ ญี่ปุ่น แบงก์ชาติ
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Photo by Kazuhiro NOGI / AFP)

ธนาคารกลางญี่ปุ่น ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นเป็น 2.3% จีดีพีปรับลงเหลือ 2.4% 

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 รอยเตอร์สรายงานระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือบีโอเจ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจะเกินเป้าหมายในปีนี้ ตามการคาดการณ์ครั้งใหม่ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษและส่งสัญญาณถึงการแก้ไข ในช่วงที่คลื่นนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกเข้มงวดขึ้น

ซึ่งเป็นไปตามคาดหมายว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยเป้าหมาย -0.1% สำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 0%

การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% ของธนาคารกลางญี่ป่น ในวันนี้ (21 ก.ค.) มีขึ้นก่อนการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะมีการประชุมในคืนนี้หลายชั่วโมง โดยตลาดคาดการณ์ อีซีบีจะพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

ขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ผลักดันให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมายที่ 2%

อีกทั้งบีโอเจยังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า จะไม่เร่งรีบถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการเติบโตทั่วโลกที่ชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอ่อนแอ

“ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นสูงมาก เราต้องระวังการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินและสกุลเงิน รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและราคา” เป็นคำกล่าวในรายงานประจำไตรมาสที่ออก ภายหลังการแถลงข่าวคงอัตราดอกเบี้ย

พร้อมย้ำเตือนถึงการอ่อนค่าของเงินเยนที่อ่อนค่าลงในรายงานว่า “มีความผันผวนที่รุนแรง” ในตลาดสกุลเงินและมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นว่ายทวนน้ำ

อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินยังปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มเป็น 2.3% จาก 1.9% สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2566 พร้อมเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีถัดไปเป็น 1.4% จาก 1.1%

และปรับลดคาดการณ์การเติบโต (จีดีพี) ลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% โดยเตือนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากข้อจำกัดด้านอุปทานที่ยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และการระบาดใหญ่

“อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนักในญี่ปุ่น (เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ)” ฮิโรอากิ มูโต นักเศรษฐศาสตร์จาก ซูมิโตโม ไลฟ์ อินชัวรันส์ กล่าวและว่า “ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่ากำลังทำร้ายเศรษฐกิจ และบีโอเจมีแรงจูงใจเพียงเล็กน้อยในการปรับนโยบาย”

อย่างไรก็ตาม บีโอเจระบุว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อกำลังสูงขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก รวมถึงการขึ้นค่าแรงด้วย

ในแถลงการณ์ที่ออกหลังจากการตัดสินใจ บีโอเจยังคงให้คำมั่นที่จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากจำเป็นและคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ “ปัจจุบันหรือต่ำกว่า” เพื่อรองรับการเติบโต

อย่างไรก็ตาม การว่ายทวนกระแสการเงินที่ตึงตัวทั่วโลกนั้นไม่ได้ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น หรือ Divergence ได้ผลักดันให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี กระทบต่อครัวเรือนและผู้ค้าปลีกจากเพิ่มต้นทุนการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น

โดยแสดงผลให้เห็นในตัวเลขการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเนื่องจากการนำเข้าพุ่งขึ้น 46.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง

ข้อมูลล่าสุดของบีโอเจแสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางถูกบังคับให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) มูลค่า 16 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนมิถุนายน เพื่อปกป้องช่องว่างของอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยอายุ 10 ปี ที่มีสูงสุด 0.25%

อีกทั้งการกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังส่งผลให้บีโอเจถือครองตราสารหนี้เกิน 50% ซ้ำรอยความพยายามในอดีตที่ญี่ปุ่นพยายามลดงบดุล ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ตึงตัวด้วย ทั้งนี้ ล่าสุด อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 138 เยน