ลุ้นร่างกฎกระทรวง “ผังน้ำ” ซื้อที่ดินระวังถูก “รอนสิทธิ”

ผังน้ำ
คอลัมน์​ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

ภาพตา-ยาย วัยกว่า 70 ปี ที่อาศัยอยู่แถว อ.เสนา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ทนทุกข์กับเหตุการณ์น้ำท่วม ระดับ 2-3 เมตร นานร่วม 2-3 เดือน ข้าวของเสียหาย แถมระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนต้องเอาไม้พาดกับขื่อคานของบ้านเป็นที่อาศัยหลับนอน ซึ่ง อ.เสนา อ.บางบาล ถือเป็น 2 อำเภอที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี !

ขณะที่อีกหลายจังหวัดในภาคกลาง ทั้งสิงห์บุรี อ่างทอง และแถบภาคอีสานอย่าง จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ฯลฯ บางพื้นที่ปีนี้เพิ่งเคยเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมจมมิดหลังคา

ชาวบ้านหลายจังหวัดบอกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นปีนี้ถือว่าท่วมสูงกว่าปี 2554 โดยหลายบ้านขีดระดับน้ำที่เคยท่วมในอดีตไว้

สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมหนัก นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภูมิอากาศแบบ “ลานิญา” หรือภาวะฝนมาก น้ำมาก แนวโน้มสถานการณ์ลานิญาอาจจะลากยาวไปจนถึงต้นปี 2566

ดังเช่น เหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต ทั้ง อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ และ อ.ถลาง จมบาดาล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2565 สามารถวัดปริมาณน้ำฝนตกมาสูงสุดวัดได้ถึง 230 มิลลิเมตร ภายในวันเดียว ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 30 ปี แม้วันนี้เกาะภูเก็ตที่ล้อมรอบด้วยทะเล สามารถระบายน้ำลงทะเลได้ภายในวันเดียว

แต่ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เมืองหลายจังหวัดเกิดจากการถมพื้นที่สร้างอาคารบ้านเรือน เป็นเหมือนกำแพงใหญ่ กีดขวางทางเดินของน้ำ

ล่าสุด กรมโยธาธิการและผังเมืองเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว ด้วยการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 จะเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ด้วยการเพิ่ม “ผังน้ำ” หรือ “ผังระบายน้ำจังหวัด” เข้าไป เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว โดยจะทำเป็นผังน้ำระดับอำเภอ รวม 878 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหา “น้ำท่วมซ้ำซาก”

โดยมีการจัดวางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้น้ำไหลผ่านโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดวันนี้

พงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุกวันนี้หลายจังหวัดเมืองขยายออกไป การไปปลูกสิ่งก่อสร้างเป็นการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำลดลง ทำให้น้ำท่วมขังได้ การทำผังระบายน้ำเป็นการแก้ปัญหาเรื่องทางกายภาพ ทางด้านผังเมือง ซึ่งได้มองมิติการแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงจะกำหนดห้ามถมดิน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมเมือง

ซึ่งกรมโยธาธิการฯยอมรับว่า การออกกฎกระทรวงลักษณะนี้ ถือเป็น “การลิดรอนสิทธิ” แต่เพื่อแก้ปัญหาโดยภาพรวม เช่น โฉนดบ้านใครเป็นพื้นที่แก้มลิง ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เจ้าของที่ดินจะไปถมที่ดินผืนนี้ทำโรงงานไม่ได้

หรือจะถมดินสร้างบ้าน ต้องยกระดับบ้านให้มีใต้ถุนสูง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังตรงบริเวณนั้น

ดังนั้นในอนาคต หากใครจะซื้อที่ดินปลูกบ้าน สร้างโรงงาน หรือไปซื้อบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ควรต้องสำรวจ “ผังน้ำ” ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปีให้ดี

เพื่อไม่ต้องเผชิญชะตากรรมน้ำท่วมบ้านอย่างทุกวันนี้ และอนาคตหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะได้ไม่ถูกลิดรอนสิทธิไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มที่