“กูเกิล” กับวัฒนธรรมองค์กร จากหน้ามือเป็นหลังมือ

google
คอลัมน์​: Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา พนักงานกูเกิลราว 12,000 คนได้รับอีเมล์ไล่ออกอย่างงง ๆ

พนักงานบางคนที่ถูกไล่ออกเป็นคนเก่าคนแก่ที่อยู่กับบริษัทมาเกิน 10 ปี ในขณะที่บางคนยังอยู่ระหว่างการลาพักร้อน หรือลาคลอดด้วยซ้ำตอนที่ได้รับอีเมล์นี้

กูเกิลไม่ใช่บิ๊กเทครายเดียวที่เอาคนออกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่เพราะกูเกิลวางตำแหน่งตนเองว่ามีวัฒนธรรมองค์กรแบบ employee-centric ที่ให้ความสำคัญกับพนักงานเหนือสิ่งอื่นใด

ทำให้การไล่ออกทาง “อีเมล์” กลายเป็นความด่างพร้อยครั้งสำคัญต่อภาพลักษณ์องค์กรที่อุตส่าห์สั่งสมมาตลอด 20 ปี
จากที่เคยขึ้นแท่นบริษัทที่มีคนอยากทำงานด้วยมากที่สุด จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes วันนี้ พนักงานหลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าสโลแกน “Don’t be evil” หรือ “Don’t be corporate” ปรัชญาการบริหารของผู้ก่อตั้งที่ต้องการสร้างกูเกิลให้เป็นองค์กรที่แตกต่างจากบริษัทเอกชนแบบเดิม ๆ ยังมีความหมายต่อผู้บริหารรุ่นปัจจุบันอยู่หรือไม่

สมัยที่แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน 2 ผู้ก่อตั้งยังกุมบังเหียนในฐานะผู้บริหาร กูเกิลขึ้นชื่อมากในฐานะบริษัทหัวก้าวหน้า ที่เปิดรับฟังความเห็นของพนักงาน โดยมองว่าความสุขของพนักงาน คือ บ่อเกิดแห่งความคิดสร้างสรรค์และความสำเร็จระยะยาว

ในจดหมายฉบับแรกที่ทั้งสองเขียนถึงผู้ถือหุ้นในปี 2004 มีประโยคอมตะหลายประโยคที่บริษัทมักใช้ในการโปรโมตองค์กร เช่น กูเกิลไม่ใช่ conventional company และบริษัทให้ความสำคัญกับพนักงาน หรือชาว “Googlers” มากที่สุด เพราะพนักงานคือส่วนสำคัญของพันธกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

ยุคนั้นถือเป็นยุคทองของกูเกิลก็ว่าได้ ใคร ๆ ก็อิจฉา Googlers เพราะได้สวัสดิการและการดูแลระดับพรีเมี่ยม ทั้งเงินเดือน วันลา อิสระในการทำโปรเจ็กต์ที่อยากทำ รวมไปถึงการออกแบบออฟฟิศที่เปิดโล่ง สวยงาม มีมุมกาแฟให้นั่งคุยงานชิว ๆ มีอาหารฟรีไม่อั้น แถมมีบริการนวดผ่อนคลาย ซักรีด ไปจนถึงบริการดูแล childcare ให้พนักงานเอาลูกมาฝากไว้ระหว่างวัน

ที่สำคัญ คือ พนักงานสามารถเข้าถึงผู้บริหารเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดได้ง่าย ๆ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมากมาย

แต่สิ่งเหล่านั้นอาจกำลังกลายเป็นเพียงอดีต

จากบทสัมภาษณ์ของ CNN พนักงานหลายคนมองว่าวัฒนธรรมองค์กรที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของชาวกูเกิล ถูกกัดกร่อนจนแทบไม่เหลือซากมานานหลายปีแล้ว

จุดหักเหครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2015 เมื่อบริษัทมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ มีการตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ Alphabet ขึ้นมา และให้ ซันดาร์ พิชัย เข้ามาเป็น CEO คนใหม่ของกูเกิล โดยมี รูท ปอราท จากมอร์แกน สแตนเลย์ เป็น CFO

และในช่วงนี้เองที่สโลแกน “Don’t be evil” ถูกแทนที่ด้วย “Do the right thing”

ถัดมาในปี 2017-2018 ชื่อเสียงของกูเกิลเสียหายอย่างหนัก จากเหตุการณ์พนักงานประท้วงครั้งใหญ่ หลังจากเกิดความไม่พอใจที่ผู้บริหารไม่ให้ความสนใจต่อปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กร รวมถึงข้อกังวลของพนักงานต่อการทำสัญญากับกองทัพและการทำธุรกิจในจีน นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าบริษัทมีการ “เอาคืน” อดีตพนักงานที่ออกมาแฉหรือวิจารณ์การทำงานของบริษัทด้วย

สกอต เคสเลอร์ นักวิจัยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจาก Third Bridge มองว่า กูเกิลถูกกดดันทั้งจากปัจจัยทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการแข่งขันและปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว โดยกำไรของบริษัทลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

กูเกิลก็ไม่ต่างจากบิ๊กเทครายอื่นที่โหมจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด โดยจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งแสนในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

วันนี้ เมื่อเศรษฐกิจไม่เป็นใจ บริษัทก็ต้องลดต้นทุนด้วยการเอาคนออก แต่การเลย์ออฟฟ้าผ่าผ่านอีเมล์ก็เป็นอะไรที่ยากจะทำใจได้

พนักงานที่ให้สัมภาษณ์กับ CNN บอกว่า คนที่ยังอยู่ก็อยู่ด้วยความโกรธและกลัวในเวลาเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่กลัวที่สุด คือไม่รู้ว่าจะถึงคิวตัวเองเมื่อไหร่ เพราะต่อให้ทำงานดีมีผลงานแค่ไหน ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะไม่กลายเป็นเหยื่อรายต่อไป

และแม้การปรับโครงสร้างจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเติบโตอย่างมาก แต่ก็ต้องแลกกับวัฒนธรรมองค์กรที่เคยเป็นทั้งเสาหลักในการกำหนดทิศทางการทำงานและเป็นสิ่งที่ชาวกูเกิลภาคภูมิใจที่กำลังถูกทำลายลงช้า ๆ ด้วยมือตัวเองไปด้วยเช่นกัน