#ล้างหนี้ กยศ. ถอดบทเรียน “อังกฤษ” ยกเลิกเรียนฟรี

ล้างหนี้ กยศ.
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
Bnomics : ธนาคารกรุงเทพ

สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐเริ่มมีกระแสกดดันให้รัฐบาลยกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาบางส่วนเพื่อปลดภาระของประชาชน ส่วนไทย ก็มีผู้เริ่มต้นจุดกระแส #ล้างหนี้ กยศ. เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษา

แน่นอนว่าในโลกออนไลน์ย่อมมีผู้คิดเห็นหลากหลาย บางส่วนมองว่าการล้างหนี้ กยศ. และปรับให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปสามารถเรียนมหาวิทยาลัยฟรีทุกคน จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องเป็นหนี้

ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นการส่งเสริมให้คนขาดวินัยทางการเงิน และไม่เป็นธรรมต่อผู้กู้ที่มีวินัยตั้งใจทำงานหาเงินมาชำระคืนกองทุน กยศ. และจะทำให้เด็กรุ่นต่อ ๆ ไปมีโอกาสเข้าถึงเงินกู้ได้ยากขึ้นจนอาจหลุดจากระบบการศึกษา

บทความนี้คงไม่ได้มาชี้ว่าใครถูกใครผิด แต่จะมาเล่ากรณีของ “อังกฤษ” ที่ครั้งหนึ่งเคยให้ทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยฟรี แต่ตัดสินใจยกเลิกนโยบายนี้ ด้วยเหตุผลอะไร แล้วผลลัพธ์มาเป็นอย่างไร

ในอดีตนักเรียนทุกคนในอังกฤษสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยรัฐได้ฟรี โดยอาศัยเงินอุดหนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นและรัฐบาล นอกจากนี้นักเรียนทุกคนยังสามารถกู้ยืมเงินเป็นค่าครองชีพจากรัฐบาลแล้วค่อยชำระคืนหลังเรียนจบ ส่วนนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระหว่างเรียนอีกด้วย

ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ไปจนถึงทศวรรษ 1990 ความต้องการแรงงานที่เรียนจบมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น คนก็แห่ไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างมากจนระบบเรียนฟรีเกิดปัญหาด้านงบประมาณ ทำให้งบฯต่อหัวของนักเรียนลดลงไปกว่า 25%

รัฐบาลพยายามจำกัดจำนวนนักเรียนที่ได้เรียนฟรีในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่งบประมาณต่อหัวก็ยังคงลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 1998 งบประมาณต่อหัวนักเรียนเหลือเพียง 50% ของที่รัฐบาลเคยให้ในช่วง 2 ทศวรรษก่อนหน้า

จริงอยู่ว่าการให้โอกาสทุกคนเรียนฟรี ทำให้เด็กที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้ คนสมัครเรียนโดยรวมจึงเพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนของคนที่เรียนจบปริญญาพบว่า ช่องว่างระหว่างนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้สูงและรายได้น้อย กลับมีความแตกต่างกันมากขึ้นเป็นเท่าตัว

เพราะแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี เด็กจากครอบครัวรายได้น้อยก็ยังคงไม่มีเงินค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าหอพัก ค่าหนังสือ ค่าเดินทาง

คนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ จึงเป็น นักเรียนจากครอบครัวรายได้ปานกลางและรายได้สูงมากกว่า ทั้งเมื่อรัฐบาลให้ทุกคนเรียนฟรี ก็ทำให้งบประมาณช่วยเหลือนักเรียนที่รายได้น้อยลดลง

หลังการปฏิรูปการศึกษาในปี 1998 อังกฤษยกเลิกระบบเรียนมหาวิทยาลัยฟรี และเก็บค่าเรียนสูงสุดราว ๆ 1,000 ปอนด์ต่อปี ถ้านักเรียนที่ครอบครัวรวยก็จ่ายค่าเรียนตามปกติ แต่ใครจ่ายไม่ไหวก็มีโปรแกรมกู้ยืมเงินแบบ income-contingent loan (ICL) คือ การกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นศูนย์

และให้ชำระคืนหลังเรียนจบ ทำงานมีรายได้เกินเกณฑ์ขั้นต่ำ อีกทั้งรัฐบาลยังจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือที่สุด

ผลปรากฏว่าจำนวนคนอายุถึงเกณฑ์เข้ามหาวิทยาลัยที่สมัครเรียนหลังปี 1998 ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และถึงแม้นักเรียนจากครอบครัวรายได้สูง มีสัดส่วนเข้าเรียนมากกว่า แต่นักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ก็มีสัดส่วนในการเข้าเรียนเพิ่มขึ้นหลังปฏิรูปการศึกษา ด้านงบประมาณต่อหัวของนักเรียนก็เพิ่มขึ้นกว่าครึ่ง หลังปี 1999 เป็นต้นมา

มาถึงตรงนี้ ทุกคนคิดว่า การให้เรียนฟรี เป็นคำตอบสำหรับทุกอย่างหรือไม่ ?

คำตอบอาจจะเป็น ไม่

เพราะนอกจากประเด็นต้นทุนการศึกษาในรูปค่าเล่าเรียนแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ผู้ออกนโยบาย ควรคำนึงถึงคือ สภาพคล่อง ของผู้เรียนในการจ่ายค่าครองชีพต่าง ๆ ระหว่างเรียนมากกว่า

การที่คนยังเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น แม้จะไม่มีเรียนฟรีแล้ว เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องไปหาเงินก้อนมาจ่ายก่อนถึงจะได้เรียน แต่เป็นการ “เรียนก่อน จ่ายทีหลัง” แล้วบางคนที่เรียนจบไปมีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ไปตลอด ก็เสมือนไม่ต้องจ่ายค่าเรียนเลยด้วยซ้ำ

จริงอยู่ว่าในประเทศที่มีทรัพยากรจำนวนมาก การให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัยอาจเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคม

แต่หากทรัพยากรมีไม่เพียงพอ จนการให้ทุกคนเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้คุณภาพมหาวิทยาลัยโดยรวมด้อยลง การเลือกสนับสนุนคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เพื่อให้เข้าถึงการศึกษา และช่วยให้คนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีรายได้มากพอแม้จะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ส่วนใครที่อยากเรียนมหาวิทยาลัยก็มีเงินให้ยืมไปเรียนก่อน ผ่อนจ่ายเมื่อมีเงินเดือนมากพอ อาจจะเป็นคำตอบที่เป็นประโยชน์ และดีต่อทุกคนในสังคมมากกว่า