จับชีพจรการฟื้นตัว ด้วยพัฒนาการ “ค่าจ้าง”

จับชีพจรการฟื้นตัว
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด

ผู้เขียน : ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์, พรชนก เทพขาม, ดร.นครินทร์ อมเรศ ธปท. 
พัชยา เลาสุทแสน สนง.สถิติแห่งชาติ

ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจพิจารณาได้ในหลายมิติควบคู่ไปกับตัวชี้วัดที่หลากหลาย เครื่องชี้มหภาคสะท้อนผ่านตัวเลขการขยายตัวของ GDP ทั้งในด้านอุปสงค์ อาทิ การบริโภคและการลงทุน และในด้านอุปทานผ่านกิจกรรมในสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ ขณะที่ตัวเลขความเชื่อมั่นทั้งจากผู้ประกอบการและประชาชนก็แสดงถึงทิศทางเศรษฐกิจได้

อีกเครื่องชี้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะข้อต่อที่จะเชื่อมโยงผลบวกจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในภาพรวมไปยังกำลังซื้อของหน่วยเศรษฐกิจย่อยในระดับครัวเรือน คือ ตัวเลขการขยายตัวของ “ค่าจ้าง” จึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันจับชีพจรการฟื้นตัว ด้วยตัวเลขสถิติดังกล่าว

ก่อนอื่นขอเกริ่นถึงโครงสร้างตลาดแรงงานไทยว่ามีสัดส่วนของเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพ อิสระ และลูกจ้างธุรกิจขนาด SMEs ต่อกำลังแรงงานอยู่มาก ทำให้การติดตามประเมินภาวะของค่าจ้างด้วยข้อมูลทะเบียนทางการทำได้ค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำแบบสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรรายไตรมาสต่อเนื่องมากว่า 3 ทศวรรษ โดยสำรวจตัวอย่างกว่า 2 แสนคนต่อไตรมาส จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยปกติตลาดแรงงานไทยจะมีพัฒนาการไปตามลำดับ คือ ในระยะแรกของการฟื้นตัว ผู้ประกอบการจะเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างโดยเฉพาะการทำงานล่วงเวลา ก่อนที่จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจนทดแทนการทำงานล่วงเวลาด้วยการจ้างงานเพิ่ม

และในที่สุดเมื่อเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเต็มที่จะพบการขยายตัวของทั้งการจ้างงานและการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเมื่อคัดเลือกเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตร ที่มีตัวอย่างเกินกลุ่มละ 10 คน และมีค่าจ้างเฉลี่ยขยายตัวครึ่งแรก ปีนี้เทียบกับปีก่อน 8,827 ตัวอย่าง ครอบคลุมแรงงาน 2.92 ล้านคน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่เติบโตเข้มแข็ง มีการจ้างงานและจำนวนชั่วโมงทำงานขยายตัวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าจ้าง ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติและได้ประโยชน์จากการบริโภคและการใช้บริการหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุม

โดยกิจกรรมที่มีค่าจ้างขยายตัวส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนเติบโตดีครอบคลุมแรงงานกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉพาะภาคบริการ ร้านอาหาร ร้านค้าและโรงแรม อาทิ บริกรร้านอาหารวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้นหรือน้อยกว่าในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท และมีค่าจ้างแรงงานจบใหม่เฉลี่ยเดือนละ 14,300 บาท สูงกว่าที่แรงงานเดิมได้รับ สะท้อนการแข่งขันของนายจ้างในการดึงดูดแรงงาน

กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโต เพิ่มการจ้างงานและลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจึงจ้างลูกจ้างประจำเพิ่มขึ้น อาทิ การจ้างงานพนักงานโรงงานอาหารวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้นหรือน้อยกว่าในพื้นที่นอกเขต กทม. ปริมณฑล และจังหวัด EEC โดยให้ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 16,100 บาท และ 12,000 บาท สำหรับแรงงานจบใหม่

กลุ่มที่มีความไม่แน่นอนสูง ลดการจ้างงาน แต่เพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงาน ส่วนใหญ่เป็น “ลูกจ้างรายวัน” ที่มีทักษะไม่สูงและทำงานในตำแหน่งปฏิบัติการ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณทั้งด้านบวกว่า กำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน จากชั่วคราวไปเป็นประจำ หรือสะท้อนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

เนื่องจากแรงงานออกไปทำงานประจำที่มีความมั่นคงมากกว่าเมื่อมีทางเลือกในช่วงที่ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้น อาทิ ช่างก่อสร้างรายวันที่มีการศึกษาระดับมัธยมต้นหรือต่ำกว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 8,900 บาท และ 7,400 บาท สำหรับแรงงานจบใหม่

ตัวเลขค่าจ้างที่ขยายตัวกระจายในหลากหลายกลุ่มแรงงานทั้งในมิติวุฒิการศึกษา สาขาวิชา ประเภทงาน กิจกรรมเศรษฐกิจ และพื้นที่ แสดงถึงความตึงตัวในด้านค่าจ้างควบคู่ไปกับอัตราการว่างงานที่ลดลง ซึ่งสะท้อนความตึงตัวในด้านปริมาณแรงงาน จึงเป็นแรงส่งด้านบวกที่มีต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมเช่นกันว่าภาวะตลาดที่ตึงตัวเร็วอาจนำมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเพิ่มภาระต้นทุนค่าจ้างของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจจะวนกลับมาส่งผ่านผลกระทบ ด้วยการขึ้นราคาสินค้าและบริการได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การที่ภาคบริการจำนวนหนึ่งเพิ่มค่าจ้างเพื่อจูงใจแรงงานอายุน้อยที่มีทักษะไม่สูงนัก อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะแรงงานเหล่านี้ในระยะยาว การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้ จึงไม่อาจให้น้ำหนักกับการกระตุ้นอุปสงค์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มบทบาทการยกระดับ ศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างยั่งยืน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมาก