ออสการ์ สิ้นมนต์ขลัง ? หนังดังเข้าชิงไม่ช่วยทำเงิน

โรงหนัง
pexels-pavel-danilyuk-7234474
คอลัมน์ : Market Move

รางวัลออสการ์หรืออะแคเดมีอะวอร์ดส์ ซึ่งเป็นรางวัลที่สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ของสหรัฐมอบให้กับภาพยนตร์ นักแสดงและทีมงานที่มีผลงานโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ในแต่ละปีนั้น อาจกำลังสูญเสียสถานะตัวกระตุ้นยอดขายตั๋วให้กับโรงภาพยนตร์ หลังพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปหลังผ่านพ้นการระบาดของโรคโควิด-19

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ความนิยมบริการสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คุณค่าของรางวัลออสการ์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะด้านการกระตุ้นยอดขายตั๋วที่ไม่หวือหวาเหมือนในอดีต ซึ่งการมีชื่อเข้าชิงออสการ์จะช่วยปลุกยอดขายตั๋วได้อย่างมโหฬารแม้ว่าจะฉายยืนโรงมานานหลายเดือนแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันสิ่งที่ปลุกได้กลับเป็นกระแสการรับรู้บนโซเชียลแทน

ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนได้ชัดเจนจากยอดขายตั๋วภาพยนตร์ช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมที่มีการเปิดเผยรายชื่อภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์ 10 เรื่องที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมียอดขายตั๋วในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาจาก อวตาร:วิถีแห่งสายน้ำ เพียงเรื่องเดียว

นับว่าน้อยเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต โดยตามข้อมูลของบริษัทวิจัยคอมสกอร์ (Comscore) เมื่อปี 2020 ตั้งแต่การเปิดเผยรายชื่อช่วงกลางเดือนมกราคมจนถึงการประกาศรางวัลในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ บรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิงสร้างยอดขายตั๋วในตลาดสหรัฐรวมกันได้ถึง 201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในอดีตการมีชื่อเข้าชิงออสการ์ช่วยกระตุ้นยอดขายตั๋วได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น American Sniper-อเมริกัน สไนเปอร์ นั้น รายได้ 99% หรือ 346 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดขึ้นหลังจากมีชื่อเข้าชิงรางวัล หรือเรื่องอื่น ๆ อย่าง 1917, Hidden Figures – ทีมเงาอัจฉริยะ และ Silver Linings Playbook – ลุกขึ้นใหม่ หัวใจมีเธอนั้น หลังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงก็สามารถสร้างรายได้ในสัดส่วนถึง 50% ของรายได้รวมในตลาดสหรัฐ

แต่ในปี 2566 นี้ ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลกลับทำรายได้หลังเสนอชื่อได้เพียงประมาณ 13% เท่านั้น ยกเว้นแค่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กเรื่อง Women Talking ที่หลังมีชื่อเข้าชิงสามารถสร้างรายได้ไปถึง 99% ของรายได้รวม หรือ 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการรับชมภาพยนตร์ที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปจากการเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์

“แบรนดอน แคทซ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจภาพยนตร์จากบริษัทวิจัย แพรอท อนาไลติก อธิบายว่า ปัจจุบันความต้องการชมเปลี่ยนไปอยู่บนออนไลน์ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงหลายด้านในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนกำหนดจัดงานประกาศรางวัลออกไปช้ากว่าเดิมประมาณ 1 เดือน หรือกระแสความนิยมสตรีมมิ่งที่มาแรงในช่วงโควิด-19 ระบาดได้ทำให้ผลลัพธ์ของการมีชื่อเข้าชิงรางวัลเปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่ แพรอท อนาไลติก คาดการณ์ว่า ช่วง 1 สัปดาห์หลังเปิดเผยรายชื่อภาพยนตร์ 10 เรื่องที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้น ความต้องการดูภาพยนตร์เหล่านี้จะมากขึ้นเฉลี่ย 21% โดยคำนวณจากจำนวนโพสต์และกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย การโพสต์-ดูวิดีโอ การค้นหาบนเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องอย่าง IMDB และวิกิพีเดีย ไปจนถึงการละเมิดลิขสิทธิ์

โดยภาพยนตร์ที่มีชื่อเข้าชิงไม่ว่าจะเป็น Everything Everywhere All at Once – ซือเจ๊ ทะลุมัลติเวิร์ส, The Fabelmans – เดอะ เฟเบิลแมนส์, Tar – ทาร์ และอื่น ๆ กลับสร้างยอดขายตั๋วหลังมีชื่อเข้าชิงได้เพียงไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับกระแสความสนใจบนโลกออนไลน์ ยกเว้นเพียง อวตาร:วิถีแห่งสายน้ำ ที่ทำรายได้ในช่วงเดียวกันนี้ไปถึง 15.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หนึ่งในสาเหตุของความแตกต่างสุดขั้วนี้ คือ ช่วงเวลาเปิดตัว โดยอวตารนั้นยืนโรงฉายต่อเนื่อง มาเป็นสัปดาห์ที่ 6 จึงยังมีโมเมนตัมการเข้าชมในโรงต่อเนื่องอยู่ แต่ซือเจ๊ฯเพิ่งกลับเข้าฉายในโรง อีกครั้งหลังหยุดไปนานถึง 6 เดือน เพราะเปิดตัวตั้งแต่ มีนาคม 2565 นานจนยากที่จะดึงผู้ชมให้กลับมาซื้อตั๋ว

“ปกติแล้วภาพยนตร์รางวัลออสการ์จะเปิดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ปีนี้มีเพียงแค่ 3 เรื่องที่เปิดตัวในช่วงเวลาดังกล่าว”

นอกจากนี้ การมีฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยังเป็นอีกสาเหตุ โดยเฉพาะในปีนี้ที่ 8 ใน 10 ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลยังมีให้ชมบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแล้วอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะทำเม็ดเงินได้ไม่มากนัก แต่การมีฉายบนออนไลน์อาจช่วยสร้างกระแสในหมู่ผู้ชมและช่วยให้ได้รับคะแนนโหวตมากขึ้นแทน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสคว้ารางวัลได้เช่นกัน

ต้องจับตาดูว่าในปีหน้าหลังผ่านพ้นยุคโควิด-19 อย่างสมบูรณ์แล้ว ผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ รวมถึงผู้จัดงานออสการ์จะปรับยุทธศาสตร์ของตนกันอย่างไร