ในประเทศเจริญแล้ว กฎหมายเข้มแข็ง-การบังคับใช้เข้มข้น ปกป้องประชาชนเสียประโยชน์

กฎหมายเข้มแข็ง
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี

หลายครั้งที่มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ หรือมีพฤติกรรมของภาคธุรกิจที่ส่งผล หรืออาจส่งผลต่อสังคม เรามักจะด่าทอบริษัทเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเราสามารถวิจารณ์และด่าได้ แต่ที่เราน่าจะเรียกร้องและคาดหวังได้มากกว่า “จิตสำนึก” ของภาคธุรกิจก็คือ กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่รับผิดชอบโดยภาครัฐ

ในประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนอาจไม่ต้องเสียเวลาเรียกร้องให้ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงสังคมมาก เพราะกฎหมายที่เข้มแข็งและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง ได้ทำหน้าท่ีปกป้องประชาชนแล้ว

อย่างในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายแข่งขันทางการค้า หรือกฎหมายต้านการผูกขาดที่เข้มงวด ชื่อว่ากฎหมาย Antitrust ซึ่งบริษัทที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมาย จะโดนรัฐฟ้อง

บริษัทใหญ่อย่าง Google โดนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฟ้องฐานละเมิดกฎหมาย Antitrust มาแล้วหลายคดี เช่น คดีครอบงำตลาดโฆษณาดิจิทัล คดีครอบงำตลาดการค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ (search engine) และคดีควบคุมตลาดแอปพลิเคชั่นบน Play Store ในระบบปฏิบัติการ Android เอาเปรียบนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น

ถ้าย้อนไปดูในยุคที่เทคโนโลยีใกล้ตัวผู้บริโภคยังไม่ได้มีหลากหลายอย่างตอนนี้ ในทศวรรษ 1990 บริษัท Microsoft ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ระบบปฏิบัติการ Windows ที่ครองตลาดระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เกือบทั้งโลกก็โดนฟ้องด้วยกฎหมายนี้เช่นกัน ซึ่งศาลพิจารณาพฤติกรรมของ Microsoft ว่าเป็นการกีดกันทางการค้า ขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายอื่น และกำจัดคู่แข่งที่มีอยู่เดิมในตลาด

หรือจะไปดูตัวอย่างกฎหมายคุ้มครองประชาชนในด้านอื่น ๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การดำรงชีพ ก็มีกรณีตัวอย่างที่ประชาชนสามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมได้จริง อย่างคดีที่ผู้เลี้ยงสาหร่ายในอินโดนีเซียยื่นฟ้อง PTTEP AAA บริษัทลูกของ ปตท.สผ. ต่อศาลประเทศออสเตรเลีย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย ที่เกิดเหตุเมื่อปี 2552

คดีนี้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเมื่อปลายปี 2564 ฝั่ง PTTEP AAA ขออุทธรณ์ นำไปสู่การไกล่เกลี่ยชดใช้ค่าเสียหาย 192.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ให้กลุ่มผู้เลี้ยงสาหร่ายในอินโดนีเซีย เพื่อระงับการดำเนินคดี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เห็นว่ากฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายควรจะทำงานปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างไร ในขณะที่ประเทศไทยเรากลับมีกฎหมายเฉพาะที่เปิดช่องให้ตีความกันว่า หน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายมีอำนาจที่ตัดสินอนุญาต ตั้งเงื่อนไข หรือห้ามควบรวมกิจการหรือไม่ แล้วสุดท้ายก็ตีความกันว่า ไม่มีอำนาจ มีสิทธิเพียงรับทราบ

…ซึ่งว่ากันตามคอมมอนเซนส์ หาก “กฎหมายเฉพาะ” ไม่ได้ให้ “อำนาจ” มากเท่ากฎหมายแข่งขันทางการค้าทั่วไป แล้วจะมีกฎหมายนั้นขึ้นมาเพื่ออะไร